ฟันธงนโยบายศึกษาแค่นามธรรม แต่ละพรรคไม่รู้ปัญหาแท้จริง วอนอย่าใช้ศธ. แบ่งเค้กพรรคร่วมรัฐบาล

สมพงษ์, สุขุม, กฤษณพงศ์

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ตามที่พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) มีนโยบายการศึกษา ซึ่งชูสโลแกนว่า “ได้เรียนในสิ่งที่ใช่ ได้ใช้ในสิ่งที่เรียน ไม่เปลี่ยนไปตามการเมือง” เน้นการจัดการศึกษาให้คนไทยตั้งแต่แรกเกิด ไปจนถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา กระจายอำนาจโดยใช้เงินงบประมาณ และจะทำให้การศึกษาปลอดการเมือง โดยจะผลักดันให้เกิด “สภาพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ” โดยมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม นั้น เมื่อเห็นนโยบายแล้วต้องบอกว่า ไม่เสียแรงที่พรรคนี้เคยดูแลกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพราะดูจากนโยบาย ถือว่าสอบผ่าน เพราะรู้ปัญหาการศึกษาในสถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างดี หากพรรคชทพ. ได้เข้ามาดูแลศธ.จริง ก็ต้องรอดูว่าจะเดินหน้าตามนโยบายมากน้อยแค่ไหน เพราะจากประสบการณ์ที่พรรคนี้เข้ามาดูแล ศธ. ผลงานยังไม่โดดเด่น คนที่เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการศธ. ยังไม่รู้ปัญหาการศึกษาแท้จริง อีกทั้งบางคนยังกลัวข้าราชการมากเกินไป จนทำให้นโยบายต่าง ๆ ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ส่วนนโยบายด้านการอุดมศึกษา และอาชีวศึกษานั้น ยังไม่เห็นจุดเด่นที่ชัดเจน โดยเฉพาะอุดมศึกษา ซึ่งกำลังจะมีการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งควรจะมีแผนการดำเนินการที่ชัดเจนมากกว่านี้

“เท่าที่ดูนโยบายพรรคชพท.เหมือนมีความหวัง แต่ก็ต้องรอดูเพราะจากประสบการณ์ รัฐมนตรีที่พรรค ชทพ. ส่งมาบริหารกระทรวงจะกลัวข้าราชการมากเกินไป ซึ่งผมเองอยากให้ผู้ที่จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการศธ ไม่ใช่ทหาร หรือหมอ เพราะรู้ปัญหาการศึกษาบางส่วน แต่ในรายละเอียดจริง ๆ ยังแก้ปัญหาได้ไม่ค่อยดี ควรหาคนที่มีความเป็นกลางทางการเมือง และไม่อยากให้นำศธ. ไปเป็นกระทรวงที่แบ่งเค้ก หรือกระทรวงต่อรองทางการเมือง” นายสมพงษ์ กล่าวและว่า ส่วนตัวเชื่อว่า ชทพ. จะเป็นพรรคหนึ่งที่ได้เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้นอยากจะถามว่า หากได้มาดูแลศธ. จะเดินหน้าผลักดันกฎหมายและแนวทางการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ได้ยกร่างไว้หรือไม่ และหากสานต่อจะทำมากน้อยแค่ไหน เพราะหลายเรื่องที่กอปศ. ทำไว้ เป็นเรื่องที่ดีทั้งกฎหมายกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา รวมถึงร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่

นายสุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (มสด.) กล่าวว่า เท่าที่ดูนโยบายการศึกษาแต่ละพรรค ค่อนข้างเป็นนามธรรม เพราะไม่มีการศึกษาปัญหาอย่างแท้จริงก่อนออกนโยบาย รวมถึง ยังไม่มีนักการศึกษา ซึ่งเป็นนักปฏิบัติมาร่วมยกร่างนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ดังนั้น จึงกำหนดเป็นนโยบายกว้างๆ เป็นภาพใหญ่ เช่น เรื่องความเสมอภาคด้านการศึกษา เพราะหากกำหนดให้เป็นรูปธรรม หรือลงรายละเอียด จะปฏิบัติได้ยาก

“ส่วนตัวไม่คาดหวังกับนโยบายการศึกษาของแต่ละพรรคมากนัก การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นเพียงพิธีกรรมให้รู้ว่าเป็นประชาธิปไตย ที่สุดแล้วรัฐบาลใหม่ จะเป็นรัฐบาลผสม ดังนั้น หลังเลือกตั้ง จะต้องมีการแบ่งโควตารัฐมนตรีแต่ละกระทรวงก่อน นโยบายต่างๆ รวมถึง เรื่องการศึกษา จะต้องถูกนำมาเขย่าแล้วปรับใหม่ หากโชคร้าย ศธ.ได้คนที่ไม่มีความรู้เรื่องการศึกษาเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ก็คงไม่ช่วยแก้ไขปัญหาอะไรได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มองว่ารัฐมนตรีว่าการ ศธ.ควรจะต้องเป็นนักการศึกษาเท่านั้น เพราะ ศธ.เองเคยมีประสบการณ์ได้นักการศึกษามาเป็นรัฐมนตรีแล้ว แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้มากนัก เพียงแต่อาจต้องเป็นคนที่มีความรู้ด้านการศึกษาอยู่บ้าง เพื่อให้มีความเข้าใจระบบ และสามารถบริหารงาน แก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด” นายสุขุม กล่าว

Advertisement

นายกฤษณพงศ์ กีรติกร นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.กล่าวว่า ยังไม่เห็นภาพการพัฒนาการศึกษาของแต่ละพรรคที่ชัดเจน และดูเหมือนว่านโยบายการศึกษาจะถูกลืม เพราะแต่ละพรรคจะเน้นไปที่เรื่องปากท้อง เศรษฐกิจ แก้ปัญหาความยากจน เพราะเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนนโยบายการศึกษา หากชูขึ้นมาก็อาจได้คะแนนเสียงไม่มากนัก

นายกฤษณพงศ์กล่าวอีกว่า สิ่งที่อยากให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการคือ สานต่อกฎหมายต่างๆ ซึ่งออกมาแล้วในรัฐบาลนี้หลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่ให้โอกาสเด็กยากจนได้มีทุนการศึกษา รวมถึง มีงานทำ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา ซึ่งเปิดโอกาสให้แต่ละจังหวัดเข้ามามีส่วนในการกำหนดการจัดการศึกษาในพื้นที่ของตัวเองได้ พ.ร.บ.ปฐมวัย ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลจัดการศึกษาให้กับเด็กตั้งแต่แรกเกิด ที่สำคัญคือร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่เป็นกฎหมายสำคัญที่จะพลิกโฉมการศึกษาไทย

“ส่วนตัวอยากเห็นคนรุ่นใหม่เข้ามาช่วยพัฒนาประเทศให้มากขึ้น เท่าที่ดูแต่ละพรรคที่มีนักการเมืองรุ่นใหม่ ก็ดูมีความหวัง แต่ก็ยังไม่แน่ใจ เพราะหากได้รับคัดเลือกเข้าไปเป็น ส.ส.ก็ต้องไปทำงานร่วมกับกลุ่ม ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งเป็นคนกลุ่มเดิม จึงต้องรอดูว่าคนรุ่นใหม่ที่เข้ามา จะมีความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด” นายกฤษณพงศ์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image