ศิลปวัฒนธรรมเสวนา ‘เสวยราชสมบัติกษัตรา’ คนร่วมฟังโบราณราชประเพณีแน่น

เมื่อวันที่ 25 เมษายน ที่ห้องประชุมอาคารดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ร่วมกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรมศิลปากร จัดงานสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา เสวยราชสมบัติกษัตราŽ มี ผศ.ดร.ชัชพล ไชยพร รองคณะบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดร.นนทพร อยู่มั่งมี ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, ผศ.ดร.พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และนายธีรพันธุ์ จันทร์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ผู้เชี่ยวชาญด้านอยุธยาอาภรณ์ เป็นวิทยากร มีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังกันอย่างเนืองแน่น

ผศ.ดร.ชัชพลกล่าวว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในราชวงศ์จักรี มี 3 รัชกาลด้วยกัน ที่มีพระราชพิธีดังกล่าวถึง 2 ครั้ง ได้แก่ สมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งขณะนั้นทรงขึ้นเป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์แล้ว แต่ยังทรงไม่สามารถประกอบพิธีได้อย่างครบถ้วนตามโบราณราชประเพณี เนื่องจากอยู่ในภาวะติดพันศึกสงคราม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้รวมองค์ความรู้เกี่ยวกับการราชพิธี แล้วโปรดเกล้าฯให้จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกครั้งใน พ.ศ.2328

ผศ.ดร.ชัชพลกล่าวว่า ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2411 ครั้นเมื่อเสด็จออกผนวชแล้ว และทรงลาสิกขา ก็มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกครั้งหนึ่ง และสมัยรัชกาลที่ 6 พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกวันที่ 11 พฤศจิกายน 2453 หลังการสวรรคตของรัชกาลที่ 5 ไม่นาน แล้วจึงมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช โดยเชิญราชสัมพันธมิตรทั้งปวงมาร่วมงานในวันที่ 2 ธันวาคม 2454 จะเห็นได้ว่าการบรมราชาภิเษกในแต่ละสมัยไม่จำเป็นต้องมีแค่ครั้งเดียว

“ในสมัยรัชกาลที่ 6 การที่มีประมุขต่างๆ ส่งผู้แทน ส่งราชทูตมาร่วมพระราชพิธีถึง 14 ประเทศ ลงหนังสือพิมพ์ทั่วโลก นี่คือการสื่อความเป็นเอกราช ความเป็นรัฐสมัยใหม่ให้ปรากฏทั่วโลก โดยในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกทั้ง 2 ครั้งเกิดขึ้นต่างสถานที่ ต่างวิธีคิด โดยครั้งแรกทรงตั้งชื่อว่าการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมราชมณเฑียร เป็นการขึ้นสู่สถานะพระมหากษัตริย์ ขึ้นพระมหามณเฑียรใหม่ แต่ครั้งที่ 2 คือพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช จัดที่หมู่พระมหาปราสาทและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม”Ž ผศ.ดร.ชัชพลกล่าว

Advertisement

ดร.นนทพรกล่าวว่า คติของบรมราชาภิเษกมีรากฐานมาจากอินเดียŽ โดยคำว่า บรมราชาภิเษก มาจาก บรมราชา + อภิเษก คำว่า อภิเษกŽ หมายถึงการหลั่งรดน้ำ เป็นเรื่องของการแต่งตั้งตำแหน่ง หรืออีกนัยยะของน้ำก็คือการเปลี่ยนสถานภาพ เพราะก่อนที่พระมหากษัตริย์จะขึ้นเสวยราชสมบัติ พระองค์ทรงเป็นเจ้านายในระดับปกติมาก่อนจึงต้องมีการชำระล้าง เมื่อถึงวันพิธีจะมีการบวงสรวงเทวดาก่อนการถวายน้ำพระมุรธาภิเษก การถวายน้ำสงฆ์พระมุรธาภิเษก หลังจากนั้นจะมีการเปลี่ยนเครื่องทรงเข้าสู่อีกขั้นตอนการรับน้ำอภิเษก เดิมทีในธรรมเนียมจะใช้บรรดาพราหมณ์หรือราชบัณฑิตทั้งหลาย แต่ในตอนหลังระบบการปกครองเปลี่ยนไปมีการใช้สมาชิกรัฐสภาร่วมกับพราหมณ์

ผศ.ดร.พัสวีสิริกล่าวว่า สถานที่จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกคือหมู่พระมหามณเฑียร ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางของพระบรมมหาราชวัง เป็นอาคารที่ประกอบด้วยพระที่นั่งหลายหลังที่เชื่อมกัน อาคารทั้งหมดในพระที่นั่งจะทอดตัวจากด้านทิศเหนือไปทิศใต้ เชื่อมต่อกันระหว่างเขตพระราชฐานชั้นกลางและเขตพระราชฐานชั้นใน โดยพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยบริเวณเขตพระราชฐานชั้นกลาง แต่ส่วนที่อยู่เชื่อมต่อข้างใน มีพระที่นั่งที่สำคัญอีกหลายองค์ ตั้งแต่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ซึ่งสอดคล้องและเชื่อมต่อกันทั้งหมด

Advertisement

นายธีรพันธุ์กล่าวว่า พระภูษาผ้าเขียนทอง เป็นผ้าที่ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างสืบเนื่องโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 200 ปีเศษ แหล่งผลิตอยู่ที่อินเดีย เนื่องจากใช้เทคโนโลยีซับซ้อน อีกทั้งเป็นความลับที่ทางอินเดียสืบทอดกันมาเป็นเวลานาน เข้ามาสู่สังคมไทยในสมัยอยุธยาตอนต้น ลวดลายเป็นอย่างแขก ทำจากฝ้าย เหมาะกับภูมิอากาศบ้านเรา ผ้าเขียนทองไม่ได้มีความงามแค่ลวดลายทองที่โดดเด่นขับให้สีสันต่างๆ บนลวดลายผ้าเท่านั้น แต่ตัวลายมีความงดงามสมบูรณ์ มีความใกล้เคียงกับจิตรกรรมมากที่สุด ไม่มีเงื่อนไขหรือโครงสร้างของการทอมาเป็นข้อจำกัด นี่คือเหตุผลว่าทำไมผ้าชนิดนี้จึงทรงศักดิ์สูงสุดในทำเนียบศักดินา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image