‘สุเทพ’รับตน.เลขากพฐ.วันแรก เล็งโละนโยบายท็อปดาวน์ ฟังพื้นที่-ปฏิรูปการสอน

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม นายสุเทพ  ชิตยวงษ์  เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตนเข้ามารับตำแหน่งเลขาธิการกพฐ. เป็นวันแรก ซึ่งเมื่อนพ.ธีระเกียรติ  เจริญเศรษฐศิลป์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ( ศธ.) มีคำสั่งมาเช่นไรก็ต้องปฏิบัติตาม โดยการทำงานจากนี้ตั้งใจจะรับฟังผู้ที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ให้มาก เพราะเห็นชัดเจนแล้วว่า นโยบายแบบท็อปดาวน์ ที่สั่งจากข้างบนลงล่าง  โดยไม่มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มักจะไม่ประสบผลสำเร็จอย่างแท้จริง  ขณะเดียวกันยังได้มีการหารือกับนายบุญรักษ์  ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) เบื้องต้นเกี่ยว ความร่วมมือ พัฒนาความเชื่อมโยงการจัดการศึกษาโดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ลงนามความร่วมมือ ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) บูรณาการประสานการจัดการศึกษาระหว่าง 2 หน่วยงาน เพื่อที่จะเชื่อมโยงการศึกษาในทุกมิติ ทั้งด้านปริมาณในการรับสมัครผู้เรียนเข้าศึกษาต่อในสายวิชาชีพ และด้านคุณภาพ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาแก่นักเรียน นักศึกษา

นายสุเทพ กล่าวต่อว่า สำหรับการทำงานหลัก ๆ ที่จะเข้ามาดำเนินการในช่วงระยะเวลาที่เหลืออีก 5 เดือน ก่อนที่ตนจะเกษียณอายุราชการ มีอยู่ 3 กลุ่มหลัก ๆ คือ เดินหน้าสนับสนุนโครงการในพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเฉพาะโครงการจิตอาสา  ที่ต้องเร่งดำเนินการ ขณะเดียวกันยังมีงานที่ต่อทำต่อเนื่องจากนโยบายเดิม ทั้งการพัฒนาโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา  โรงเรียนคุณภาพประจำตำบล เป็นต้น  และเรื่องที่คิดไว้ในใจ ว่าจะทำในช่วงที่ตนมารับตำแหน่งเลขาธิการกพฐ. ซึ่งต้องทีการหารือกับโรงเรียน และผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) หลายเรื่อง อาทิ การปฏิรูปการเรียนการสอน  ที่เน้นห้องเรียนและครู ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการจัดการศึกษา ส่วนจะมีแนวทางอย่างไรนั้น คงไม่สามารถบอกได้ รอหารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก่อน

Advertisement

“สัปดาห์หน้าผมจะประชุมร่วมกับผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ เพื่อร่วมกันวิเคราะห์ภารกิจ สภาพปัญหา วางแผนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาซึ่งต่อไปการทำงานนั้น จะต้องยึดตามนี้ คือ ในระดับพื้นที่ ผอ.เขตพื้นที่ฯยึดโรงเรียนเป็นฐาน ผอ.โรงเรียนยึดห้องเรียนเป็นฐาน และครูผู้สอนยึดนักเรียนเป็นฐาน และจะต้องมีการสร้างศูนย์ข้อมูลการบริหารระดับโรงเรียนและระดับเขตพื้นที่ฯ เพราะการพัฒนาต่างๆต้องอาศัยข้อมูล เช่น การพัฒนาเด็กรายบุคคล การยกระดับคุณภาพห้องเรียน จะพัฒนาเช่นไรต้องมีฐานเดิมเพื่อประกอบการวางแผน ซึ่งผมก็จะให้เงินแก่เขตพื้นที่ฯนำไปดำเนินการ”นายสุเทพ กล่าว

นายสุเทพ กล่าวต่ออีกว่า  ส่วนกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมีข้อห่วงใยเรื่องการใช้โทรศัพท์มือถือและโซเชียลมากขึ้นทำให้เกิดปัญหาสมาธิสั้น อารมณ์ฉุนเฉียวง่ายนั้น สพฐ.จะหารือร่วมกับผู้อำนวยการโรงเรียนในการหาแนวทางป้องกันที่เหมาะสม ส่วนตัวมองว่าต้องมีการป้องปรามและส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้การใช้มือถือและโซเชียลอย่างเหมาะสม

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image