วิพากษ์ แผนการปฏิรูปการศึกษาไทยฉบับ กอปศ. : โดย เพชร เหมือนพันธุ์

ผลงานของคณะกรรมการอิสระปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ชุดของศาสตราจารย์กิติคุณนายแพทย์ จรัส สุวรรณเวลา และคณะ ขณะนี้ได้จัดทำพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (พ.ร.บ.) ที่กลายร่างมาเป็นพระราชกำหนดการศึกษาแห่งชาติ (พ.ร.ก.) ได้ผ่านมติคณะรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. มาแล้ว พร้อมกับแผนปฏิรูปการศึกษา อีก 1 ฉบับ รอเพียงว่า รัฐบาลใหม่ที่มี สมาชิกสภาผู้แทนฯเข้าไปทำงานจะหยิบขึ้นมาใช้เมื่อไหร่หรือไม่เท่านั้น เมื่อมองเจาะลึกเข้าไปในรายละเอียดของเนื้อหาเอกสารทั้งสองฉบับ ยังไม่พบว่ามีตัวยาตัวใดที่จะมารักษาโรคเรื้อรังของประเทศไทยที่เป็นคนป่วยแห่งเอเชีย (The Sick Man of Asia) ให้หายขาดได้

ผู้เขียนเคยได้รับฟังข้อบรรยายสรุปถึงปัญหาการศึกษาไทยที่คณะกรรมการอิสระได้สรุปไว้แล้วท่าน ศ.นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา นำมาบรรยาย เห็นว่าท่านรู้แจ้งได้ละเอียดดีมากถึงปัญหาของการศึกษาไทย แต่พอจัดทำเอกสารการแก้ไขกลับเป็นคนละเรื่อง ผู้เขียนเห็นว่าเป็นการแก้ไม่ถูกจุด เป็นการให้ยารวม หรือเป็นการผ่าตัดไปทุกส่วนของร่างกายทั้งๆ ที่บางแห่งไม่มีอาการป่วย จึงเห็นท่าว่าจะไม่รอด อาจตายเพราะการรักษาที่ไม่เหมาะสมนี้ได้

คราวที่แล้วผู้เขียนได้วิพากษ์ พ.ร.ก.การศึกษารายมาตรา จำนวน 103 มาตรา ลงใน มติชนรายวัน ประจำวันที่ 21, 22 พฤษภาคม 2562 แล้ว มองว่า เอกสาร พ.ร.ก. ทั้ง 103 มาตรา เป็นยาขนานแรกที่คณะกรรมการอิสระปฏิรูปการศึกษาสร้างขึ้นมา เป็นการให้ยาพาราฯ เพื่อรักษาอาการไข้ธรรมดาเท่านั้น ยังลงไปไม่ถึงตัวปัญหาที่เป็นสาเหตุแห่งการป่วยเรื้อรังทางการศึกษาไทยได้แท้จริง

ยาขนานที่สอง คือแผนปฏิรูปการศึกษาที่ กอปศ. จัดทำขึ้น มี 7 ด้าน ท่านผู้อ่านรองหันไปดูแผนปฏิรูปการศึกษาทั้ง 7 ด้านของ กอปศ. อีกครั้ง เพื่อวิเคราะห์ว่ามีตัวยาในข้อใดที่จะช่วยเยียวยารักษาวิกฤตได้จริง ดังนี้

Advertisement

1.ด้านการปฏิรูประบบการศึกษาและการเรียนรู้โดยรวมของประเทศ โดย พ.ร.ก.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (มีกฎหมายมากกว่า 100 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา)

2.ด้านการปฏิรูปการพัฒนาเด็กเล็กและเด็กก่อนวัยเรียน

3.ด้านการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

Advertisement

4.ด้านการปฏิรูปกลไกระบบการผลิต คัดกรอง และพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์

5.ด้านการปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21

6.ด้านการปรับโครงสร้างของหน่วยงานในระบบการศึกษาเพื่อบรรลุเป้าหมาย ในการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอน และ

7.ด้านการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้โดยพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล (Digital for Education and Learning)

ปัญหาความล้มเหลวของการศึกษาไทยที่แท้จริง ที่ ครู ผู้บริหารโรงเรียน ได้รู้ ได้เห็น ได้ประสบพบเจอ มาตลอดระยะเวลาที่ยาวนาน ที่เป็นปัญหาที่ไม่อาจสามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง ไม่สามารถแก้ไขได้ในระดับโรงเรียน จำต้องให้รัฐบาลหรือกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้นเป็นผู้แก้ไข มีอยู่เพียง 5 สาเหตุเท่านั้น ดังนี้

1.หลักสูตรเนื้อหารายวิชา ทั้งวิชาแกน วิชาเลือก วิชาเสริม วิชากิจกรรม ที่บรรจุไว้ในหลักสูตรมีมากมายเกินความจำเป็น ศาสตร์หรือความรู้ ที่จัดไว้ในหลักสูตรผู้เรียนจะต้องมาเรียนรู้จากการสอนของครูในห้องเรียนเท่านั้น

2.วิธีการสอนของครูที่ยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร ส่วนหนึ่งยังเป็นประเภท Talk and Chalk อันมีสาเหตุมาจากหลายปัญหาเช่น มีครูไม่ครบชั้น ไม่ครบรายวิชา ในโรงเรียนขนาดเล็ก เด็ก อนุบาลถึง ป.6 มีครู 5-6 คน ครูคนเดียวสอนหลายชั้นหลายระดับ

3.กิจกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนที่ยังรอความรู้ อ้าปากเปิดหูรอการป้อนความรู้จากครู ไม่มีโอกาสได้ลงสัมผัสโลกของการปฏิบัติงานจริง เรียนรู้แต่เพียงภาคทฤษฎี ขาดการได้ลงมือปฏิบัติภาคสนาม ไม่สร้างนิสัยให้แสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง อ่านหนังสือแต่ละวันไม่ถึง 8 บรรทัด ในรอบปีอ่านหนังสือจบไม่ถึงเล่ม

4.การวัดผลการศึกษาที่ไม่ได้สร้างความกดดัน วิตกกังวลต่อการผลการสอบ ทำให้นักเรียนขาดความมุ่งมั่น ขาดความคิดแข่งขัน ขาดความเคร่งครัดในการเรียน ไม่สร้างความรู้สึกในการแข่งขันกับตนเองและแข่งขันกันเพื่อนร่วมชั้นด้วยกัน เพราะเด็กไทยสอบอย่างไรก็ไม่เคยตก ไม่ต้องเรียนซ้ำ ระเบียบการวัดประเมินผลที่ล้าสมัย ประเทศที่เขาเจริญแล้วไม่ทำกัน

5.ปัจจัยจากภายนอกที่เข้าไปก่อปัญหาให้กับครูกับผู้บริหารโรงเรียนมากเกินความจำเป็น เช่น การประเมินภายนอกภายใน การสอบวัดผลโอเน็ต การออกระเบียบว่าด้วยการจัดทำเอกสารทางวิชาการเพื่อเลื่อนวิทยฐานะ การจัดประชุมสัมมนาที่ดึงครูออกจากโรงเรียนโดยไม่มีความจำเป็น

ทั้ง 5 สาเหตุนี้คือ ตัวมะเร็งร้าย ที่กัดกร่อนคุณภาพการศึกษาไทย ที่ครูผู้สอนในโรงเรียนรู้ แต่หมอมือดีที่มารักษาไม่รู้ ถ้าจะผ่าตัดต้องจัดการกับต้นเหตุของปัญหาทั้ง 5 นี้ ไม่ใช่ผ่าตัดทั้งระบบ ผ่าตัดทั้งกระทรวง ผ่าแล้วผ่าอีก อาการก็ยังไม่หาย

ปัญหาที่รัฐทุ่มงบประมาณลงไปในกระทรวงศึกษาฯ ที่ไม่มีผลตอบรับเชิงคุณภาพของผู้เรียน คือเงินค่าวิทยฐานะที่ไม่ตอบโจทย์ ครูได้เลื่อนวิทยฐานะสูงขึ้นแต่เด็กนักเรียนโง่ อ่านหนังสือยังไม่คล่อง คิดเลขยังไม่ออก มันคือผลของการออกระเบียบการจัดทำผลงานวิชาการที่ผิดพลาด ในการจัดทำผลงานทางวิชาการที่ไปลอกเลียนแบบการประเมินอาจารย์มหาวิทยาลัยมา มีอย่างที่ไหนใช้ระเบียบการประเมิน ผศ. รศ. ศ. ของอาจารย์มหาวิทยาลัยมาประเมินครูเพื่อเลื่อนวิทยฐานะ ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานต้องประเมินผลลัพธ์ที่ตัวเด็กจึงจะได้คำตอบว่าครูสอนดี ในมหาวิทยาลัยอาจารย์เขาสอนสัปดาห์ละ 5-10 คาบต่อสัปดาห์แล้วก็มีหน้าที่ทำงานวิจัย ส่วนครูในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเขาสอนสัปดาห์ละ 20-30 คาบ ต่อสัปดาห์ไม่มีเวลามาทำงานวิจัย เมื่อออกแบบมาผิด จะไปโทษครูไม่ได้ ต้องโทษคนที่ออกแบบให้มารับผิดชอบ

แผนด้านการปฏิรูปการศึกษาที่ออกแบบมาโดย กอปศ. โดยยึดแนวทางของ พ.ร.ก.การศึกษาแห่งชาติ 2562 เมื่อเจาะลึกเข้าไปในเนื้อหาของแผนแล้วก็ยังมองไม่เห็นว่าจะปฏิรูปการศึกษาได้อย่างไร แผนด้านการปฏิรูปการศึกษาที่จัดทำขึ้นมีความยาวกว่า 200 หน้า สรุปแล้วมีทั้งหมด 7 ประเด็น มี คำตอบที่น่าจะใกล้เคียงอาการป่วยมากที่สุดอยู่ด้านเดียวคือ อยู่ในประเด็นที่ 5 ของแผนเท่านั้น

ในประเด็นที่ 5.กล่าวว่า “การปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนและหลักสูตรเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21” เมื่อเปิดอ่านต่อไปพบคำขยายความไว้ว่า “จัดทำหลักสูตรแกนกลางให้เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะศตวรรษที่ 21 รวมทั้งการประเมินผลการเรียนและผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ กรอบสมรรถนะ ประกอบด้วย สร้างคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ เชี่ยวชาญตามความถนัด มีความรับผิดชอบ มีคุณลักษณะที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ การทำงานและการใช้ชีวิต” ให้มีสถาบันหลักสูตรและการเรียนรู้แห่งชาติ ส่วนสาระอื่นๆ ในอีก 6 ด้านนั้นล้วนห่างไกลจากตัวปัญหา

ดูแผนปฏิรูปการศึกษาทั้ง 7 ด้านของ กอปศ. อีกครั้ง ดังนี้ 1.ด้านการปฏิรูประบบการศึกษาและการเรียนรู้โดยรวมของประเทศ โดย พ.ร.ก.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2.ด้านการปฏิรูปการพัฒนาเด็กเล็กและเด็กก่อนวัยเรียน 3.ด้านการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 4.ด้านการปฏิรูปกลไกลระบบการผลิต คัดกรอง และพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ 5.ด้านการปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 6.ด้านการปรับโครงสร้างของหน่วยงานในระบบการศึกษาเพื่อบรรลุเป้าหมาย ในการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอน และ 7.ด้านการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้โดยพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล (Digital for Education and Learning )

นี้คือยาชุดที่สอง ที่ กอปศ. จัดไว้ให้ รัฐบาลชุดต่อไปนำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อจะใช้ผ่าตัดโรคมะเร็งทางการศึกษาไทยในครั้งนี้ มีอยู่ด้วยกันถึง 7 ด้าน เมื่อให้ยาไปทั้ง 7 ด้านนี้แล้ว ท่าน กอปศ. เชื่อว่าโรควิกฤตทางคุณภาพการศึกษาหรือของอาการป่วยจะหายขาด มีการกำหนดวงเงินงบประมาณที่จะใช้รักษาอาการครั้งหนี้หลายพันล้าน (มีรายละเอียดในแผนปฏิรูป)

ปกตินักปฏิรูปมักจะแก้ปัญหาแล้วเอาผลลัพธ์เป็นฐาน (Result Base) ส่วนนักปฏิบัติเข้าจะแก้ปัญหาโดยเอาตัวปัญหาเป็นฐาน (Problem Base) เอาตัวปัญหาเป็นที่ตั้งแล้วแก้ตรงจุดนั้น การผ่าตัดสมัยใหม่ เขาผ่าตัดโดยเปิดปากแผลให้เล็กที่สุด ใช้เครื่องมือแพทย์ที่มีประสิทธิภาพที่สุด จะไม่เปิดแผลให้ใหญ่โตเช่นสมัยโบราณ

ข้อเสนอแผนปฏิรูปทั้ง 7 ด้าน จึงเป็นการผ่าตัดใหญ่เปิดแผลกว้างผ่าตัดเสร็จแล้วแผลหายยาก

ปัจจุบันนี้มีกลุ่มบุคคลที่มีอาชีพครูจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.ก.การศึกษาฉบับนี้โดยเฉพาะแนวทางการปฏิรูปที่ไม่เป็นไปตามรูปแบบสากลนิยม เปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ไม่เป็นปัญหา ตัวปัญหากลับไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ยิ่งพอมาเห็นแผนปฏิรูปการศึกษาแล้วยิ่งน่าเป็นห่วง แผนปฏิรูปการศึกษาที่มีความหนามากกว่า 200 หน้า มีรายละเอียดมากมายที่ยังห่างไกลตัวปัญหา

คุณโจน จันได ชายไทยชาวยโสธร ที่ฝากไว้บนยูทูบว่า เรียนหนังสือในระบบโรงเรียนมา 20 ปี จบออกมาแล้วทำงานไม่เป็น เขาไม่มีความเชื่อถือในระบบการศึกษาไทยแล้ว และขณะนี้มีกลุ่มบุคคลที่มีฐานะดี เขาไม่ส่งลูกเข้าเรียนในโรงเรียนของไทย เขาสอนกันเองที่บ้านเรียกว่า Home School คุณโจน จันได ก็อยู่ในกลุ่มนี้

ประเทศไทย ณ วันนี้ เราคือคนป่วยแห่งเอเชีย (The Sick Man of Asia) สาเหตุอาการป่วยใหญ่ที่ฉุดไทยให้ถดถอยมีอยู่ 3 ประการคือ

1.อาการป่วยทางเศรษฐกิจ (Economic Crisis) GDP ในรอบปี โตเพียง 2-3% ขณะที่เพื่อนบ้านในอาเซียนโต 6-7% 2.อาการป่วยทางการเมือง (Political Crisis) เรามีรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ทำขึ้นเพื่อพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งโดยเฉพาะไม่เป็นสากล 3.อาการป่วยทางการศึกษา (Education Crisis) คะแนนผลการสอบในประเทศ O-NET ตกทุกรายวิชา ผลการสอบแข่งขันในระดับโลก PISA อยู่ท้ายสุดของอาเซียน

การปฏิรูปการศึกษาไทย จึงเหมือนเดินเรือหลงทางอยู่กลางอ่าวลึก วนเวียนอยู่กับที่ หนีไม่พ้นปากอ่าว แล้วจะไปถึงเป้าหมายขุมทรัพย์สุดขอบฟ้าได้อย่างไร วังเวง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image