‘38 มรภ.’ ร่วมลงนามสร้าง ‘ครูวิทย์-ปฐมวัย’ พันธุ์ใหม่ตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0

‘38 มรภ.’ ร่วมลงนาม สร้าง ‘ครูวิทย์-ปฐมวัย’ พันธุ์ใหม่ตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธี ประธานพิธีลงนามความร่วมมือยกระดับการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ ระหว่าง สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กับ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ทั้ง 38 แห่ง โดยมี นายชูกิจ ลิมปิจำนง ผู้อำนวยการ สสวท. นายเรืองเดช วงศ์หล้า อธิการบดี มรภ.อุตรดิตถ์ ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) นายรัฐกรณ์ คิดการ ประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฎ (สครภ.) เข้าร่วม ว่า การร่วมมือกันครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันพัฒนาสมรรถะของอาจารย์ผู้สอนของ มรภ. และนักศึกษาในหลักสูตรครุศาสตร์บัณฑิตใน มรภ.ทั้ง 38 แห่ง ตามแผนการดำเนินงานที่ตกลงร่วมกัน ด้านหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน และการวัดและการประเมินผลการเรียนรู้ สำหรับวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยเฉพาะรายวิชาสะเต็มศึกษา และวิทยาการคำนวณ และรายวิชาอื่นที่เกี่ยวข้อง

นพ.อุดม กล่าวต่อว่า สสวท. และมรภ.ทั้ง 38 แห่ง ได้ร่วมมือผลักดันหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรสมรรถนะ เพื่อให้ครูและนักศึกษาครูที่จบไปมีความคิดที่มีเหตุมีผล มีความรู้ในเรื่องวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีไปพัฒนาเศรษฐกิจ และประเทศ  ซึ่งวิชาเหล่านี้จะติดตัวนักศึกษาออกไปเมื่อเป็นครูแล้ว สามารถพัฒนามหาวิทยาลัย ท้องถิ่น ถ่ายทอยให้กับนักเรียนรุ่นต่อไป ถือเป็นการยกระดับมหาวิทยาลัย สร้างคนที่มีคุณภาพ พัฒนาประเทศตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0 ได้

ต่อมาผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.อุดม ได้เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือเพื่อพัฒนาหลักสูตรครู การศึกษาปฐมวัย (4 ปี) และฝึกอบรมอาจารย์ เสริมศักยภาพอาจารย์และนักศึกษาครู ระหว่าง สครภ. กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่งกรุ๊ป) และภาคีวิชาการ Thailand EF Partnership

นพ.อุดม กล่าวว่า ข้อตกลงนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรของมหาวิทยาลัย มรภ. เพื่อฝึกครู สาขาการศึกษาปฐมวัย และสาขาที่เกี่ยวข้อง กับการศึกษาในองค์ความรู้เรื่องทักษะสมองเพื่อบริหารจัดการชีวิต สำหรับความร่วมมือกันในครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 พัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมอาจารย์สาขาการศึกษาปฐมวัยและจัดอบรมเพื่อพัฒนาอาจารย์สาขาการศึกษาปฐมวัยจำนวนประมาณ 240 คน เป็นระยะที่ 1 ภายในเดือนมิถุนายน 2562 ระยะ 2 พัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมอาจารย์สาขาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเกี่ยวกับทักษะสมอง Executive Functions (EF) และจัดอบรมเพื่อพัฒนาอาจารย์สาขาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาจำนวนประมาณ 1,000 คน ภายในปี 2564 และสร้างวิทยากรแกนนำอีกจำนวน 38 คน ในปี 2563

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image