วิพากษ์หนัก ตั้งแท่นขุดน้ำมันห่างมหาสถูปเมืองศรีเทพแค่ 100 ม. ห่วงกระทบส่งมรดกโลก เอกชนยันลุยต่อ

วิพากษ์หนัก ตั้งแท่นขุดน้ำมันห่างมหาสถูปเมืองศรีเทพแค่ 100 ม. หวั่นกระทบส่งมรดกโลก เอกชนยันลุยต่อ อ้างกรมศิลป์ขั้นตอนไม่ชัด

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 เป็นวันที่ 2 เพื่อประกอบการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) กรณีบริษัท อีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส(ประเทศไทย) จำกัด มีแผนการผลิตปิโตรเลียม 2 แห่ง โดย 1 ใน 2 แห่ง จะมีการตั้งฐานหลุมผลิตใกล้กับมหาสถูปเขาคลังนอก โบราณสถานเก่าแก่กว่า 1,300 ปี บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ซึ่งกรมศิลปากรเตรียมดำเนินการส่งขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรมต่อองค์การยูเนสโก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า งานดังกล่าวมีตัวแทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม และประชาชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก เนื้อหาหลักในวันนี้เป็นการชี้แจงประเด็นผลกระทบด้านทัศนียภาพจากการตั้งฐานหลุมผลิต และการตั้งคำถามถึงข้อกำหนดประเด็นการขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพเป็นมรดกโลกฯ

Advertisement

นางสาวธนัชญา เทียนดี นักโบราณคดีปฏิบัติการ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการตั้งฐานหลุมผลิตดังกล่าวคือหลุม STN-2 เนื่องจากจุดที่ตั้งห่างจากมหาสถูปเขาคลังนอกรวมถึงโบราณสถานที่เป็นเจดีย์บริวารของมหาสถูปดังกล่าวเพียง 90-100 เมตรเท่านั้น การขุดเจาะอาจส่งผลกระทบต่อโบราณสถานในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแรงสั่นสะเทือนที่อาจกระทบโครงสร้างสถาปัตยกรรม รวมถึงประเด็นเรื่องภูมิทัศน์ซึ่งมีสิ่งแปลกปลอมตั้งอยู่บริเวณโบราณสถาน สำหรับการตั้งฐานฯ ทางบริษัทเอกชนมีการเข้าสอบถามกับทางอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2561 ว่าจะมีปัญหาหรือไม่ และหากมีผลกระทบ ตัวฐานผลิตสามารถขยับออกไปได้เท่าไหร่ ทางอุทยานฯ จึงชี้แจงเบื้องต้นว่าตัวฐานฯ ใกล้กับโบราณมาก

“ได้คัดค้านไปในที่ประชุมแล้ว ว่าจะมีผลกระทบต่อโบราณสถาน แต่ทางบริษัทชี้แจงว่าแท่นเจาะรบกวนพื้นที่ไม่มาก  แต่ส่วนตัวมองว่า ยังต้องมีการใช้รถบดอัดขนาดใหญ่ อีกอย่างหนึ่งคือเรื่องภูมิทัศน์เพราะจากเขาคลังนอก จะมองเห็นแท่นเจาะ ซึ่งมีขนาดใหญ่มากเช่นกัน” นางสาวธนัชญากล่าว

Advertisement

นางสาวจันทรา เกิดมี ตัวแทนบริษัท วิชั่น อี คอนซัลแทนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ประเด็นเรื่องผลกระทบทางด้านภูมิทัศน์ ขอแจ้งให้ทราบว่าทางบริษัทให้ความสำคัญ และมีการจัดเตรียมแผนงานในการรับมืออยู่แล้ว โดยผู้ที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวโบราณสถานเขาคลังนอก จะไม่ต้องผ่านในจุดซึ่งเป็นที่ตั้งฐานหลุมผลิต โดยจะพิจารณาในแนวระดับสายตาว่าจากเขาคลังนอก หลุมผลิตอยู่ตรงไหน จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่าลักษณะพื้นที่เป็นสโลป กล่าวคือ เขาคลังนอกอยู่สูงกว่า ส่วนหลุมผลิตอยู่ต่ำกว่า โดยมีพื้นที่ทางการเกษตรคั่นกลาง รวมถึงมีแนวต้นไม้เป็นแนวกั้นตามธรรมชาติ นอกจากนี้จะมีการพิจารณาว่าหากนำอุปกรณ์การผลิตมาติดตั้ง จะทำให้ทัศนียภาพไม่สวยงามหรือไม่

“ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล ว่าความสูงของอุปกรณ์เท่าไหร่ ตัวมีความสูงที่สุดคือคันโยก ซึ่งก็มีหลายระดับ ตัวที่สูงที่สุดคือ 10.5 เมตร จะพิจารณาว่าหากนักท่องเที่ยวเดินทางมา โอกาสมองเห็นมีไหม บริษัทจะทำการประเมินต่อไป ถ้านักท่องเที่ยวมองเห็น จะมีมาตรการการแก้ปัญหาที่สามารถทำได้ เช่น การปลูกต้นไม้บังหรือปรับเปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ที่มีความสูงน้อยแทน” นางสาวจันทรากล่าว

นายนาวิน พรรณธรรม ตัวแทนบริษัทอีโค่โอเรียนรีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สำหรับกรณีที่กรมศิลปากรเตรียมส่งอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรม เบื้องต้นมองว่าขั้นตอนการขึ้นมรดกโลกยังไม่ชัดเจนว่าการตั้งฐานการผลิตนี้มีผลกระทบกับการขึ้นมรดกโลกอย่างไร บริษัทไม่มีข้อมูลรวมถึงข้อกำหนดในส่วนนี้ ว่าควรต้องตั้งฐานฯห่างออกมาจากโบราณสถานกี่เมตร ดังนั้นบริษัทจะดำเนินการโครงการต่อไปจนกว่าจะได้หลักการที่ชัดเจน จึงจะมีการปรับปรุง แก้ไข

นายเจตน์กมล วงศ์ท้าว นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี ซึ่งรับผิดชอบแหล่งโบราณคดีครอบคลุมถึงจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า บริษัทดังกล่าวได้รับสัมปทานเรียบร้อยไปก่อนหน้านี้แล้ว ดังนั้นตนเข้าใจดีว่า ต้องเป็นไปตามขั้นตอน คือ จัดให้มีการประชุมรับฟังความเห็น และขั้นตอนต่อไปคือประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแล้วนำเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) สำหรับกรมศิลปากรมีหน้าที่ให้ความคิดเห็นในเชิงวิชาการว่าเหมาะสมหรือไม่อย่างไร ซึ่งตนมองว่าตัวฐานฯ อยู่ใกล้โบราณสถานมากเกินไป แต่เบื้องต้นยังไม่กังวลใจ เพราะยังไม่มีการติดตั้งอุปกรณ์ใดๆ เป็นเพียงการกำหนดจุดตั้งฐานฯ สำหรับผลกระทบต่อการนำเสนอขึ้นทะเบียนมรดกโลก ขณะนี้ยังไม่กระทบ แต่ถ้าแผนงานผ่านการพิจารณา เชื่อว่าส่งผลกระทบแน่นอนในแง่ของความน่าเชื่อถือ โดยอาจถูกคณะกรรมการพิจารณามรดกโลกฯ มองว่าไม่มีศักยภาพในการดูแลและบริหารจัดการแหล่งโบราณคดีที่ขอขึ้นทะเบียน ทั้งที่เป็นแหล่งสำคัญมาก สะท้อนการเข้ามาของวัฒนธรรมอินเดียในยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์ของไทย

“ตอนนี้บริษัทยังไม่ได้มีการสร้างสิ่งก่อสร้างหรือติดตั้งอุปกรณ์ แต่หากโครงการผ่าน เชื่อว่ามีผลระทบกับการพิจารณามรดกโลกฯ เพราะเกี่ยวข้องกับการจัดการ เราอาจถูกมองว่าไม่มีศักยภาพในการดูแลบริหารจัดการ จะเสียความน่าเชื่อถือไป  โบราณสถานเขาคลังนอก มีความสำคัญมากเป็นโบราณสถานยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์ที่วัฒนธรรมอินเดียเข้าสู่ประเทศไทย มีความยิ่งใหญ่มโหฬาร ชี้ให้เห็นความสำคัญและความเจริญรุ่งเรืองของพื้นที่บริเวณเมืองโบราณศรีเทพ ไม่เช่นนั้นจะไม่มีการสร้างสถาปัตยกรรมใหญ่ขนาดนี้

กรมศิลปกรขุดแต่งเขาคลังนอกตั้งแต่ปี 2551 แต่อาคารบริวารซึ่งอยู่ใกล้แหล่งขุดเจาะปิโตรเลียมยังอยู่ระหว่างการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพราะเพิ่งพบราว 1-2 ปีมานี้ และเชื่อว่าในพื้นที่ใกล้เคียงอาจพบโบราณสถานเพิ่มอีกมากกว่า 2-3 หลัง เพราะพื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะของการขยายตัวของชุมชน ซึ่งการกำหนดขอบเขตมรดกโลก ก็ครอบคลุมในวงกว้าง รวมอาคารเจดีย์บบริวารเหล่านั้นด้วย และอาจขยายไปถึงลำน้ำป่าสัก ไม่ใช่แค่ตัวเมืองศรีเทพ เพราะเป็นกลุ่มวัฒนธรรมเดียวกัน”  นายเจตน์กมลกล่าว

โบราณสถานเขาคลังนอก (ภาพจากกรมศิลปากร)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในโซเชียลเน็ตเวิร์ก มีผู้แสดงความเห็นคัดค้านต่อการตั้งฐานผลิตเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวัน โดยมีการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับสัมปทานปิโตรเลียมซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ดำเนินการสำรวจแลพัฒนาปิโตรเลียมในพื้นที่อำเภอวิเชียรบุรี และศรีเทพ อย่างต่อเนื่องและจากความสำเร็จทำให้ มีแผนที่จะดำเนินการผลิตปิโตรเลียมในแปลงสำรวจบนบกเพิ่มเติม โดยข้อมูลจากการประชุมประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ในวันแรกเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาที่ศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์ ผู้แทนกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติระบุว่า ขณะนี้กำลังทำหนังสือสอบถามไปยังกรมศิลปากรเรื่องเกณฑ์การพิจารณาขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพเป็นมรดกโลก นอกจากนี้ หอการค้าจังหวัดเพชรบูรณ์ยังแสดงความห่วงใยต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นโดยเฉพาะประเด็นมรดกโลก และคุณภาพน้ำใต้ดิน จึงอยากขอความมั่นใจว่าน้ำมันดิบจะไม่รั่วไหล

ทั้งนี้ การรับฟังความเห็นครั้งที่  1 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 27 กุมภาพันธ์ 2562 โดยในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562  จะรับฟังความคิดเห็นที่ศาลากลางบ้าน หมู่ที่ 11 บ้านสระปรือ ตำบลศรีเทพ และเวลา 13.30  – 17.30 น. โดยมีการเชิญชวนประชาชนที่สนใจและผู้มีส่วนได้เสียสามารถร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อประกอบการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image