‘สกสค.’โบ้ยไม่รู้ ‘ทิพยประกันภัย’ ส่งหนังสือให้ครูต่อสัญญา พร้อมเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้สิน

‘สกสค.’ โบ้ยไม่รู้ ‘ทิพยประกันภัย’ ส่งหนังสือให้ครูต่อสัญญา พร้อมเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้สิน

เมื่อวันที่ 1 กุมพันธ์  นายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เปิดเผยถึงการแก้ปัญหาโครงการสวัสดิการเงินกู้การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเหลือเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา(ช.พ.ค.) ว่า ข้อมูลล่าสุด โครงการ 2-7 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 มีลูกหนี้ที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL จำนวน 6,592 คน ซึ่งถือว่าลดลงจากเดิมเกินกว่าครึ่งหนึ่ง เหตุผลการลดลง เพราะการมีโครงการปรับโครงสร้างหนี้หลายรอบ ตั้งแต่รอบแรกวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มอบหมายให้กระทรวงการคลัง ศธ. และธนาคารออมสิน รวมกันแก้ปัญหา จึงเกิดเป็นโครงการปรับโครงสร้างหนี้ โดยให้ครูกู้ได้ 700,000 บาท ลดดอกเบี้ยเหลือ 4% ปรากฏว่ามีครูเข้าร่วมโครงการเพียง 1,850 คน ซึ่งถือว่าไม่มาก เพราะส่วนหนึ่งมีหนี้มากกว่า 700,000 บาท จึงไม่สามารถเข้าโครงการได้

นายอรรถพล กล่าวต่อว่า หลังจากนั้น นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการศธ. ให้ยกเลิกการจ่ายเงินเข้ากองทุนสนับสนุนพิเศษตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. เพื่อนำไปลดดอกเบี้ยให้ครู พบว่า มีครูได้รับประโยชน์ถึง383,703 คน ไม่ได้รับประโยชน์ 52,273 คน  ซึ่งจากการตรวจสอบทราบว่า การที่มีครูไม่ได้รับประโยชน์ถึง 5 หมื่นกว่าคนนั้น เป็นเพราะมีการค้างชำระหนี้ไตรมาสอยู่ ซึ่งกรณีนี้หากสามารถแก้ไขหนี้ให้เป็นปัจจุบันได้ จะได้รับสิทธิลดดอกเบี้ยเช่นเดียวกัน โดยครูกลุ่มนี้จะต้องไปเจรจากับธนาคารออมสินเพื่อแก้ไขหนี้ก่อน นอกจากนี้ยังมีครูส่วนหนึ่ง อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้จึงยังไม่ได้รับสิทธิ ขณะที่บางส่วนก็ไม่มาปรับโครงสร้าง บ้างก็ติดต่อไม่ได้เลย และบางส่วนก็อยู่ระหว่างการฟ้องร้อง

“ทั้งนี้พบว่า ส่วนใหญ่ครูไม่ได้แจ้งความจำนงว่าที่ให้ลดดอกเบี้ยนั้น จะให้นำไปลดเงินผ่อนหรือไม่ ซึ่งเมื่อครูไม่ได้แจ้งทางธนาคารก็ยังคงหักเงินงวดเท่าเดิม แต่ถ้าได้ดูใบเสร็จจะเห็นว่าจำนวนเงินต้นที่ธนาคารหักนั้นเพิ่มขึ้น ได้ส่งผลให้ครูสามารถชำระหนี้หมดเร็วขึ้น อย่างไรก็ตามหากครูคิดว่าตนเองยังเป็นภาระผ่อนค่างวดสูงอยู่ ก็สามารถติดต่อไปที่ธนาคารออมสิน เพื่อให้นำดอกเบี้ยมาลดยอดเงินผ่อนแต่ละงวดก็ได้”นายอรรถพล กล่าว

นายอรรถพล กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีคนที่ตามตัวไม่เจอ มีไม่มากนัก ซึ่ง สกสค.ก็ได้มอบหมายให้ สกสค.จังหวัดติดตามอยู่ พร้อมตรวจสอบข้อมูลทายาทว่าใครคือผู้รับเงินสงเคราะห์รายศพกรณีครูเสียชีวิต พร้อมทั้งเปลี่ยนนโยบายการเก็บเงินสงเคราะห์รายศพ ช.พ.ค. และและ โครงการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเหลือเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาในกรณีที่คู่สมรสถึงแก่กรรม (ช.พ.ส.) ที่ผ่านมาหากมีการค้างชำระก็จะติดตามแต่ครู ซึ่งครูบางคนอาจมีเหตุผลความจำเป็นไม่สามารถมาชำระได้ จนบางคนก็ถูกจำหน่ายชื่อออก ขณะนี้ได้ให้ชะลอวิธีการนี้ พร้อมกับสำรวจว่าใครคือผู้ได้รับประโยชน์หากครูเสียชีวิตแล้วให้ไปตามกับบุคคลนั้น ซึ่งจะทำให้ผลการเก็บเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้น

Advertisement

“ขณะนี้มีครูสอบถามเข้ามามากว่า ได้รับหนังสือจากบริษัท ทิพยประกันภัย แจ้งให้ต่อสัญญาประกันสินเชื่อ ว่า สกสค.มีส่วนรู้เห็นเป็นใจด้วยหรือไม่ ขอยืนยันว่าไม่รู้ไม่เห็นกับหนังสือดังกล่าว และขณะนี้ก็กำลังอยู่ระหว่างประชุมร่วมกับธนาคารออมสิน กรณีการประกันสินเชื่อโครงการ 6 และ 7 ซึ่งยังไม่ได้ข้อยุติ โดยจะมีการหารืออีกครั้งหลังวันที่ 12 กุมภาพันธ์นี้ อย่างไรก็ตามขอย้ำว่าเรื่องการทำประกันสินเชื่อเป็นเรื่องของความสมัครใจที่ครูต้องตัดสินใจเองไม่มีการบังคับใด ๆ ทั้งสิ้น”นายอรรถพล กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image