ปลื้มวิจัยยกระดับคุณภาพร.ร.ชี้เด็กมีความสุขขึ้น เล็งขยายผลอีก 280 แห่ง

เมื่อวันที่ 29 เมษายน ที่ห้องแกรนด์ไดมอนด์ บอลรูม อิมแพ็ค ฟอรัม 4 เมืองทองธานี กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ). และสํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดประชุมวิชาการ “นวัตกรรมการจัดการโรงเรียนคุณภาพต่อเนื่องสู่การประกันคุณภาพ” ผลสำเร็จและบทเรียนจากโครงการวิจัยปฏิบัติการ “โรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง” (School Quality Improvement Program : sQip) โดยมีนายกฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ประธานกรรมการนโยบาย สกว. และที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร กสศ. กล่าวเปิดงานพร้อมปาฐกถาพิเศษ “คุณภาพโรงเรียนกับการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา” ตอนหนึ่งว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ สังคมไทยจะต้องเผชิญหน้ากับข้อเท็จจริงที่ว่า คนในวัยเรียน ประถมศึกษา มัธยมศึกษาจะลดลงตามลำดับ หากรัฐยังจัดการศึกษาให้สำหรับคนวัยเรียน แต่ผู้เรียนเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่องก็จะกลายเป็นเป็นการลงทุนเสียเปล่า ขณะเดียวกัน คนสูงวัยจะเพิ่มสูงขึ้นตลอดเวลา กรณีนี้เองที่กำลังกลายเป็นโจทย์ให้ประเทศไทย ต้องเร่งหามาตรการรับมือเพื่อแข่งกับเวลา
“อีกประมาณ 30 ปี คนในวัยทำงานเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำให้เก่งขึ้นถึง 3 เท่าเพื่อรักษาคุณภาพชีวิตไว้ได้ ดังนั้นการศึกษาเป็นเรื่อง Product Activity ต้องพูดถึงเรื่องงาน เนื่องจากเป้าหมายของการศึกษาเป็นเรื่องงานในชีวิต ชาติอื่น เช่น จีน สิงคโปร์ มีเรื่องของคนสูงวัยเช่นกัน แต่มีประสิทธิภาพเรื่องการทำงานอย่างมีนัยสำคัญ คนไทยส่วนใหญ่มีการศึกษาต่ำกว่า 12 ปี แย่กว่าประเทศอินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เมื่อเทียบกับอาเซียนด้วยกันเราสู้ไม่ได้ เรามีปัญหาคือจะขึ้นข้างบนก็ไม่ได้เพราะว่าคนที่มีการศึกษาสูงน้อย จะลงข้างล่างแข่งขันเรื่องแรงงานก็ไม่ได้ เนื่องจากมีค่าแรงสูงกว่าเหมือนถูกบีบทั้งบนและล่าง” นายกฤษณพงศ์ กล่าว

นายนคร ตังคะภิภพ หัวหน้าโครงการวิจัยและปฏิบัติการโรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้ ได้เข้าไปพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ (Whole-School Approach) โดยพุ่งเป้าไปที่ความร่วมมือของทุกฝ่ายในโรงเรียน ผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง นักเรียนและชุมชน โดยเริ่มจากการตั้งเป้าหมายในการจัดการโรงเรียนของแต่ละแห่งที่ชัดเจนจากทุกฝ่าย พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อช่วยเหลือนักเรียนเป็นรายบุคคล และสามารถแจ้งเตือนกรณีนักเรียนที่มีความเสี่ยงสูง ช่วยลดภาระของครูในการประมวลข้อมูลและภาระทางธุรการอีกด้วย นอกจากนี้ ยังได้สร้างชุมชนการเรียนรู้เชิงวิชาชีพ ให้เกิดการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาการเรียนการสอน ระบบการช่วยเหลือกันในลักษณะเครือข่ายข้ามโรงเรียน สร้างกลุ่มครูที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือแนะนำครูคนอื่นๆ

นายนคร กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาคุณภาพของโรงเรียนในเมืองและชนบทที่มีความเหลื่อมล้ำกันอย่างมาก ส่งผลให้ความรู้ระหว่างนักเรียนในเมืองกับนักเรียนในชนบทของไทยต่างกันเกือบ 2 ปีการศึกษา สกว. กสศ. และสพฐ. ได้จับมือกันร่วมวิจัยเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว และดำเนินการในโรงเรียนขยายโอกาสพื้นที่ยากลำบาก 197 แห่ง 14 จังหวัด ทั่วประเทศไทย ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย น่าน ลำปาง สุโขทัย สุรินทร์ อำนาจเจริญ กาญจนบุรี พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี ชลบุรี สุราษฎร์ธานี และภูเก็ต สำหรับโครงการนี้ มีครูร่วมโครงการมากกว่า 3,500 คน ส่งผลกระทบต่อนักเรียนราว 49,086 คน ทำให้ 197 โรงเรียน เกิดผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงจริงสอดคล้องกับดัชนีชี้วัดสำคัญของระบบรับรองคุณภาพระดับนานาชาติ นักเรียนเพลิดเพลินกับการเรียนรู้ โดยนักเรียนที่ร่วมโครงการมีความสุขในการมาเรียน มีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับครูมากขึ้น ขณะที่นักเรียนซึ่งมีปัญหาได้รับการเอาใจใส่ดูแล ทําให้ปัญหาการเรียนและปัญหาต่างๆ เช่น อัตราการขาดเรียน การมาสาย และหนีเรียน ไม่ใส่ใจในการเรียนลดลง ขณะเดียวกัน ผู้ปกครองนักเรียน ยังได้ให้ข้อมูลว่า งานวิจัยชิ้นนี้ ทำให้นักเรียนมีสัมพันธภาพในครอบครัวดีขึ้น และมีพฤติกรรมในการสนใจการเรียน การรับผิดชอบช่วยงานที่บ้านดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ในปีการศึกษา 2562 กสศ. สกว.และสพฐ. พร้อมเดินหน้าขยายผลโรงเรียนขยายโอกาสจำนวน 280 แห่งรวม 17 จังหวัดทั่วประเทศ พัฒนาให้เป็นสถานศึกษาต้นแบบลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในมิติคุณภาพโรงเรียนและครู และนำไปสู่การพัฒนาระบบรับรองคุณภาพ ที่เหมาะสม ทั้งหมดนี้ คือรูปธรรมของการปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพการศึกษาให้กับโรงเรียนในชนบท ที่กำลังเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image