สั่งดูแลเข้ม ‘ม.6’ สอบโอเน็ต หวั่นซ้ำรอยแก๊งวัดสิงห์

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ที่โรงเรียนหอวัง นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)  พร้อมด้วย น.ส.ศิริดา  บุรชาติ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ นายพีระ รัตนวิจิตร รองปลัด ศธ รักษาราชการรองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการจัดการการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ประจำปีการศึกษา 2561 วันที่ 2 – 3 มีนาคม ซึ่งจัดสอบพร้อมกันทั่วประเทศ ผู้มีสิทธิ์สอบ 387,916 คน มีศูนย์สอบ 18 ศูนย์ สนามสอบ 396 สนาม ห้องสอบ 15,904 ห้องสอบ โดยวันนี้สอบ 3 วิชา คือ สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ) และวันที่ 3 มีนาคม สอบ 2 วิชา คือ ภาษาไทย และวิทยาศาสตร์ ประกาศผลสอบ ในวันที่ 31 มีนาคม ทางเว็บไซต์ สทศ. www.niets.or.th

นพ.อุดม กล่าวว่า การจัดสอบวันแรกเป็นไปอย่างเรียบร้อย ยังไม่พบปัญหาการทุจริต ได้เน้นย้ำเรื่องการดูแลความปลอดภัยของนักเรียนที่เข้าสอบ ซึ่งทราบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาดูแลขณะเดียวกันทางโรงเรียนยังตรวจสอบบุคคลภายนอกที่เข้ามาภายในโรงเรียนด้วย ทั้งนี้การสอบโอเน็ตมความสำคัญ นำไปใช้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเข้าเรียนต่อ และใช้ผลคะแนนในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในระดับโรงเรียนและระดับชาติ ซึ่งต้องยอมรับว่าภาพรวมผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของทั่วประเทศยังเหลื่อมล้ำ  โรงเรียนขนาดใหญ่ในเมืองใหญ่จะมีผลคะแนนเฉลี่ยค่อนข้างดีกว่าโรงเรียนในต่างจังหวัด โดยศธ.มีเป้าหมายจะยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนทั่วประเทศ ที่ผ่านมาก็ได้ดำเนินการหลายโครงการ เช่น โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา ที่ได้เปิดให้ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมมาสนับสนุนการศึกษา

“การประเมินผลเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งผมได้เน้นให้สทศ.ซึ่งเป็นเจ้าภาพหลัก ดำเนินการด้วยความถูกต้องยุติธรรม ขณะเดียวกันยังมอบนโยบายผู้อำนวยการ สทศ.คนใหม่ ว่าต่อไปการประเมินในอนาคต ต้องสมรรถนะของผู้เรียนและควรลดการทดสอบที่ปัจจุบันมีอยู่ 4-5 การสอบ ทั้งโอเน็ต  การทดสอบวัดความถนัดทั่วไปหรือGAT ความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพหรือPAT การสอบ 9 วิชาสามัญ ฯลฯ ให้เหลือน้อยที่สุดเพียง 1-2 การสอบ และจะต้องเป็นการสอบที่วัดทุกอย่างได้  เรื่องนี้เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ขณะเดียวกันอนาคตการประเมินผลควรบนฐานของดิจิทัล ซึ่งผมเชื่อว่าในกระบวนการทำได้ แต่ต้องใช้เวลาเตรียมการไม่น้อยกว่า 2-3 ปี”นพ.อุดมกล่าว

นพ.อุดม กล่าวต่อว่า ส่วนการทดสอบ PAT 5 ความถนัดทางวิชาชีพครู รอบพิเศษให้แก่นักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากกลุ่มบุคคลเข้าไปก่อเหตุความวุ่นวาย ทำลายทรัพย์สิน และทำร้ายร่างกายคณะกรรมการประจำสนามสอบและผู้เข้าสอบที่สนามสอบโรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ สอบในวันที่ 5 มีนาคมที่โรงเรียนบางปะกอกวิทยาคม มีนักเรียนแจ้งขอสอบใหม่ 87 คนนั้น ตนได้เน้นย้ำกับทุกฝ่ายให้เข้มงวดเรื่องความปลอดภัย เหตุการณ์แบบนี้ก็อาจจะเกิดกับที่อื่นๆได้ หรือที่โรงเรียนบางปะกอกวิทยาคม ซึ่ง สทศ.ได้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจมาดูแล ส่วนการฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหาย ทางนิติกรของ ศธ.กำลังรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ ส่วนใครจะเป็นผู้ฟ้องต้องรอสรุป แต่ฟ้องแน่นอนเพราะเป็นความเสียหายที่ไม่ควรเกิด และส่งผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจและทั้งระบบ ซึ่งนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการศธ.ให้นโยบายว่าให้ดำเนินการทั้งแพ่งและอาญา ประเมินเบื้องต้นเกือบ 1 ล้านบาท

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image