นักวิชาการจี้ยืดหยุ่นเวลาขอ ‘ผศ. -รศ.’ ห่วงเกณฑ์เข้มอาจารย์เครียด

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่นายโสรัจจ์ หงส์ลดารมภ์ อาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Soraj Hongladarom ด้วยข้อความระบุว่า อาจารย์ที่ทำ ผศ. รศ. ไม่ทัน ต้องออกจากงาน รวมกัน 5 ปีถึงตอนนี้มีราวๆ 30 คนนั้น เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับข้อบังคับของแต่ละมหาวิทยาลัย ทางอว. หรือสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เดิม ไม่ได้มีการกำหนด ข้อบังคับหรือระยะเวลาที่ตายตัว แต่เป็นลักษณะของการเชิญชวน ให้อาจารย์พัฒนาตัวเอง โดยสร้างงานวิจัย ทำผลงานทางวิชาการ ซึ่งคณะต้นสังกัดจะต้องมีส่วนเข้ามาสนับสนุนในส่วนนี้ด้วย ดังนั้นอนาคตคงไม่มีการปรับแก้ระเบียบใดที่เกี่ยวข้อง เพราะเป็นอำนาจของมหาวิทยาลัยโดยตรง

นายฤๅเดช เกิดวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา(มร.สส.) กล่าวว่า เชื่อว่าปัญหานี้มีทุกแห่ง โดยในส่วนของมร.สส. กำหนดว่า ภายใน 5 ปีอาจารย์จะต้องพัฒนาตนเอง มีผลตำแหน่งทางวิชาการ โดยการทำวิจัย สร้างนวัตกรรม เขียนตำรา ซึ่งยอมรับว่า ที่ผ่านมามีอาจารย์จำนวนหนึ่ง ไม่สามารถดำเนินการได้ตามหลักเกณฑ์ ทั้งนี้มหาวิทยาลัยไม่ได้ให้ออกทันที แต่จะนำรายชื่อเสนอให้สภามหาวิทยาลัยพิจารณา ส่วนใหญ่จะได้ต่ออายุไปอีก 2 ปี ระหว่างนี้ มีโครงการช่วยเหลือให้คำปรึกษาอาจารย์เร่งทำผลงาน เพื่อเข้าสู่ตำแหน่งทาวิชาการให้ได้ หากไม่ได้จริง ๆ ก็คงต้องยกเลิกสัญญาจ้าง เพราะเวลา 7 ปีหากไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้ก็ถือว่าแย่มากแล้ว

“การกำหนดให้อาจารย์ ต้องทำผลงาน เพื่อเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ เป็นเรื่องดี กระตุ้นให้อาจารย์ทำวิจัย สร้างนวัตกรรม เพื่อพัฒนาตัวเอง พัฒนาการเรียนการสอน และพัฒนาประเทศ โดยในส่วนของมร.สส. มีอาจารย์อยู่ประมาณ 1,000 คน มีตำแหน่งทางวิชาการแล้ว ประมาณ 300 คน ที่เหลืออยู่ระหว่างเสนอผลงาน และยังไม่ครบกำหนดที่ต้องทำผลงาน ” นายฤๅเดช กล่าว

น.ท.สุมิตร สุวรรณ รองคณบดีฝ่ายบริหารคณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวว่า เท่าที่ทราบข้อมูลทางมก. ยังไม่ถึงขั้นให้อาจารย์ที่ไม่สามารถเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการได้ ต้องออกจากงาน โดยปีนี้มีอาจารย์ที่ครบกำหนดยื่นผลงานทางวิชาการ ประมาณ 70-80 คน หากไม่ผ่านยังมีเวลาพัฒนาตัวเองอีก 2 ปี ซึ่งการกำหนดให้อาจารย์เข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ ให้ได้ภายใน 5 ปี มีข้อดี คือ อาจารย์ มีความก้าวหน้าในการทำงาน นักศึกษา ได้อ่านตำราจากอาจารย์ผู้สอนโดยตรง และสามารถนำงานวิจัยที่ได้ไปใช้ในการพัฒนาประเทศ ขณะที่ข้อเสีย หากกำหนดหลักเกณฑ์เข้มงวด หรือตึงเกินไป อาจทำให้อาจารย์เกิดความกดดัน บางหลักสูตรต้องปิดตัวเพราะไม่มีอาจารย์ผู้สอน โดยเฉพาะสาขาใหม่ ๆ ที่ขาดแคลน ที่มีคนจบน้อย ทั้งนี้การที่อาจารย์ ทำผลงานเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการไม่ได้ มาจากหลายสาเหตุ อาทิ ภาระงานสอนมาก เป็นสาขาขาดแคลนทำให้ไม่มีคนอ่านผลงานวิชาการ วิธีแก้ไขคือ อยากให้ขยายเวลา หรือเพิ่มช่องทางจากเดิม ที่กำหนดให้ทำวิชา และเขียนตำรา ก็อาจยืดหยุ่นให้เขียนตำรา 2 เล่ม สามมรถนำมาขอเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการได้

Advertisement

“ ขณะเดียวกัน โดยเพิ่มแรงจูงใจ โดยเพิ่มเงินประจำตำแหน่งให้เท่ากับข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งไม่บังคับให้ต้องทำผลงานเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งทาวิชาการ แต่หากทำได้ จะได้รับเงินประจำตำแหน่ง 2 เท่าของเงินเดือน ขณะที่อาจารย์ที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย จะได้เพียง 1 เท่า ซึ่งหากจะทำตรงนี้จะต้องไปปรับแก้กฎหมายกระทรวงการคลัง (กค.) เป็นอำนาจรัฐมนตรีว่าการอว. พิจารณา “น.ท.สุมิตรกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image