สานต่อ ‘แปลงเกษตรลอยน้ำ’ ปรับวิถีชุมชนสู้ภัยน้ำท่วม

กลุ่มสิงห์อาสา โดย บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และมูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี พร้อมด้วยเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสามหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุราษฎร์ธานี ร่วมกับเครือข่ายความคิดสร้างสรรค์จิตอาสา ดีไซน์ ฟอร์ ดีแซสเตอร์ (D4D) ที่มุ่งเตรียมความพร้อมรับมือและจัดการกับภัยพิบัติ เพื่อมุ่งสร้างสังคมให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างพอเพียงและยั่งยืน

ได้ร่วมกันใช้ไอเดียทางสถาปัตยกรรมทำแปลงเกษตรลอยน้ำจากวัสดุเหลือใช้ เพื่อให้นักเรียนและชาวบ้านในชุมชนมีพืชผักปลอดสารพิษรับประทาน รวมถึงมีคุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงเกิดอุทกภัย ในชื่อโครงการ แปลงผักพอดี พอดีŽ ที่ โรงเรียนบ้านไทรงาม ต.ท่าข้าม อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี เนื่องจากเป็นพื้นที่ศูนย์กลางของชุมชนที่สำคัญ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มติดกับแม่น้ำตาปี และมักได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมสูง 1-2 เมตร ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคมของทุกปี ทำให้พืชผักสวนครัวที่ใช้ในโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียนเสียหาย คนในพื้นที่ใกล้เคียงได้รับผลกระทบอย่างหนัก

โครงการ “แปลงผักพอดี พอดี”Ž เป็นนวัตกรรมเกษตรลอยน้ำต้นแบบ ที่พัฒนามาจากแนวคิดของผู้นำชุมชนบ้านไทรงาม โดย สังเวียน ถ้อยทัด ที่นำโฟมเก่าเหลือใช้จากระบบอุตสาหกรรมนากุ้ง ภูมิปัญญาชาวบ้านที่พยายามพึ่งพาตนเองในสถานการณ์น้ำท่วมมาต่อยอดแนวคิดโครงการดังกล่าว โดยได้รับความร่วมมือจาก ปองพล ยุทธรัตน์ สถาปนิกผู้ก่อตั้ง เฮ็ดดีไซน์สตูดิโอ ใช้ไอเดียทางสถาปัตยกรรมมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตชุมชนริมน้ำตาปี เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับ อุทกภัยŽ สร้างแปลงเกษตรลอยน้ำจากวัสดุเหลือใช้อย่างขวดน้ำดื่มพลาสติกเหลือใช้

Advertisement

โดยโครงการได้เลือกใช้ขวดน้ำดื่มตราสิงห์ขนาด 600 มิลลิตร เนื่องจากเป็นขวดพลาสติกที่มีความหนาและแข็งแรง ซึ่งความพิเศษของนวัตกรรมแปลงเกษตรลอยน้ำทำให้ผลผลิตทางการเกษตรไม่ได้รับเสียหาย และยังคงให้ผลิตผลได้อยู่แม้เกิดน้ำท่วม โดยผักที่ใช้ปลูกในแปลงเกษตรลอยน้ำ ส่วนใหญ่เป็นผักประเภทพลู หรือผักจุ๊บ ซึ่งเป็นผักพื้นเมืองที่มีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนในชุมชน นอกจากนี้ยังปลูกผักสวนครัวที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ซึ่งพืชผักสวนครัว เด็กๆ และคุณครูจะช่วยกันดูแล และนำมาเป็นวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหารในโรงเรียนต่อไป

เกรียงไกร บาลจ่าย หรือ น้องก่อ นักศึกษาสาขาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 มรส. เปิดเผยว่า ปกติที่นี่จะมีน้ำท่วมอยู่เสมอ และเป็นลักษณะท่วมขัง การที่เรารู้จักวิธีการทำแปลงผักลอยน้ำสามารถช่วยชาวบ้านได้ ทำให้เมื่อเกิดน้ำท่วม เราสามารถพึ่งพาตัวเองได้ด้วยแปลงผักของเรา ระหว่างที่รอภาครัฐหรือหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาช่วยเหลือ ทั้งนี้เป็นกิจกรรมที่สนุก ได้ทำประโยชน์แก่สังคม จะนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดในพื้นที่บ้านเกิดของตนเองที่ จ.นครศรีธรรมราช โดยการไปแนะนำวิธีการสร้างแปลงผักให้เพื่อนๆ ที่รู้จัก และชาวบ้านในชุมชนที่น้ำท่วมบ่อย หรือชาวบ้านทั่วไปที่น้ำไม่ท่วมก็สามารถปลูกได้

Advertisement

ศศิธร รักษายศ หรือ น้องใบเตย นักศึกษาสาขาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 มรส. เปิดเผยว่า บ้านอยู่ที่ จ.ระนอง อยู่บนเขาไม่เคยเผชิญกับปัญหาน้ำท่วม แต่เมื่อได้ดูข่าวน้ำท่วมก็รู้สึกสงสารผู้ประสบภัย การได้รู้จักแปลงผักลอยน้ำ นับเป็นโอกาสดีที่ทำให้ได้เรียนรู้วิธีการที่สามารถไปแนะนำผู้ที่เคยประสบภัยได้ โครงการนี้มีประโยชน์มาก เพราะเราไม่สามารถห้ามน้ำท่วมได้ แต่เราสามารถหาวิธีรับมือกับมัน และปรับวิถีชีวิตของเราให้อยู่กับมันได้อย่างปลอดภัย อย่างน้อยเราก็มีผักให้ได้รับประทานระหว่างรอน้ำลด หรือใครที่บ้านน้ำไม่ท่วมแต่อยากจะนำไปประยุกต์ใช้ เช่น พื้นที่ใช้สอยในครัวเรือนมีจำกัด ไม่มีดิน ก็สามารถปลูกผักในแปลงผักลอยน้ำได้ และจากที่ฟังคำแนะนำของผู้ใหญ่บ้าน เราสามารถใช้โฟมเก่าจากบ่อเลี้ยงกุ้งมาทำเป็นแปลงผักลอยน้ำได้อย่างดีเยี่ยม เพราะมีสารอาหารในการให้ผักเจริญเติบโตอยู่ในโฟมนั้น รวมไปถึงขวดน้ำพลาสติกเหลือใช้ด้วย

สุธาทิพย์ อรุณน้อย หรือ น้องน้ำตาล นักศึกษาสาขางานเกษตรศาสตร์ คณะพืชศาสตร์ ชั้น ปวช. ปี 3 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุราษฎร์ธานี เล่าว่า จ.สุราษฎร์ธานี เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ประสบภัยพิบัติน้ำท่วม การได้มาเรียนรู้วิธีการสร้างแปลงผักลอยน้ำ ทำให้ไปแนะนำคนใกล้ตัวและผู้ประสบภัยได้ใช้ประโยชน์จริงได้ โดยที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายเพราะเราทำแปลงผักจากวัสดุเหลือใช้ และผักที่เราปลูกนอกจากจะไว้รับประทานเองได้แล้วยังสามารถนำไปขายสร้างรายได้ด้วย อีกทั้งในวันนี้เรายังได้ร่วมแรงร่วมใจกันทำ แปลงผักพอดี พอดีŽ กับเพื่อนๆ และน้องๆ นักเรียนโรงเรียนบ้านไทรงามด้วย

วรายุทธ ทิพย์รักษา หรือ น้องทีน นักศึกษาสาขางานเกษตรศาสตร์ คณะพืชศาสตร์ ชั้น ปวส.ปี 1 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุราษฎร์ธานี บอกว่า เป็นคนสุราษฎร์ธานี ประสบภัยน้ำท่วมโดยตรง มีทั้งน้ำท่วมขัง น้ำป่าไหลหลาก ชาวบ้านลำบากมากเพราะน้ำท่วมขังอยู่นานพอสมควร กิจกรรมวันนี้จึงน่าสนใจมาก เพราะโดยส่วนตัวชื่นชอบงานเกษตรและการประดิษฐ์ เคยปลูกผักไร้ดินไฮโดรโปนิกส์มาก่อน จึงเป็นเรื่องดีที่จะนำความรู้และประสบการณ์ในครั้งนี้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้ พร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมได้

โครงการ ”แปลงผักพอดี พอดีŽ” เชื่อว่านักศึกษาสิงห์อาสา คุณครู นักเรียนโรงเรียนบ้านไทรงามและชาวบ้านในพื้นที่ จะสามารถนำความรู้ที่ได้อบรมและประสบการณ์ที่ได้จากโครงการไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ของตนเองได้ ทั้งในยามประสบอุทกภัยและยามปกติ และสามารถเป็นแหล่งอาหาร แหล่งเรียนรู้ และแหล่งรายได้ในยามน้ำท่วมด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image