ปอดติดเชื้อคร่าชีวิตศิลปินแห่งชาติวรรณศิลป์ ‘โกวิท เอนกชัย’ รดน้ำศพ 14 ม.ค.งดพวงหรีด

เมื่อวันที่ 13 มกราคม นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า วงการวรรณกรรมไทยสูญเสียนักเขียนผู้แตกฉานทางพุทธศาสนาคนสำคัญ คือ นายโกวิท เอนกชัย นามปากกา “เขมานันทะ”, “รุ่งอรุณ ณ สนธยา”, “ฉับโผง”, “กาลวิงก์” และ “มุนีนันทะ” ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2550 จากไปด้วยอาการปอดติดเชื้อที่โรงพยาบาลเชียงราย เมื่อวันที่ 13 มกราคม เวลา 05.00 น.สิริอายุรวม 81 ปี มีพิธีรดน้ำศพในวันที่ 14 มกราคม เวลา 16.30 น. ณ ศาลาจารุมิลินท วัดชลประทานรังสฤษดิ์ กำหนดสวดพระอภิธรรม เวลา 19.00 น.ถึงวันที่ 19 มกราคม และฌาปนกิจศพวันที่ 20 มกราคม เวลา 16.30 น. ณ เมรุ วัดชลประทานรังสฤษดิ์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี (งดรับพวงรีด)

“ในส่วนของการช่วยเหลือด้านต่างๆ สวธ.จะมอบเงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิตเพื่อร่วมการบำเพ็ญกุศลศพจำนวน 20,000 บาท และเงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเพื่อเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 150,000 บาท” นายชาย กล่าว

สำหรับประวัติ นายโกวิท เอนกชัย หรือนามปากกา “เขมานันทะ”, “รุ่งอรุณ ณ สนธยา”, “ฉับโผง”, “กาลวิงก์” และ “มุนีนันทะ” เกิดเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2481 ที่ อ.สทิงพระ จ.สงขลา จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อปี 2508 ต่อมาได้อุปสมบท และฝึกปฏิบัติธรรมกับท่านพุทธทาสภิษขุที่สวนโมกขพลาราม และภายหลังได้ฝึกปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ ขณะอยู่ในสมณเพศได้สร้างสรรค์ และสืบสานงานพุทธศิลป์จำนวนมากไว้ที่โรงมหรสพทางวิญญาณ สวนโมกขพลาราม ทั้งในรูปแบบบทกวี และจิตรกรรมโบราณของไทย นับเป็นต้นแบบอันทรงค่าและมีบทบาทในการให้การศึกษาแก่ผู้ไปเยือนทั้งในด้านพุทธปัญญา และพุทธศิลป์มาถึงปัจจุบัน

นายโกวิท มีผลงานทั้งร้อยแก้ว และร้องกรอง ผลงานร้อยแก้วมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งบทความ ความเรียงธรรมบรรยาย บทวิจารย์วรรณคดี และนวนิยาย ผลงานดังกล่าวมีเนื้อหาลึกซึ้ง ใช้ถ้อยความ และท่วงทำนองการเขียนอย่างมีวรรณศิลป์ แสดงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นตัวของตัวเอง และมีเจตนามุ่งประสานความคิดความสัมพันธ์ด้วยมิตรภาพกับทุกศาสนาในโลก ผลงานของนายโกวิท เอนกชัย ทั้ง 60 เรื่อง นับเป็นการผสมผสานพุทธปัญญากับศิลปวัฒนธรรมไทยอย่างกลมกลืน และงดงาม มีมุมมองแหลมคมในการวิเคราะห์ วิจารณ์ สามารถอธิบายปรากฏการณ์ และความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ทั้งสังคมไทย และสังคมโลกได้อย่างชัดเจน จึงสามารถสืบสานธรรมะให้แก่คนรุ่นใหม่ และผู้สนใจใฝ่ธรรมได้อย่างกว้างขวาง จนเกิดการจัดตั้งพุทธสถาน และอาศรมขึ้นหลายแห่ง ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ กล่าวได้ว่าจุดเด่นของผลงานของนายโกวิทอยู่ที่ความสามารถในการสืบสาน และหลอมรวมศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาไทยได้อย่างมีวรรณศิลป์ โดยมุ่งหวังให้มนุษยชาติอยู่ร่วมกันในสังคมโลกด้วยสันติ และไมตรี

Advertisement

นายโกวิทจึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์ บทความ นวนิยาย) พ.ศ.2550

ขอบคุณภาพจาก http://www.dhammajak.net

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image