‘สอศ.’ เปิดเวทีแข่งทักษะวิชาชีพ-วิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 28 2-6 ก.พ.นี้

‘สอศ.’ เปิดเวทีแข่งทักษะวิชาชีพ-วิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 28

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดแข่งขันทักษะวิชาชีพ และทักษะวิชาพื้นฐาน ระดับชาติ ครั้งที่ 28 ประจำปีการศึกษา 2561 “เครือข่าย อวท.กว้างไกล นำอาชีวะไทยสู่สากล” ระหว่างวันที่ 2 – 6 กุมภาพันธ์ 2562 ที่โรงแรมนิภาการ์เดน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยการจัดงาน แข่งขันทักษะวิชาชีพระดับชาติ เป็นกิจกรรมเวทีใหญ่ของนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา สมาชิกองค์การนักวิชาชีพในอนาคตแห่งประเทศไทย (อวท.) เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ด้านวิชาการ และทักษะวิชาชีพ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของสมาชิกทั่วประเทศ รวมถึงโชว์ผลงานซึ่งเกิดจากการเรียนการสอน และนิทรรศการด้านวิชาการต่อสาธารณชน อีกทั้งร่วมเชิดชูเกียรติสมาชิกหรือหน่วยองค์การที่ประสบความสำเร็จ ในการดำเนินกิจกรรม ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีและเกิดการกระตุ้นให้ผู้เรียนหรือสมาชิกได้พัฒนาทักษะ และความสามารถของตนเอง

นายสุเทพ กล่าวต่อว่า ภายในงานแบ่งเป็น 2 กิจกรรมหลัก คือ 1.การแข่งขันทักษะวิชาชีพ ในสาขาวิชาต่างๆ เช่น ช่างยนต์ ช่างกล ช่างเชื่อม การออกแบบคอมพิวเตอร์กราฟฟิก การเขียนแบบสถาปัตยกรรม การทำอาหาร เครื่องแต่งกาย เป็นต้น และ 2.การประชุมวิชาการ ของอวท. ซึ่งสมาชิกจะได้แสดงถึงความจงรักภักดีพระมหากษัตริย์ไทย ได้เรียนรู้เป็นผู้นำ และผู้ตามที่ีดี มีความรับผิดชอบ และความสามัคคี และจิตอาสา โดยมีสถานศึกษาอาชีวศึกษารัฐและเอกชนเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ รวมทั้งสิ้น 385 แห่ง จำนวนนักเรียนนักศึกษาที่ร่วมงาน 7,000 คน

“นอกจากการแข่งขันทักษะวิชาชีพและการประชุมสมาชิกอวท. แล้วสอศ.ได้จัดให้มีการประเมินองค์การนักวิชาชีพในอนาคตแห่งประเทศไทย และสมาชิกดีเด่นโครงการภายใต้การนิเทศ โดยมุ่งเน้นคุณธรรมนำวิชาชีพ สนับสนุนให้สมาชิกเป็นคนดี คนเก่ง และมีความสุข ตลอดจนสร้างสรรค์ความสามารถในหมู่คณะ จนสามารถพัฒนากิจกรรมองค์การให้มีความเจริญก้าวหน้า เพื่อพัฒนามาตรฐานองค์การฯ ให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน สอดคล้องกับคุณภาพมาตรฐานเพื่อความเป็นสากล โดยแบ่งประเภทของการประเมินออกเป็น 2 ส่วน คือ ประเมินองค์การมาตรฐานดีเด่น และประเมินสมาชิกดีเด่น ในประเภทสถานศึกษาขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ และการบริการศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน หรือFix-it Center และกิจกรรมฝึกอบรมวิชาชีพระยะสั้น 108 อาชีพ เพื่อให้นักศึกษา และสมาชิกองค์การนักวิชาชีพฯ ในแต่ละสถานศึกษาได้มีประสบการณ์ในการทำกิจกรรม” นายสุเทพ กล่าว

สำหรับการแข่งขันทักษะวิชาชีพและวิชาพื้นฐานประกอบไปด้วย ประเภทอุตสาหกรรม ได้แก่ สาขาวิชาเครื่องกล สาขาวิชาก่อสร้าง วิชาช่างสำรวจสถาปัตยกรรม เครื่องเรือน สาขาวิชาช่างไฟฟ้ากำลัง สาขาวิชาช่างอิเล็กทรอนิกส์ สาขาวิชาช่างเชื่อมโลหะ สาขาวิชาเทคนิคโลหะ สาขาวิชาช่างกลโรงงาน สาขาวิชาช่างซ่อมบำรุง และสาขาวิชาเทคนิคการผลิต สาขาวิชาเทคนิคอุตสาหกรรม/สาขาวิชาเขียนแบบเครื่องกล วิชาเทคนิคพื้นฐาน ได้แก่ ทักษะงานฝึกฝีมือ ประเภทวิชาพาณิชยกรรม/ประเภทวิชาบริหารธุรกิจ ได้แก่ สาขาวิชาการบัญชี สาขาวิชาเลขานุการ สาขาวิชาการตลาด สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ สาขาวิชาธุรกิจค้าปลีก และสาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์ ประเภทวิชาคหกรรม ได้แก่ สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ และสาขาวิชาผ้าและเครื่องแต่งกาย เทคโนโลยีผ้า แฟชั่นและสิ่งทอ สาขาวิชาเทคโนโลยีการออกแบบเครื่องแต่งกาย ประเภทวิชาศิลปกรรม ได้แก่ สาขาวิชาคอมพิวเตอร์กราฟิก สาขาวิชาวิจิตรศิลป์ และสาขาวิชาการออกแบบ ประเภทวิชาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ได้แก่ สาขาวิชาการโรงแรม/สาขาวิชาการโรงแรมและบริการ และสาขาวิชาการท่องเที่ยว/สาขาวิชาการจัดการธุรกิจท่องเที่ยว ประเภทวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้แก่ สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ หลักสูตรระยะสั้น และการแข่งขันทักษะพื้นฐาน เป็นต้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image