‘สมเด็จพระสังฆราช’ ประทานพระสัมโมทนียกถาวิสาขบูชาโลก ‘ผู้มีสติรู้เท่าทันกาย ย่อมจะไม่พูดชั่ว และไม่กระทำชั่ว’

ผู้สื่ข่าวรายงานว่า เพจสำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความ พระราชกรณียกิจสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ความว่า เช้าวันพฤหัสบดี ที่ 16 พฤษภาคม 2562  สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จไปศูนย์ประชุมสหประชาชาติ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ทรงเปิดการประชุมวันวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ 16 เรื่อง สติ : จากวิถีธรรมสู่วิถีชีวิต โอกาสนี้ เจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช ประทานพระสัมโมทนียกถา ความตอนหนึ่งว่า “ในนามของคณะสงฆ์ไทย ขอต้อนรับท่านพระเถรานุเถระ ตลอดจนพุทธศาสนิกชนนานาชาติ ที่มาร่วมการประชุมชาวพุทธนานาชาติ เนื่องในเทศกาลวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ประจำพุทธศักราช 2562 ในวันนี้ ด้วยความปรารถนาดีอย่างยิ่ง

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งความตื่นรู้ ความตื่นที่หมายถึงนี้มิใช่ความตื่นเต้น ความตื่นตูม หรือความตื่นข่าว อันมีรากฐานมาจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง หากแต่เป็นความตื่นขึ้น จากความหลับใหลอยู่ในกิเลสนิทรา

ตามธรรมดาในเวลาที่บุคคลใดกำลังหลับสนิทอยู่ ย่อมไม่มีทางที่จะรู้สึกถึงรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส หรือแม้แต่ความคิดนึก ตราบจนเมื่อบุคคลนั้นตื่นขึ้นแล้ว ตาก็จะเริ่มเห็นรูป หูก็จะยินเสียง จมูกก็จะรู้กลิ่น ลิ้นก็จะลิ้มรส กายก็จะรู้สัมผัส และใจก็จะรู้ความคิดนึกที่เกิดขึ้น กล่าวกันตามภาษาทางโลกก็เรียกว่า บุคคลนั้นมีสติตื่นขึ้นมาจากความหลับ

อย่างไรก็ดี ‘สติ’ ในทางพระพุทธศาสนา มีความหมายลึกซึ้งยิ่งกว่าความรู้สึกตัวพื้นฐานเช่นที่กล่าวข้างต้น เพราะยังหมายถึงการรู้เท่าทันความปรุงแต่งทั้งปวง ที่เรียกว่า ‘สังขาร’ อันเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ ตามหลักการที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อีกด้วย

Advertisement

ความชั่ว ความเลวร้ายทั้งหลายในโลกนี้ ไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย หากมนุษย์มีสติรู้เท่าทันการเคลื่อนไหวของร่างกาย รู้เท่าทันอารมณ์ที่ปรุงแต่งจิต และรู้เท่าทันความคิดทั้งหลายว่าเป็นเหตุเป็นผลหรือไม่

เพราะฉะนั้น บุคคลผู้มีสติรู้เท่าทันกาย ย่อมจะไม่พูดชั่ว และไม่กระทำชั่ว สามารถรักษาตนอยู่ใน ‘ศีล’ ได้อย่างสมบูรณ์ เมื่อมีสติรู้เท่าทันจิต ก็จะมี ‘สมาธิ’ ตั้งมั่น ไม่ซัดส่ายหวั่นไหววุ่นวาย และเมื่อมีสติรู้เท่าทันถึงเหตุผลอย่างชัดเจน ‘ปัญญา’ ก็จะเกิดขึ้น เป็นเครื่องดับทุกข์ได้อย่างแท้จริง

สติจึงเป็น ‘ธรรมมีอุปการะมาก’ คือทำให้ตื่นจากความไม่รู้ เพียงนำมาใช้กับทางโลกก็ยังเกื้อกูลประโยชน์มหาศาล ทั้งต่อการทำงาน ความสัมพันธ์กับบุคคล การจัดระบบความคิด อีกทั้งยังทำให้ไม่มักโกรธ ไม่มัวเมา ไม่ซึมเศร้า ไม่รู้สึกกดดัน

Advertisement

และถ้าสั่งสมอบรมให้เจริญมากขึ้นจนเป็น ‘มหาสติ’ ก็จะได้ประโยชน์จากทางธรรม เกื้อกูลต่อการเห็นประจักษ์ความจริงของกายและจิต สามารถตื่นจากกิเลสนิทราได้อยู่ทุกเมื่อ สมดังพระพุทธภาษิตที่ว่า ‘สติ โลกสฺมิ ชาคโร’ ที่แปลว่า ‘สติเป็นเครื่องตื่นในโลก’ ทุกประการ

วันวิสาขบูชา เป็นอุดมสมัยที่ชาวพุทธทั้งหลายจักได้ใช้เป็นโอกาสเริ่มอบรมเจริญสติให้บังเกิดขึ้นอย่างจริงจัง สำหรับเป็นอุปกรณ์ในการพัฒนาตน และพัฒนาสังคม เป็นการเพิ่มพูนสันติภาพในโลกนี้ให้ไพบูลย์สืบไป”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image