เจาะปัญหาทีแคส’62 เด็กลด-ที่นั่งเหลือ ถึงเวลามหา’ลัยปรับตัว!!

ผลการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือ ทีแคส ประจำปีการศึกษา 2562 ซึ่งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) แถลงการณ์คัดเลือกรอบ 1-4 ไปเมื่อเร็วๆ นี้

ข้อมูลน่าสนใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะรอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน และรอบที่ 4 แอดมิสชั่นส์ ซึ่งดำเนินการโดย ทปอ.ผลการคัดเลือกในรอบที่ 3 และรอบที่ 4 พบว่า คณะยอดฮิตยังเป็นสายสังคม เช่น บริหารธุรกิจ ภาษาต่างประเทศ เภสัชศาสตร์ เป็นต้น มีผู้สมัครเข้าเรียนมากกว่าสายวิทยาศาสตร์

ขณะที่คณะครุศาสตร์ และคณะนิเทศศาสตร์ คนเลือกเรียนน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ส่วนหนึ่งเด็กอาจเห็นข่าวการปิดตัวของสื่อต่างๆ ที่มีจำนวนมาก

ส่งสัญญาณชัดเจน หากมหาวิทยาลัยไม่ปรับตัว อาจมีปัญหาเรื่องหลักสูตร ซึ่งนอกจากจะต้องทันสมัยแล้ว ยังต้องสอดคล้องกับทิศทางของประเทศในปัจจุบัน !!

Advertisement

ไม่เช่นนั้น อาจไม่มีเด็กเลือกเรียน เห็นได้จากตัวเลขที่นั่งในมหาวิทยาลัยกว่า 70 แห่ง ที่เปิดรับทีแคส 5 รอบ มีที่นั่งมากถึง 445,364 ที่นั่ง ใน 91,340 สาขา

ขณะนี้ได้คัดเลือกไปแล้ว 3 รอบ ยืนยันสิทธิแล้ว 151,806 คน โดยทีแคสรอบที่ 1 แฟ้มสะสมงาน สมัคร 134,723 คน ยืนยันสิทธิ 58,364 คน คิดเป็น 44.85% รอบที่ 2 โควต้า ยืนยันสิทธิ 51,213 คน คิดเป็น 51.71% รอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน ยืนยันสิทธิ 42,229 คน คิดเป็น 44%

ส่วนรอบที่ 4 มีจำนวนที่นั่งเปิดรับ 91,340 ที่นั่ง มีผู้สมัคร 76,408 คน บวกลบแล้วยังมีที่นั่งเหลืออีก 293,558 ที่นั่ง ตัวเลขนี้ยังไม่รวมกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) และมหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่ง ที่ไม่ได้เข้าร่วมกับ ทปอ.อีกมาก

Advertisement

นอกจากนี้ ยังพบคณะ/ สาขาม้ามืด ที่พลิกกลับมาเป็นที่นิยมในรอบที่ 3 โดย หลักสูตรที่มีผู้สมัครมากที่สุด หรือได้รับความนิยมมากที่สุด 5 อันดับแรก มีดังนี้ อันดับที่ 1 คณะบริหารธุรกิจ สาขาการเงิน (ภาคปกติ) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) สมัคร 3,151 คน รับ 30 คน อันดับที่ 2 คณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการตลาด (ภาคปกติ) มก. สมัคร 2,723 คน รับ 30 คน อันดับที่ 3 คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ (ภาคปกติ) มก. สมัคร 2,620 คน รับ 25 คน

อันดับที่ 4 คณะเศรษฐศาสตร์ สาขาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) สมัคร 2,599 คน รับ 240 คน และ อันดับที่ 5 คณะพยาบาลศาสตร์ หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) สมัคร 2,179 คน รับ 65 คน

ส่วน หลักสูตรที่มีอัตราการแข่งขันมากที่สุด 5 อันดับแรก ดังนี้ อันดับที่ 1 คณะสังคมศาสตร์ สาขารัฐศาสตร์ (ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ) (ภาคปกติ) มก. มีผู้สมัคร 650 คน รับ 2 คน อัตราแข่งขัน 1 ต่อ 325 อันดับที่ 2 คณะสังคมศาสตร์ สาขาวิชารัฐศาสตร์ (การปกครองและการบริหารจัดการท้องถิ่น) (ภาคปกติ) มก. สมัคร 477 คน รับ 2 คน อัตราแข่งขัน 1 ต่อ 238.50 อันดับ 3 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) สมัคร 927 คน รับ 4 คน อัตราแข่งขัน 1 ต่อ 231.75

อันดับ 4 วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม สาขาวิชาภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล (หลักสูตร 2 ภาษา) วิชาเอกการออกแบบเพื่องานภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล มศว สมัคร 1,009 รับ 5 คน อัตราแข่งขัน 1 ต่อ 201.80 และ อันดับ 5 คณะมนุษยศาสตร์ สาขานิเทศศาสตร์ (ภาคปกติ) มก. สมัคร 1,680 คน รับ 10 คน อัตราแข่งขัน 1 ต่อ 168

ขณะที่ รอบที่ 4 ซึ่งอยู่ระหว่างประมวลผล และเตรียมจะประกาศผลการคัดเลือกวันที่ 29 พฤษภาคมนี้ พบว่า หลักสูตรที่มีจำนวนผู้สมัครมากที่สุด 5 อันดับแรก อันดับที่ 1 คณะพยาบาลศาสตร์ สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) สมัคร 1,188 คน รับ 96 คน อันดับที่ 2 คณะพยาบาลศาสตร์ หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต ภาคปกติ มหาวิทยาลัยบูรพา (มบ.) สมัคร 1,128 คน รับ 35 คน

อันดับที่ 3 คณะสหเวชศาสตร์ สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมัคร 1,178 คน รับ 110 คน อันดับที่ 4 คณะนิติศาสตร์ พื้นฐานวิทยาศาสตร์ มธ. สมัคร 1,043 คน รับ 97 คน และ อันดับที่ 5 คณะมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ ภาคปกติ (มบ.) สมัคร 975 คน รับ 75 คน

ส่วน หลักสูตรที่มีอัตราการแข่งขันมากที่สุด 5 อันดับแรก มีดังนี้ อันดับที่ 1 คณะทันตแพทยศาสตร์ หลักสูตรทันตแพทยศาสตร์บัณฑิต มน. มีผู้สมัคร 217 คน รับ 1 คน อัตราแข่งขัน 1 ต่อ 217 อันดับที่ 2 คณะแพทยศาสตร์ หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต มน. สมัคร 192 คน รับ 1 คน อัตราแข่งขัน 1 ต่อ 192

อันดับที่ 3 คณะแพทยศาสตร์ หลักสูตรแพทยศาตรบัณฑิต ภาคปกติ มบ. สมัคร 275 คน รับ 2 คน อัตราแข่งขัน 1 ต่อ 137.50 อันดับที่ 4 คณะครุศาสตร์ การศึกษาปฐมวัย ม.อ. สมัคร 264 รับ 2 คน อัตราแข่งขัน 1 ต่อ 132 และ อันดับที่ 5 คณะทันตแพทยศาสตร์ หลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต มศว สมัคร 447 คน รับ 4 คน อัตราแข่งขัน 1 ต่อ 111.75

พีระพงศ์ ตริยเจริญ ผู้ช่วยเลขาธิการ ทปอ.โต้โผหลักวิเคราะห์สาเหตุที่นั่งเหลือจำนวนมาก และทิศทางการเลือกเรียนของเด็กไว้น่าสนใจว่า นอกจากผลกระทบของอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่องแล้ว ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะปีนี้มีนักเรียนที่สมัครรอบที่ 1 และรอบที่ 3 ตัดสินใจสละสิทธิ เลือกมาสมัครในรอบที่ 3 และรอบที่ 4 มากกว่าปีที่ผ่านมา ส่งให้มหาวิทยาลัยแก้เกมโดยเพิ่มจำนวนรับในรอบที่ 3 และที่ 4

ขณะที่มหาวิทยาลัยดังยังคงแข่งกันเอง หลักสูตรในที่ตั้ง แข่งกับวิทยาเขต แต่เด็กส่วนใหญ่ต้องการเรียนในที่ตั้งมากกว่า ส่งผลให้วิทยาเขตที่เปิดรับสาขาเดียวกับในที่ตั้ง มีที่นั่งเหลือบาน !!

เมื่อวิเคราะห์รายละเอียดแบบเจาะลึกลงไป พบว่า รอบที่ 4 สาขาที่มีผู้สมัครจำนวนมาก คือ สายวิทยาศาสตร์สุขภาพ ส่วนรอบที่ 3 เป็นสายสังคมศาสตร์ เพราะมีกลุ่มเด็กเก่งที่รู้ตัวว่าไม่สามารถสมัครคัดเลือกในกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท) มาสมัคร ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะสอบติด และพบว่าจำนวนมากเลือกสละสิทธิ เพื่อลองสมัครรอบต่อไป

ดังนั้น เด็กที่ไม่ค่อยเก่ง หรือเรียนระดับกลาง จะแห่เข้าไปสมัครรอบที่ 4 เพราะเกณฑ์การคัดเลือกมีความยืดหยุ่นค่อนข้างมาก รวมถึง ใช้คะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) และเกรดเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย (GPAX) มาเป็นองค์ประกอบการพิจารณา ต่างกับรอบที่ 3 ที่ใช้คะแนนความถนัดทั่วไป (GAT) คะแนนความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ (PAT) วิชาสามัญ 9 วิชา ตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดเท่านั้น ทำให้เด็กส่วนใหญ่เลือกมาลุ้นรอบที่ 4

ทั้งนี้ หากดูพฤติกรรมของเด็ก จะเลือกเรียนสาขาตามกระแสที่พูดถึงในโซเชียลต่างๆ กลายเป็นตัวกระตุ้นสำคัญที่ทำให้เทรนด์การเลือกเรียนมาทางสายสังคมมากกว่าสายวิทยาศาสตร์ และการเกษตร ซึ่งเป็นค่านิยมต่อเนื่องหลายปีแล้ว สวนทางกับความต้องการของประเทศ

พีระพงศ์ ทิ้งท้ายว่า จากนี้ ทปอ.จะตั้งทีมวิเคราะห์การเลือกสาขาเรียนของนักเรียน ซึ่งมีผลต่อการกำหนดทิศทางการผลิตบัณฑิต ต้องสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ และสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ที่ล่าสุด นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ย้ำชัดว่า ต้องเดินตามทิศทางการพัฒนาประเทศ หากหลุดกรอบที่วางไว้ ก็อาจไม่ได้งบประมาณ

สัญญาณชัดเจนยิ่งขึ้น!! มหาวิทยาลัยต้องปรับตัว เปิดสอนในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ และทิศทางสังคม ขณะเดียวกันสาขาใดที่ไม่อินเทรนด์ เก่าแก่ ล้าสมัย ก็อาจต้องปิด ยุบเลิกไป เพราะหากแบกไว้ในวันที่เด็กลดลง ที่นั่งในมหาวิทยาลัยมากเกินกว่าจำนวนเด็กเข้าเรียนในแต่ละปี

สุดท้ายแล้ว มหาวิทยาลัยอาจถึงขั้นต้องปิดตัว !!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image