‘นพ.จรัส.’ ไม่ขัดหาก ‘ร่าง พ.ร.บ.กศน.’ ยกฐานะเป็น ‘นิติบุคคล’

เมื่อวันที่ 15 มกราคม นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เปิดเผยกรณีสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จัดทำร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต พ.ศ. … ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ตนมองว่าการที่ กศน. พยายามพิจารณาร่างกฎหมายของตน เปลี่ยนเป็นนิติบุคคลนั้น เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่มีอยู่ กศน.เป็นองค์กรที่ใหญ่ แต่ในปี พ.ศ.2542 ที่จัดตั้ง กศน.ขึ้นมา กลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) เท่านั้น แต่การดูแลงานนั้นกระจายทั่วทั้งประเทศ เพราะประชากรที่อยู่ในระบบการศึกษาตามอัธยาศัยมีมากถึง 40 กว่าล้านคน ในขณะที่การศึกษาในระบบมี 11 ล้านคน ดังนั้น เมื่อต้องมาดูแลคนกว่า 40 ล้านคน แต่ กศน.ยังเป็นเพียงสำนักงานหนึ่งที่อยู่ใน สป.ศธ.เท่านั้น จึงมีปัญหาการดำเนินงานมีข้อจำกัด จึงต้องปรับปรุงรูปแบบให้ดีขึ้น

“ส่วนจะกระทบกับการปรับโครงสร้าง ศธ.ที่ กอปศ. กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้หรือไม่ เป็นเรื่องของ รัฐบาลและ ศธ. ที่จะพิจารณาว่าเป็นการขัดหรือไม่ ส่วนตัวไม่รู้สึกว่าขัด เพราะ กศน.ได้ร่างกฎหมายและทำการเปลี่ยนแปลงเฉพาะส่วนเดียว ที่เป็นเรื่องของการให้ปฏิบัติ และบริหารจัดการโดยรัฐเท่านั้น แต่ กอปศ.จะมองภาพใหญ่ แทนที่จะมองภาพขององค์กร ภาพใหญ่ที่ กอปศ. มองนั้นคือ การศึกษาตลอดชีวิต เป็นการศึกษารวมทุกอย่างในทุกช่วงชีวิต ในทุกกลุ่มและในทุกเป้าหมาย เป้าหมายบางส่วนเป็นการศึกษาที่นำไปสู่การได้มาซึ่งคุณวุฒิ หรือการศึกษาบางส่วนนำสู่การดำรงชีวิต หรือการประกอบวิชาชีพ ดังนั้น การศึกษาตามอัธยาศัยนั้นใครอยากเรียนอะไรก็ได้ แต่การศึกษาตลอดชีวิตมีอะไรที่มากกว่านั้นมาก เพราะการศึกษาตลอดชีวิตจะต้องมี 3 เส้า คือ 1.นโยบายชาติ ที่ทีเรื่องข้อมูล การจัดการสนับสนุนส่งเสริม 2.การดูแลคุณภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค และ 3.ผู้ปฏิบัติงาน  ซึ่งร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เน้นไปที่ด้านการปฏิบัติและการให้บริการโดยรัฐเท่านั้น” นพ.จรัสกล่าว

นพ.จรัส กล่าวต่อว่า ตนได้พูดคุยในที่ประชุม กศน.หลายครั้งว่าการศึกษาตลอดชีวิตนั้นกว้างมาก ครอบคลุมทุกกลุ่มทุกเพศ ทุกวัย ปัญหาที่ตามมาคือ การให้บริการการศึกษาอัธยาศัยตามโดยรัฐอาจจะมีการตรวจสอบรับรองคุณภาพได้ แต่การให้บริการการศึกษาตามอัธยาศัยโดยเอกชน ยังไม่มีหน่วยงานไหนมากำกับดูแลคุณภาพ จุดนี้จะมั่นใจได้อย่างไรว่าเอกชนที่เข้ามาจัดการศึกษาไม่เปิดสอนหลักสูตรที่หวังกำไร หากเอกชนเข้ามาจัดการศึกษาโดยทำตามอัธยาศัย เมื่อเป็นอย่างนี้ ชาวบ้านอาจจะถูกหลอก รัฐจะดูแลคุ้มครองผู้บริโภคอย่างไร การให้ข้อมูลสาธารณะเป็นอย่างไร

“ส่วนการเปิดสอนในระดับปริญญาตรี จะเกิดปัญหาตามมาหรือไม่เพราะการทำงานจะซ้อนกับมหาวิทยาลัย ผมมองว่าไม่เป็นปัญหา เพราะ ถ้าไปถึงขั้นอุดมศึกษาและเป็นปริญญาด้วยแล้ว จะระบบการกำกับดูแลตรวจสอบอยู่แล้ว แต่อาจจะมีปัญหาที่จะระวังอยู่ 2 อย่างคือ 1.ปัญหาความรับผิดรับชอบ ที่ผู้ให้การศึกษาต้องให้ความรับผิดชอบ และ 2 การกำกับดูแล ที่ต้องมีทั้งความพร้อม กระบวนการ และการดูแลผู้ที่เรียนว่าได้รับความรู้หรือไม่ ” นพ.จรัส กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image