ทุ่มงบ ‘1.6 พัน ล.’ ผลิตบัณฑิต-อาชีวะพันธุ์ใหม่ ปี’63

ทุ่มงบ ‘1.6 พัน ล.’ ผลิตบัณฑิต-อาชีวะพันธุ์ใหม่ ปี’63

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม นพ.อุดม คชินทร สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า โครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ได้เริ่มตั้งแต่ปี 2561 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้ทำโครงการนี้ให้สำเร็จ สิ่งที่อยากเสนอไม่ใช่แค่สร้างบัณฑิต แต่รวมถึงอาชีวศึกษาด้วย มีเป้าหมายผลิตคนให้มีสมรรถนะ ศักยภาพสูง ตอบโจทย์ 10 อุตสาหกรรมที่รัฐบาลต้องการ และถือเป็นการปฏิรูปการศึกษาไทย โดยเน้นความร่วมมือกับสถานประกอบการในการผลิตกำลังคน มุ่งพัฒนาคนที่ทำงาน หรือต้องการปรับเปลี่ยนสมรรถนะที่มีอยู่เดิมไปสู่สมรรถนะที่ตอบโจทย์กำลังคนเร่งด่วน และผู้ที่จบการศึกษาในระดับชั้น ม.ปลาย ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรืออนุปริญญาหรือที่กำลังศึกษาอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาชั้นปีที่ 3 หรือ 4 ในปัจจุบัน

นพ.อุดม กล่าวต่อว่า ในปี 2561 โครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ และอาชีวะพันธุ์ใหม่ ผลิตบัณฑิตที่สนองตอบต่อ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายหลักของรัฐบาล โดยเปิดสอน 8 สาขาอุตสาหกรรม ยกเว้น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร และ 2 ทักษะที่จำเป็นในอนาคต ในระดับปริญญาและประกาศนียบัตร ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ระดับปริญญาเปิดสอน 14 หลักสูตร มีผู้เรียน 490 คน หลักสูตรประกาศนียบัตร มี 13 หลักสูตร มีผู้เรียน 840 คน กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระดับปริญญาเปิดสอน 9 หลักสูตร มีผู้เรียน 270 คน หลักสูตรประกาศนียบัตร มี 2 หลักสูตร มีผู้เรียน 80 คน กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ระดับปริญญาเปิดสอน 18 หลักสูตร มีผู้เรียน 535 คน หลักสูตรประกาศนียบัตร มี 33 หลักสูตร มีผู้เรียน 1,680 คน กลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ระดับปริญญาเปิดสอน 6 หลักสูตร มีผู้เรียน 170 คน หลักสูตรประกาศนียบัตร มี 6 หลักสูตร มีผู้เรียน 240 คน กลุ่มหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม ระดับปริญญาเปิดสอน 11 หลักสูตร มีผู้เรียน 489 คน หลักสูตรประกาศนียบัตร มี 3 หลักสูตร มีผู้เรียน 550 คน กลุ่มอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ ระดับปริญญาเปิดสอน 8 หลักสูตร มีผู้เรียน 330 คน หลักสูตรประกาศนียบัตร มี 20 หลักสูตร มีผู้เรียน 770 คน

นพ.อุดม กล่าวอีกว่า กลุ่มอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงและเคมีชีวภาพ ระดับปริญญาเปิดสอน 8 หลักสูตร มีผู้เรียน 340 คน หลักสูตรประกาศนียบัตร มี 4 หลักสูตร มีผู้เรียน 170 คน กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล ระดับปริญญาเปิดสอน 24 หลักสูตร มีผู้เรียน 1,160 คน หลักสูตรประกาศนียบัตร มี 26 หลักสูตร มีผู้เรียน 985 คน กลุ่มดูแลผู้สูงอายุ ระดับปริญญาเปิดสอน 1 หลักสูตร มีผู้เรียน 10 คน หลักสูตรประกาศนียบัตร มี 8 หลักสูตร มีผู้เรียน 740 คน และกลุ่มSoft Skill หลักสูตรประกาศนียบัตรเปิดสอน 8 หลักสูตร มีผู้เรียน 300 คน รวมแล้วผู้จบการศึกษาในโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ปี 2561 ในระดับปริญญาตรีเปิดสอน 99 หลักสูตร มีผู้จบ 3,794 คน และหลักสูตรประกาศนียบัตร เปิดสอน 123 หลักสูตร มีผู้จบ 6,355 คน รวมทั้งหมดกว่า 10,149 คน

“สิ่งที่โครงการนี้จะต้องดำเนินการต่อไปคือ อุดมศึกษาและอาชีวศึกษา ต้องช่วยกันเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แก้ปัญหาและตอบสนองความต้องการของพื้นที่และประเทศ ทั้งภาคธุรกิจอุตสาหกรรม และภาคท้องถิ่น พัฒนาความเป็นเลิศทางวิชาการ ที่ผ่านมารัฐบาลให้การสบันสนุนงบประมาณ  2561-2562 จำนวน 870 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2563 โครงการนี้ได้รับสนับสนุนงบประมาณ 1,600 ล้านบาท และในปี 2562-2566 อีอีซี ได้ประมาณการความต้องการบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก รวม 475,668 อัตรา ซึ่งต้องการกำลังคนที่มีทักษะ มีสมรรถนะและศักยภาพ ซึ่งสอดคล้องกับโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เชื่อว่าโครงการนี้จะผลิตกำลังคนที่ต้องสนองต่อความต้องการของ อีอีซี ได้อย่างแท้จริง”นพ.อุดม กล่าว

Advertisement

นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สจล.เป็นหนึ่งในสถาบันอุดมศึกษาที่เข้าร่วมโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ โครงการนี้ตนคิดว่าเป็นโครงการที่ดี เพราะที่ผ่านมามีเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการภาคเอกชนว่า บัณฑิตที่จบมานั้นไม่ตอบโจทย์ มีทักษะไม่ตรงกับความต้องการของภาคเอกชน ถือเป็นการทำลายกำแพงระหว่างมหาวิทยาลัยด้วยกันเอง เพราะเมื่อมีโครงการนี้ขึ้นมา ทุกมหาวิทยาลัยต่างแลกเปลี่ยนความรู้แลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อผลิตบัณฑิตได้ตรงกับความต้องการของประเทศ

“ส่วนงบประมาณในการดำเนินโครงการนี้ มองว่ารัฐควรจะเพิ่มงบประมาณให้มากขึ้น เพื่อพัฒนากำลังคนต้องสนองความต้องการบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ใน 5 ปีข้างหน้าที่ต้องการกำลังคนเกือบ 500,000 คน หลังจากที่ สจล.เข้าร่วมโครงการนี้ พบว่าบัณฑิตที่จบมามีคุณภาพ พร้อมที่จะต่อยอดเปิดสอนในระดับประกาศนียบัตร และหลักสูตรระยะสั้นเพื่อเจาะกลุ่มผู้เรียนใหม่ๆ เช่น กลุ่มคนทำงานที่ต้องการเพิ่มศักยภาพของตน”นายสุชัชวีร์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image