เข้าชม ‘ซีอุย’ ไม่ขาดสาย แนะถอดป้าย ‘มนุษย์กินคน’ เพิ่มข้อมูล 2 ด้าน

สืบเนื่องจากกรณีที่มีการล่ารายชื่อ บนเว็บไซต์ change.org เพื่อให้นำร่างของซีอุย แซ่อึ้ง หรือที่รู้จักกันในนาม ‘มนุษย์กินคน’ ออก เพื่อคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และนำมาประกอบพิธีทางศาสนานั้น

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 16 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณชั้น 2 โซนพิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ สงกรานต์ นิยมเสน หรือพิพิธภัณฑ์ซีอุย อาคารอดุลยเดชวิกรม โรงพยาบาลศิริราช มีประชาชนเดินทางมาเข้าชมพิพิธภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กลุ่มวัยกลางคน วัยรุ่น และ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ รวมทั้งมารดาที่พาบุตรหลานมาเข้าชมพิพิธภัณฑ์

น.ส.ธรพชรพรรณ พูลศรี อายุ 19 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะดุริยางคศาสตร์ สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา กล่าวว่า วันนี้มาดูซีอุย โดยเพิ่งเคยมาชมพิพิธภัณฑ์นี้เป็นครั้งแรก ก่อนหน้านี้ได้ยินข่าวมาบ้างว่ามีคนถกเถียง และมีคนต้องการให้นำร่างซีอุยออกจากพิพิธภัณฑ์ เนื่องจากซีอุยไม่ได้เป็นคนทำความผิดหรือฆ่าเด็กตามที่ข่าวได้เสนอไป อย่างไรก็ตาม คิดว่าการนำร่างซีอุยจัดแสดงไว้เป็นไปเพื่อการศึกษา ไม่ได้คิดว่าเป็นการนำมาประจาน หรือทำอะไรที่ไม่ดี ส่วนตัวเคยได้ยินเรื่องราวของซีอุยทั้ง 2 มุมมอง ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็เคยได้ยินว่าซีอุยเป็นฆาตกรฆ่าเด็กมีทั้งหนังสารคดี และข่าว แต่ตอนนี้มีหลายคนบอกว่าอาจเป็นแค่แพะรับบาป ซึ่งส่วนตัวไม่ได้คิดเห็นไปทางไหน เพียงรับรู้ไว้ทั้ง 2 แนวทาง แต่รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ผ่านมานานแล้ว จึงไม่ต้องนำร่างออกจากพิพิธภัณฑ์ก็ได้ เพราะการที่เก็บไว้สามารถสร้างรายได้ก็สามารถมาสนับสนุนทางการแพทย์ได้ด้วย แต่ทางพิพิธภัณฑ์น่าจะให้ข้อมูลเพิ่มในมุมมองต่างๆ เนื่องจากเดิมมีแต่มุมมองเมื่อก่อนที่ค่อนข้างเก่า เขียนไว้ว่าตำรวจไปจับได้อย่างไร และซีอุยทำอะไรบ้าง

ด้าน น.ส. มรกต เดชพันธ์ อายุ 25 ปี ประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว กล่าวว่า ตนเดินทางมาจาก จ.สมุทรปราการ ตั้งใจมาชมพิพิธภัณฑ์กับเพื่อนเพื่อถ่ายวิดีโอเพื่อเก็บไว้เป็นความทรงจำร่วมกัน จึงเสนอให้มาพิพิธภัณฑ์ โดยเน้นพิพิธภัณฑ์ในกรุงเทพที่ที่มีความแปลก ไม่เหมือนใคร ซึ่ง รพ.ศิริราช มีความเหมาะสม และเพื่อนยังไม่เคยมาชม แต่ส่วนตัวเคยมาชม 1 ครั้ง

Advertisement

“ได้ยินกระแสข่าวเรื่องให้นำร่างซีอุยออกจากพิพิธภัณฑ์มาบ้าง ที่จริงถ้าตั้งไว้ในฐานะอาจารย์ใหญ่ ก็มีความเหมาะสม อาจจะเปลี่ยนประวัติให้เป็นประวัติจริงๆ เพราะเคยอ่านแต่ข้อมูลเก่า แต่มีคนบอกว่าข้อมูลเก่าคือข้อมูลเท็จที่ถูกบิดเบือนมาอีกที ถ้ามีการพิสูจน์ความจริงอีกครั้งอย่างแน่ชัด ก็ควรปรับเปลี่ยน หรือไม่ก็เอาป้ายที่เขียนว่าเขาเป็นฆาตกรต่อเนื่องออก ก็น่าจะดีกว่า และเน้นไปเรื่องการศึกษากายวิภาคแทน”

น.ส.ชมชนก ติวัฒนาสุข อายุ 25 ปี ประกอบอาชีพอิสระ กล่าวว่า ตนตั้งใจเดินทางเพื่อมาชมพิพิธภัณฑ์ซีอุย โดยเคยดูสารคดีมาก่อน บอกว่าคดีแรกซีอุยเป็นคนทำ คดีต่อไปเป็นคดีแพะ ส่วนคิดว่า ถ้าความจริงซีอุยไม่ได้ทำ ก็ไม่ยุติธรรมกับคนตาย รวมถึงญาติพี่น้อง

Advertisement

“ส่วนตัวคิดว่าประเด็นนี้ค่อนข้างลึก ตรงที่ว่ามันต้องกลับมาคิดว่าการทำงานของตำรวจไทย และกระบวนการยุติธรรมในอดีตเป็นอย่างไร ในนกรณีนี้เราไม่แน่ใจว่าซีอุยทำผิดจริงหรือไม่ ถ้าถามญาติแล้วนำไปฌาปนกิจได้ ก็คิดว่าจะเป็นการให้เกียรติผู้เสียชีวิต สำหรับเรื่องกายวิภาคก็คือกายวิภาคแต่อาจจะมีบางคนที่เมื่อเห็นร่างแล้วก็อาจจะคิดลบ ซึ่งส่วนตัวก็รู้สึกไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะเหมือนโดนประจานว่าฉันชื่อนี้ ฉันเคยทำผิดแบบนี้ ทั้งที่เรื่องมันจบไปแล้ว และเสียชีวิตไปแล้ว แทนที่จะให้คนมาเข้ามาชมเพื่อศึกษาร่างกาย แต่ในอีกมุมนึงกับการเป็นประจาน เช่นข้าวของส่วนตัวของคุณนวลฉวี ส่วนตัวก็รู้สึกกระทบกระเทือนจิตใจ เสื้อผ้าเป็นของส่วนตัว ถ้าไม่ได้รับอนุญาต ก็คิดว่าไม่ควรนำมาจัดแสดง เพราะอาจเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล” น.ส.ชมชนกกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางพิพิธภัณฑ์ แจ้งว่าไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ ทั้งภาพนิ่งและวีดิโอ รวมทั้งไม่สามารถเข้าไปทำข่าวภายในได้ จะต้องทำหนังสือขออนุญาตล่วงหน้า เป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน โดยทำหนังสือถึงคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา ซึ่งต้องแจ้งรายละเอียด ทั้้งจำนวนผู้เข้าชม วันและเวลา โดยทางพิพิธภัณฑ์ระบุว่าจะสะดวกอีกครั้งภายหลังจากที่คณะบดีเดินทางกลับมาจากภารกิจต่างประเทศ ในวัน 19 พ.ค. นี้

สำหรับแคมเปญล่ารายชื่อในเวปไซต์ change.org เพื่อนำร่างซีอุย ออกจากพิพิธภัณฑ์ศิริราช มีผู้เข้าร่วมลงชื่อสนับสนุนแล้ว 12,057 คน เมื่อเวลา 16.30 น.ของวันที่ 16 พ.ค. และยังเป็นที่ถกเถียงในโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image