8 อาชีวะเอกชนหยุดรับ น.ร.อีก 12 แห่ง ส่อปิด วอนรัฐเลิก ม.44 ขอซบ ‘สช.’ หลัง สอศ.ไม่เหลียวแล

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม นายศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) เปิดเผยว่า ภาพรวมการรับนักเรียนของโรงเรียนเอกชนในระดับชั้น ม.1 และ ม.4 ถือว่าดีกว่าปีที่ผ่านมา ไม่วิกฤตเหมือนในปีการศึกษา 2561 อาจเป็นเพราะนโยบายการรับนักเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) บางข้อออกมาดี เช่น นโยบายของ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เรื่องที่ให้เริ่มกระบวนการรับนักเรียนระดับชั้นอนุบาล 1 (3 ขวบ) ใหม่ทั้งหมด จากเดิมที่โรงเรียนในสังกัด สพฐ.บางส่วนเปิดรับ ทำให้โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้รับนักเรียนอนุบาล 3 ขวบ ได้รับความเดือดร้อน แต่เมื่อปีนี้มีนโยบายไม่ให้โรงเรียนสังกัด สพฐ.รับอนุบาล 3 ขวบ ทำให้การรับนักเรียนอนุบาล 3 ขวบของโรงเรียนเอกชนดีขึ้น จำนวนนักเรียนชั้นอนุบาลเพิ่มมากขึ้น

“สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้ปกครองเห็นว่าโรงเรียนในสังกัด สช.และ อปท.จัดการศึกษาดีกว่ารัฐ จึงส่งบุตรหลานเข้ามาเรียน ทั้งนี้ เรื่องการรับนักเรียน นายชลำ อรรถธรรม เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) คอยให้ความช่วยเหลือ และติดตามการรับนักเรียนของโรงเรียนในสังกัดตลอดเวลา” นายศุภเสฏฐ์กล่าว

นายศุภเสฏฐ์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ได้หารือผู้อำนวยการสถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชน พบปัญหาว่านักเรียนลดลงจำนวนมาก บางแห่งอาจถึงขั้นปิด ยุบ หรือขายกิจการ โดยเฉพาะสถานศึกษาอาชีวะเอกชนในต่างจังหวัด มีนายทุนต่างชาติ เช่น นายทุนจากสาธารณรัฐประชาชนจีน สนใจเข้ามาติดต่อซื้อบ้างแล้ว ทั้งนี้ การรับนักเรียนของสถานศึกษาอาชีวะเอกชนนั้น เริ่มมีปัญหาตั้งแต่ถูกนำไปรวมอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ตามมาตรา 44 เรื่องคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 8/2559 เรื่องการบริหารจัดการรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐ และภาคเอกชน

“หลังจากอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ สอศ.พบว่าสถานศึกษาอาชีวะเอกชนมีการบริหารงาน และได้รับงบประมาณต่างๆ ล่าช้า ไม่ได้รับความสนใจ รู้สึกว่าอยู่ผิดที่ เป็นปลาผิดน้ำ อยากกลับเข้ามาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ สช.เหมือนเดิม เพราะถือว่าเป็นสถานศึกษาเอกชนเหมือนกัน” นายศุภเสฏฐ์กล่าว

Advertisement

นายศุภเสฏฐ์กล่าวอีกว่า ยอมรับว่าการที่จำนวนนักเรียนในสถานศึกษาอาชีวะเอกชนลดลง เพราะบางแห่งไม่มีคุณภาพมากเท่าที่ควร แต่หากรัฐไม่ช่วยเหลือเลย สถานศึกษาอาชีวะเอกชนก็อยู่ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีสถานศึกษาอาชีวะเอกชนกว่า 400 แห่ง ต้องการกลับเข้ามาอยู่ในสังกัด สช.เดิมประมาณ 320 แห่ง คิดเป็น 80% เนื่องจากสถานศึกษาอาชีวะเอกชนบางแห่งยังไม่ได้รับเงินอุดหนุนรายหัว ไม่มีเงินจ่ายให้นักเรียนที่สนใจมาเรียนไปซื้ออุปกรณ์การเรียน และชุดนักเรียนได้ ทำให้นักเรียนบางส่วนออกไปเรียนสถานศึกษาอาชีวะรัฐแทน

“ขณะนี้สถานศึกษาอาชีวะเอกชนเดือดร้อนหนักมาก โดยเฉพาะในต่างจังหวัด 7-8 แห่ง หยุดรับนักเรียนในปีนี้แล้ว และอีกประมาณ 12 แห่ง หากปีนี้รับนักเรียนไม่ตรงตามเป้า อาจจะยุบ หรือปิดกิจการไป จึงอยากขอร้องเรียนให้รัฐบาลยกเลิกมาตรา 44 ย้ายสถานศึกษาอาชีวะเอกชน เข้ามาร่วมกับ สช.เช่นเดิม” นายศุภเสฏฐ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image