กอปศ.ชงพัฒนาศึกษานิเทศก์เพิ่มศักยภาพร.ร.

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม  น.ส.ทิศนา แขมมณี  กรรมการคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมกอปศ. ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงข้อเสนอต่อรัฐบาลที่ยังขาดอยู่ โดย กอปศ.เห็นว่าศึกษานิเทศก์ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา แต่หลังจากเปลี่ยนระบบการศึกษาเมื่อปี 2542  ทำให้มีจำนวนศึกษานิเทศก์ลดลง และ ไม่ได้มีโอกาสทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ ส่วนใหญ่ไปทำงานโครงการตามนโยบาย ส่งผลให้คุณภาพการศึกษาลดลง เพราะครูไม่ได้รับการช่วยเหลือ ดังนั้น กอปศ.จึงอยากให้ศึกษานิเทศก์ กลับมามีความเข้มแข็งอีกครั้ง ให้มีจำนวนที่เพียงพอ และได้รับการพัฒนาและการสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยคณะอนุกรรมการครูและอาจารย์ ของ กอปศ. ได้ยกร่างสมรรถนะของศึกษานิเทศก์  ทั้งหมด 4 ด้าน 15 สมรรถนะย่อย ได้แก่ 1. เป็นผู้นำการเรียนรู้ 2.เป็นผู้นำด้านการคิดและการปฏิบัติตน 3.เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่เป้าหมายที่ท้าทาย และ 4.การสนับสนุนอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้  ซึ่งผู้ที่เป็นศึกษานิเทศก์ จะต้องเป็นครู ที่มีความโดดเด่น เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องมาก่อน  และได้รับการพัฒนามาตามลำดับ เช่น เป็นผู้ช่วยหัวหน้ากลุ่มสาระวิชา เป็นต้น ทั้งนี้  ปัจจุบันมีศึกษานิเทศก์ ประมาณ 5,000 คน ครึ่งหนึ่งอยู่ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อีกครึ่งหนึ่งอยู่ที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.)  ถือว่ามีจำนวนน้อยมาก  จริงๆแล้วโรงเรียนควรมีศึกษานิเทศก์ ประจำโรงเรียน โดยอาจจะให้ ศึกษานิเทศก์ 1 คน ดูแลโรงเรียน 5-10 โรงเรียน  เป็นต้น

ด้านนพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ กล่าวว่า กอปศ.ได้พิจารณาแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยนำสาระสำคัญในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ มาทบทวนความเข้าใจ โดยจะเสนอแนะในเชิงนโยบาย ว่า  ระดับนโยบายต้องกำหนดเรื่องนี้ออกมา โดยแนวทางการพัฒนาคุณภาพในอนาคตต้องเปิดกว้างกว่าเดิม  มีความหลากหลาย เหมาะสมกับระบบการศึกษา ระดับการศึกษา ประเภทและลักษณะของสถานศึกษานั้นๆ  หัวใจสำคัญต้องเริ่มต้นที่โรงเรียน ในการประกันคุณภาพของสถานศึกษาที่ต้องนำองค์ประกอบต่างๆมาทบทวนเพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และการประเมินคุณภาพ ซึ่งมีกลไกการประเมินระดับชาติจากส่วนกลางเป็นครั้งคราวตามความจำเป็น ไม่ใช่ประเมินทุกปี ทั้งนี้  สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา( สมศ.) และ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ต้องปรับวิธีการประเมินที่มุ่งเน้นให้มีการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง และสอดคล้องกับหลักสูตร ฐานสมรรถนะ อย่างไรก็ตาม ทั้ง กอปศ.และคณะกรรมการกฤษฏีกา เห็นตรงกันว่า วัฒนธรรมคุณภาพ เป็นหัวใจสำคัญ เรื่อง จิตวิญญาณความเป็นครู น้ำใจ และการคิดถึงผู้เรียนเป็นสำคัญ เขียนไว้ในกฎหมายไม่ได้แต่ต้องช่วยกันทำ ซึ่งจะทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้นเรื่อยๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image