‘นักวิชาการ’ ชี้เกณฑ์รับน.ร. ปี’62 ‘ม.3 ขึ้นม.4 อัตโนมัติ’ กระทบนโยบายผลิตเด็กสายอาชีพ

‘นักวิชาการ’ ชี้เกณฑ์รับ น.ร.ปี’62 ‘ม.3 ขึ้นม.4 อัตโนมัติ’ กระทบนโยบายผลิตเด็กสายอาชีพ

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกรณีที่ประชุม กพฐ. มีมติแก้ไขประกาศสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เรื่องนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัด สพฐ.ปีการศึกษา 2562 ให้สอดคล้องกับมาตรการป้องกันการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทน เพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา สังกัด สพฐ.ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอ โดยคณะกรรมการ กพฐ.มีมติให้ยกเลิกเกณฑ์การรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษ 7 ประเภท เหลือ 4 ประเภท และกำหนดให้โรงเรียนต้องรับนักเรียนที่จบชั้น ม.3 จากโรงเรียนเดิมเข้าเรียนต่อชั้น ม.4 ทุกคนนั้น ว่า เกณฑ์การรับนักเรียน ที่เปลี่ยนให้รับชั้น ม.3 จากโรงเรียนเดิมเข้าเรียนต่อชั้น ม.4 ทุกคน มองในแง่ดีกระบวนการแป๊ะเจี๊ยะลดลง นักเรียนไม่ต้องสุ่มเสี่ยงหาที่เรียนใหม่ สามารถเรียนในโรงเรียนที่ตัวเองคุ้นเคย แต่จะมีข้อเสียคือ นักเรียนตั้งใจเรียนลดลง เพราะปัจจุบันพบว่านักเรียนในระดับชั้น ม.1-3 ตั้งใจเรียนน้อยลง นักเรียนลาออกกลางคันมากขึ้น ไม่รู้จักศักยภาพตนเอง ไม่รู้ความต้องการของตนเองว่าต้องการเรียนอะไร ถนัดด้านไหน

“ส่วนที่กระทบอีกทางหนึ่งคือ หลักเกณฑ์นี้กระทบกับนโยบายของประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เพราะตอนนี้ค่านิยมเปลี่ยนแปลงไป รัฐบาลมีนโยบายต้องการให้เด็กเข้าเรียนอาชีวะเพิ่มมากขึ้น เรียนมัธยมน้อยลง ถือเป็นการออกหลักเกณฑ์ที่ไม่ระมัดระวัง ผมคิดว่าเรื่องนี้ควรจะมีการปรึกษาหารือในทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ว่าหากจะออกมาตรการนี้ จะมีผลกระทบต่อนโยบายของแท่งอื่นใน ศธ. หรือกระทบต่อนโยบายนของประเทศหรือไม่” นายสมพงษ์ กล่าว

นายสมพงษ์ ต่อว่า ส่วนการยกเลิกเกณฑ์การรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษ 7 ประเภท เหลือ 4 ประเภท จะช่วยแก้ปัญหาแป๊ะเจี๊ยะหรือไม่ ตนมองว่าแก้ได้ชั่วคราว ปัญหานี้อาจจะหายไป 1-2 ปี แต่จะกลับมารุนแรงมากขึ้น เพราะปัญหายังคงมีอยู่ และไม่ได้รับการแก้ไขคือ 1. เรื่องความเหลื่อมล้ำ ยังไม่ได้แก้ไข และถูกหยิบยกขึ้นมาหารือกันอย่างจริงจังว่าควรจะต้องแก้ปัญหาอย่างไร คุณภาพโรงเรียนในเมืองและโรงเรียนชนบทที่แตกต่างกัน 2.ระบบอุปถัมภ์ เมื่อมีนักการเมืองเข้ามารัฐมนตรีว่าการศธ. การฝากเด็ก เด็กในโควตาจะกลับมาแน่นอน และ3.ค่านิยมของผู้ปกครองที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงไป ที่โรงเรียนเด่นดังพัฒนาก้าวหน้า แต่ในขณะที่โรงเรียนกว่า 20,000 แห่งมีคุณภาพแย่ลง งบประมาณ อุปกรณ์การเรียน ครูผู้สอน มีความแตกต่างกัน ผู้ปกครองคงไม่ต้องการที่จะส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนขนาดกลางหรือเล็กแน่นอน มุ่งไปหาแต่โรงเรียนขนาดใหญ่แทน

“เรื่องนี้เป็นการออกมาตรการปีต่อปีเท่านั้น สงบครั้งคราวและจะกลับมาเป็นปัญหาอีก ทางแก้ที่ ป.ป.ช.เสนอ ไม่ได้เสนอให้แค่ สพฐ.เท่านั้น ยังเสนอให้รัฐบาล และศธ.อีกด้วยว่าครวรับผิดชอบอะไร ปรับแก้ไขอะไร แต่ขณะนี้กลับพบว่า สพฐ.เป็นฝ่ายเดียวที่ปฏิบัติตามข้อเสนอของ ป.ป.ช.เท่านั้น ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตามด้วยถึงจะแก้ไขปัญหาได้ ผมมองว่าควรยกเลิกเกณฑ์การรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษ 7 ประเภทไปเลย หากโรงเรียนไหนต้องรับเกณฑ์พิเศษก็ให้โรงเรียนออกเกณฑ์การบริหารเอง ที่อธิบายและสามารถตรวจสอบได้ ไม่ควรเอามาเป็นเกณฑ์ที่เป็นแนวปฏิบัติให้โรงเรียนทั่วประเทศ” นายสมพงษ์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image