สพฐ.ผุดเกณฑ์คัด ‘รอง ผอ.ร.ร.’ คิวต่อไป เผยยอดสมัครบิ๊ก ‘สพป.-สพม.’ 346 ราย

เมื่อวันที่ 6 มกราคม นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดรับสมัครสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) จำนวน 40 อัตรา แบ่งเป็น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) 31 อัตรา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) 9 อัตรา เมื่อวันที่ 24-30 ธันวาคม 2561 นั้น มีผู้สมัครวม 346 ราย แบ่งเป็น สพป. 294 ราย และสพม. 52 ราย ขณะนี้ สพฐ.ได้แจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ย้ำมาตรการป้องกันการทุจริต ห้ามติว ห้ามเผยแพร่เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการสอบ กำชับให้ข้าราชการวางตัวเป็นกลาง และตั้งหน่วยงานตรวจสอบข้อมูลทั้งในพื้นที่ และทางโซเชียลมีเดีย เพื่อป้องกันปัญหาการทุจริต

นายบุญรักษ์กล่าวต่อว่า เชื่อว่าการสอบผู้อำนวยการ สพท.ครั้งนี้ จะไม่ค่อยมีการทุจริต เพราะกระบวนการยากที่ใครจะช่วยเหลือใคร โดยการสอบภาค ก ประเมินประวัติ ประสบการณ์ทางการทำงานและประเมินผลงาน จะประกาศผล ไว้ผล 2 เท่าของตำแหน่งที่รับจริง หรือประมาณ 80 ราย ภาค ข ความเหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่โดยการประเมินศักยภาพ วันที่ 12-26 มกราคม แล้วเก็บคะแนนไว้เป็นความลับก่อนสอบข้อเขียน ดังนั้น ข้อกังวลที่ว่าจะเพิ่ม หรือลดคะแนนประวัติผลงานในภายหลังเพื่อช่วยเหลือกันนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นใคร การประเมินภาค ค วันที่ 6-10 กุมภาพันธ์ สัมภาษณ์ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ ประกาศผลผู้ได้รับการคัดเลือกภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ทั้งนี้ เมื่อสอบผู้อำนวยการ สพท.เรียบร้อยแล้ว จะดำเนินการสอบรองผู้อำนวยการ สพท.ซึ่งว่างอยู่กว่า 100 ตำแหน่ง และบาง สพท.ไม่มีรองผู้อำนวยการ สพท.แล้ว จากนั้นจะสอบคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษาตามลำดับ และรองผู้อำนวยการสถานศึกษา ตามลำดับ

“ความคืบหน้าการจัดทำหลักเกณฑ์การคัดเลือกรองผู้อำนวยการสถานศึกษานั้น แนวโน้มเบื้องต้น จะลดกระบวนการสอบข้อเขียนลง แต่ยังมีการสอบจากส่วนกลาง ซึ่งถ้าสอบผ่านขั้นต่ำ จะได้รับใบผ่าน หรือตั๋ว ไปยื่นสมัครเข้ารับการคัดเลือกจากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ที่ประกาศรับสมัครด้วยตัวเอง จากนั้นเป็นหน้าที่ของแต่ละ กศจ.จะพิจารณาตามความเหมาะสม ซึ่งแต่ละแห่งจะกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกไม่เหมือนกัน เพราะต้องคัดเลือกคนให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ โดยคะแนนสอบจากส่วนกลางเก็บไว้ได้ 2 ปี แต่ตรงนี้ยังไม่ใช่ข้อสรุป ต้องพิจารณาแนวทางอื่นๆ ด้วย โดยจะเร่งจัดทำหลักเกณฑ์ให้เสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ เพื่อเริ่มกระบวนการสอบให้เร็วที่สุด เพราะขณะนี้มีตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาว่างอยู่ประมาณ 2 พันอัตรา และมีรองผู้อำนวยการโรงเรียนซึ่งขยับขึ้นไปเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนอีกหลายพันอัตรา จึงต้องเร่งจัดสอบเพื่อไม่ให้กระทบกับการบริหารงานของโรงเรียน” นายบุญรักษ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image