อาชีวะเอกชนจวก 3 ปีใต้สอศ.ยังลอย ‘สุเทพ’แจงแก้กม.รอรัฐบาลหน้า

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม นายอดิศร สินประสงค์ นายกสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สวทอ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ นายศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) ออกมาระบุว่าวิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชนหลายแห่งจำนวนนักเรียน และนักศึกษาลดลง ส่งผลให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชนบางแห่งไม่รับนักเรียน และนักศึกษาในปีนี้ อีกทั้ง มีแนวโน้มว่าจะปิดกิจการอีกหลายแห่ง โดยเริ่มมีปัญหาตั้งแต่ให้สถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชนไปอยู่ภายใต้ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ซึ่งไม่เหลียวแล และจากการสำรวจพบว่ากว่า 80% อยากกลับไปอยู่ภายใต้สังกัด สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ตามเดิมนั้น  ส่วนตัวคิดว่า ไม่ว่าจะอยู่สังกัดไหน ก็ต้องอยู่ด้วยความเป็นเอกชน คืออยู่ด้วยคุณภาพ เพราะไม่ว่าจะเป็นวิทยาลัยรัฐหรือเอกชน ก็ยังต้องแข่งขัน สิทธิต่าง ๆ ที่ได้รับก็ควรที่จะมีความเท่าเทียม  ซึ่งหากผู้บริหารใส่ใจ จริงใจ จะอยู่สังกัดใดก็ได้ ไม่ใช่เรื่องสำคัญ

นายอดิศร กล่าวต่อว่า  อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาตนได้มีการพูดคุยและนำเสนอประเด็นต่าง ๆ ผ่านนายสุเทพ  ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ไปถึงนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ อดีตรัฐมนตรีว่าการศธ. อาทิ การปรับแก้พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา  พ.ศ.2551 เพื่อให้อาชีวะเอกชนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในกฎหมายอย่างชัดเจน เพราะถ้าไม่มีระบุไว้ในกฎหมายอย่างเป็นทางการจะมีปัญหาในเรื่องการของบประมาณ โดยขณะนี้อาชีวะเอกชนเป็นเพียงหน่วยงานลอยๆ ในสอศ. แต่ไม่มีอำนาจอะไร ขณะที่สำนักงานอาชีวศึกษาเอกชนจังหวัด ก็ไม่มีสถานที่ตั้งเป็นหลักแหล่ง ย้ายไปตามผู้อำนวยการวิทยาลัยที่เป็นประธาน  ทำให้บางครั้งเกิดปัญหาในการติดต่อประสานงาน ยังไม่รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมาสช.ของบประมาณรายหัวเพิ่มเงินเดือนครู รวมถึงยังมีค่าเครื่องแบบครูโรงเรียนเอกชน แต่อาชีวะเอกชนไม่ได้มีการปรับมานานกว่า 3 ปี เพราะย้ายมาอยู่กับสอศ.

“ขณะนี้บางจังหวัดยังไม่ได้รับเงินอุดหนุน ทำให้วิทยาลัยเล็ก ๆ บางแห่งต้องไปกู้หนี้เพื่อจ่ายเงินเดือนให้อาจารย์ไม่ให้กระทบกับการเรียนการสอน วันนี้เรามีวิทยาลัยอาชีวะเอกชนกว่า 488 แห่ง ยอมรับว่ามีบางแห่งเตรียมปิดตัว ขณะที่บางพื้นที่มีวิทยาลัยอาชีวะรัฐ เข้าไปเปิดวิทยาเขตเพิ่มบนถนนเดียวกัน ทำให้เกิดปัญหา อย่างไรก็ตามภาพรวมอาชีวะมีเด็กทั้งระบบรวม 1 ล้านคน เรียนอยู่วิทยาลัยเอกชน ประมาณ 3.3 แสนคน ในจำนวนนี้คิดเป็นเด็กสาขาช่างอุตสาหกรรมซึ่งเป็นความต้องการของประเทศ ประมาณ 40% หรือคิดเป็น ประมาณ 1.6 แสนคน แต่ละปีจะผลิตเด็กกลุ่มนี้ออกสู่ตลาดแรงงานได้ประมาณ 3 หมื่นคน ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) พบว่า ต้นทุนการต่อหัวต่อคนในการผลิตผู้ที่จบออกมาสู่ตลาดแรงงานของอาชีวะเอชน ต่ำว่า ภาครัฐถึง 6 เท่า ดังนั้นหากรัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนอาชีวะเอกชนมากขึ้น ก็เชื่อว่าจะสามารถผลิตแรงงานซึ่งเป็นความต้องการของประเทศได้มากขึ้น” นายอดิศร กล่าว และว่า  ส่วนที่สอศ. จะเปิดกว้างให้วิทยาลัยอาชีวะเอกชน เปิดสอนปริญญาตรีได้นั้น มั่นใจว่าทุกแห่งมีความพร้อม เพราะเรามีครู อาจารย์ที่เชี่ยวชาญ และจบระดับปริญญาโท และเอก แต่เรื่องนี้มีการพูดคุยมาระยะหนึ่ง สุดท้ายจะติดปัญหาเรื่องระเบียบ ที่ยังต้องแก้ไข ทุกครั้งที่มีการหารือ จะมีแต่คำหวาน แต่ไม่มีความเคลื่อนไหว ฝากวิงวอนผู้บริหารชุดใหม่ ให้เห็นความสำคัญต่ออาชีวะศึกษาเอกชน แต่หากไม่ทำอะไรจริง ๆ ก็ขอกลับไปอยู่กับสช. เช่นเดิมดีกว่า

นายสุเทพ  ชิตยวงษ์  เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า การปรับแก้กฎหมายต่าง ๆ ต้องเป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรตามขั้นตอน ที่ผ่านมาตนได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาดูเรื่องนี้ โดยให้สวทอ. เข้ามาร่วม แต่ทุกอย่างต้องใช้เวลาและเป็นไปตามขั้นตอน ซึ่งตอนนี้คงต้องรอรัฐบาลใหม่มาดำเนินการ ส่วนกรณีที่มีบางจังหวัดยังไม่ได้งบฯ นั้น ตนทราบปัญหา โดยมีอยู่ 8 จังหวัดที่ยังไม่ได้งบฯ ทางสอศ.เองพยายามเร่งรัด ไม่ใช่ไม่สนใจ อยากให้ทุกฝ่ายใจเย็น ๆ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image