นักโบราณฯ เปิดชื่อพืชพบในเรือพนมสุรินทร์ 1,200 ปี คอลัมนิสต์ดังคว้าปรุงเมนูเด็ด คนแห่ชิมแน่น (คลิป)

คึกคักอย่างยิ่ง สำหรับงาน Talk & Taste หัวข้อ “พบพันธุ์พืชอะไรในเรือพนมสุรินทร์” โดย ณัฎฐา ชื่นวัฒนา นักโบราณพฤกษคดีคนเดียวในไทย และนักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยโทรอนโต เมื่อช่วงบ่ายวันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา ณ มิวเซียมสยาม ท่าเตียน กรุงเทพฯ

บรรยากาศในงานมีผู้เข้าร่วมอย่างคึกคักจากกลุ่มคนหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นนักโบราณคดี นักพฤกษศาสตร์ นักวิชาการสาขาต่างๆ รวมถึงประชาชนทั่วไปที่ร่วมลงทะเบียนจองที่นั่งล่วงหน้าจนที่นั่งเต็ม โดยจำนวนหนึ่งเดินทางมาโดยไม่ได้ลงทะเบียนไว้ แต่ขอเข้าร่วมฟังบรรยายด้วย

จากซ้าย ผศ.ดร. ยุกติ มุกดาวิจิตร, กฤช เหลือลมัย และณัฎฐา ชื่นวัฒนา

ณัฎฐา เริ่มต้นการบรรยายด้วยการกล่าวถึงความหมายและบทบาทหน้าที่ของนักโบราณพฤกษคดี หรือ archaeobotany ซึ่งมาจากคำว่า Archaeology + botany หากแปลตรงตัวคือ โบราณพฤกษศาสตร์ แต่เนื่องจากไปซ้ำกับชื่อวิชาหนึ่งซึ่งเป็นการศึกษาเรื่องพืชทางธรณีวิทยา คือ Paleobotany จึงใช้คำว่า โบราณพฤกษคดี แทน เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน

“นักโบราณพฤกษคดี ศึกษาขยะสดในสมัยโบราณ ละอองเรณูโบราณ ดูว่าคนโบราณกินอะไร พืชแถวนี้ไม่ได้อยู่แถวบ้าน ทำไมเขาต้องไปหามา ที่ผ่านมาเวลาเราตีความทางโบราณคดี อย่างบ้านเชียง เราไม่รู้เลยว่าเขากิน อยู่ใช้ชีวิตกันอย่างไร สมมติว่าทุกท่านเดินทางไปไกล ย้ายถิ่นที่อยู่ ต้องดูก่อนเลยว่ามีที่กินไหม มีของกินไหม แต่ไม่รู้ทำไม เรื่องกินเป็นเรื่องสุดท้ายที่นักโบราณคดีส่วนใหญ่จะนึกถึง

Advertisement

องค์ความรู้ด้านโบราณพฤกษคดีในไทย น้อยมาก เราไม่ค่อยเข้าใจเรื่องนี้เท่าไหร่ ไม่มีนักโบราณคดีศึกษาด้านนี้ ลักษณะการจัดการความรู้ของเราไม่คิดว่ามันสำคัญ ถ้าไปดูหนังสือประวัติโบราณคดีรุ่นก่อนๆ จะมีการตีความโบราณวัตถุแน่นมาก ตีความโบราณสถาน และหลักฐานทางลายลักษณ์อักษรแน่นมาก แต่อะไรที่นอกเหนือจากนั้นไม่ค่อยมี อาจเพราะไม่ทราบว่าทำได้ เพราะเคยคุยกับนักโบราณคดีไทยหลายคนว่า ทำไมไม่ลองเอาดินมาร่อน อาจเจอเศษพืชได้ การที่มองไม่เห็น ไม่ได้หมายว่าไม่มี ต้องหาก่อน เขาบอกว่า ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อน เศษพืชไม่เหลือให้ศึกษาหรอก เสียเวลาทำไม ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด ตอนนี้เรามีหลากหลายวิธีการที่ทำได้ผล”

กระบวนการทำงานของนักโบราณพฤกษคดี

ต่อมา ณัฎฐาอธิบายถึงวิธีการในการศึกษา โดยต้องทำงานร่วมกับนักโบราณคดีภาคสนาม

 “วิธีการหลักจะต้องทำงานร่วมกับนักโบราณคดีที่ทำการขุดค้น โดยจะไปขอตัวอย่างดินมา เราไม่สามารถรับผิดชอบแหล่งโบราณคดีได้ทั้งหมด เพราะลักษณะงานโบราณพฤกษคดีมีรายละเอียดปลีกย่อยจำนวนมากที่ต้องรับผิดชอบ เช่น พิจารณาว่าดินในชั้นหลักฐานเป็นดินเหนียว ดินทราย หรือดินอะไร ชั้นทับถมมีลักษณะแบบไหน ก่อนหน้านี้มีแม่น้ำแถวนั้นหรือไม่ จะเป็นการรบกวนชั้นหลักฐานหรือเปล่า จากนั้นจึงจัดการตัวอย่างทุกตัวอย่างแล้วเอามาเปรียบเทียบ นอกจากนี้ เราต้องไปเก็บพืชพรรณรอบๆมาเพื่อดูว่าอันไหนเป็นพืชปัจจุบัน อันไหนเป็นพืชในอดีต”

Advertisement
คนร่วมฟังเต็มห้องบรรยาย

จากนั้น เข้าสู่ข้อมูลเกี่ยวกับเรือโบราณพนมสุรินทร์ ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมีการศึกษาขุดค้นตั้งแต่ปี 2556 พบโบราณวัตถุต่างๆเป็นจำนวนมาก อาทิ ไหทรงตอร์ปิโด เครื่องถ้วย และพืชหลายชนิด ส่วนตัวเรือ สร้างด้วยวัสดุคือไม้ท้องถิ่น ได้แก่ ตะเคียน ยางนา รวมถึงเส้นใยพืชตระกูลปาล์ม แต่ใช้เทคนิคการต่อแบบอาหรับ ซึ่งเป็น ‘เย็บ’ ชิ้นส่วนเข้าด้วยกัน เมื่อคำนวณจากไม้ทับกระดูงูสันนิษฐานว่าลำเรือกว้าง 8 เมตร ยาวประมาณ 28 เมตร กำหนดอายุราว 1,200 ปีมาแล้ว ร่วมสมัยกับเรือเบลิตุง ซึ่งพบในอินโดนีเซีย ตรงกับยุคทวารวดี

แหล่งเรือพนมสุรินทร์ จ.สมุทรสาคร ระหว่างการขุดค้นทางโบราณคดี

“ที่น่าสนใจคือ ใช้วัสดุคือไม้ท้องถิ่น โดยใช้เทคนิคความรู้ที่เป็นของนอกในสมัยนั้น ซึ่งไฮโซมาก เก่ามากด้วย  เสากระโดงทำจากยางนา ส่วนเชือกที่เจอในเรือ ทำจากเส้นใยพืชตระกูลปาล์มในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” นักโบราณพฤกษคดีคนเดียวในไทยกล่าว แล้วเข้าสู่ไฮไลต์คือการเปิดเผยชนิดของพืชที่พบในเรือโบราณพนมสุรินทร์ ซึ่งได้แก่

  1. จันทน์เทศ (?)
  2. หมาก
  3. หวาย
  4. มะพร้าว
  5. ข้าว
  6. ต้นหญ้า
  7. ไม้ไผ่
  8. ก้อนยางไม้

นอกจากนี้ยังปรากฏน้ำมันดินและพืชที่ยังไม่สามารถระบุชนิดได้

ภาพเปรียบเทียบระหว่างจันทน์เทศในปัจจุบัน กับพืชที่พบในเรือพนมสุรินทร์ ซึ่งเชื่อว่าเป็นจันทน์เทศนั่นเอง

“พบพืชที่มีลักษณะคล้ายลูกจันทน์เทศ แต่เสื่อมสลายไปค่อนข้างมาก ต้องมีการศึกษาต่อไป ส่วนข้าวเจอทั้งเปลือกอยู่ในน้ำมันดิน ในไหทรงตอร์ปิโด เป็นข้าวพันธุ์อินดิก้า เมล็ดยาว หุงแล้วเมล็ดเรียงสวย  ที่น่าสนใจคือหมาก เจอเมล็ดแกะเปลือกอัดอยู่ในไหราชวงศ์ถัง ซึ่งเมื่อมีคนขายก็ต้องมีคนซื้อ เราได้หาคำตอบไหมว่า คนสมัยทวารวดีกินหมากหรือเปล่า ก็ยังไม่มีการหาองค์ประกอบทางเคมีในส่วนนี้ แต่รู้ว่าหมากเป็นพืชที่คนเคี้ยวมานาน มีตัวอย่างในขี้ฟันคน 69 ตัวอย่างในหมู่เกาะแปซิฟิก เมื่อ 3,000-6,000 ปีมาแล้ว แต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเชิงหลักฐานทางโบราณคดี รู้สึกว่ายังมีน้อยมาก โดยแต่ละพื้นที่ชอบหมากต่างกัน ไต้หวันชอบเคี้ยวหมากอ่อน ส่วนทางภาคใต้ของไทยชอบกินหมากแก่ การพบหมากแก่ปอกเปลือกเก็บใส่ไหสมัยราชวงศ์ถังในเรือพนมสุรินทร์จะบอกอะไรเราได้บ้าง มันเป็นสินค้ามีค่าหรือเปล่า เป็นสินค้าที่คนชั้นสูงสมัยนั้นกินกันใช่หรือไม่ ?”  ณัฎฐาตั้งคำถาม โดยทิ้งท้ายว่า อย่างไรก็ตาม โบราณวัตถุเหล่านี้มาจากการใช้มือหยิบระหว่างขุดค้น ในอนาคตตนอยากเสนอกรมศิลปากรให้เก็บข้อมูลอย่างละเอียดโดยจัดการร่อนตะกอนดินที่พบในเรือ เพื่อหาหลักฐานเมล็ดพืชขนาดเล็กซึ่งอาจมองไม่เห็น แต่มีอยู่จริง

ข้าวในน้ำมันดิน พบในเรือโบราณพนมสุรินทร์ อายุราว 1,200 ปี

ปิดท้ายด้วยช่วงเวลาที่ทุกคนรอคอย นั่นคือการชิมอาหารที่ปรุงจากวัตถุดิบซึ่งพบจากแหล่งเรือโบราณพนมสุรินทร์ โดยพ่อครัวรับเชิญ กฤช เหลือลมัย คอลัมนิสต์ด้านอาหารชื่อดัง ผู้มีดีกรีบัณฑิตโบราณคดี อดีตกองบรรณาธิการนิตยสารเมืองโบราณ

“ผมเคยไปดูเรือพนมสุรินทร์ ซึ่งพบร่องรอยข้าวเจ้าที่อย่างน้อยที่สุดมันทิ่มแทงสมมติฐานซึ่งโบราณคดีไทยตอนนี้ยังเชื่ออยู่ว่า ช่วงนั้นยังปั้นข้าวเหนียวกินอยู่ การพบข้าวเจ้าชวนให้ตั้งคำถามว่า ข้าวเจ้าเหล่านั้นเข้ามาในสถานะอะไร อาจเป็นของดีที่เอามาให้เจ้าพื้นเมืองก็ได้  นี่เป็นเรื่องของนักโบราณคดีที่ต้องค้นคว้าต่อไป  

นอกจากนี้ ที่น่าสนใจคือการเจอลูกจันทน์เทศซึ่งเป็นพืชที่ค่อนข้างมีกลิ่นที่ดี ทั้งลูกและรกหรือที่เรียกว่าดอกจันทน์ ใช้เป็นเครื่องแกงในวัฒนธรรมมุสลิมที่คนไทยรับมา ใส่แล้วกลิ่นนุ่มนวล มีความร้อนในตัว มิวเซียมสยามจึงชวนผมมาทำอาหารเพราะไหนๆก็ชวนกันมาพูดเรื่องลูกจันทน์เทศพันปีที่แล้ว เลยลองมาทำกินในห้องนี้ ผมเลือกทำแกงมุสลิมทางอินเดีย คือแกงคีม่า กับมันทอดแบบมุสลิมสายมลายู สูตรคือเอามันฝรั่งมาต้มบด ผสมเครื่อปรุงคือไก่สับ เกลือ ไข่ไก่ จันทน์เทศ” คอลัมนิสต์ดังอธิบาย ก่อนทิ้งท้ายให้ชวนขบคิดว่า คนชอบคิดว่าอดีตรุ่งเรือง อาหารอร่อยกว่าปัจจุบัน ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าคิดว่าจริงหรือไม่ เพื่อนคนหนึ่งบอกว่า โลกนี้ดำรงอยู่ได้ก็แต่ในเรื่องเล่า ถ้าเรามีเรื่องเล่าที่ดีก็โน้มนำจิตใจไปได้ว่าสิ่งที่กำลังกิน มันวิเศษเลิศเลอชั้นหนึ่ง

แกงคีม่าเนื้อ ใช้เครื่องเทศชนิดเดียวกับที่พบในแหล่งเรือโบราณพนมสุรินทร์ แล้วเติมวัตถุดิบอื่นเพิ่ม

ด้าน ผศ.ดร. ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ ที่มาในฐานะผู้ดำเนินรายการ เล่าถึงความบังเอิญที่ไม่บังเอิญเกี่ยวกับ ‘ข้าวฟ่าง’ ซึ่งถูกหุงไว้อย่างหอมกรุ่นพร้อมเสริ์ฟในงานว่า

“บังเอิญผมพานักศึกษาไปภาคสนามที่ไต้หวันในชุมชนของคนพูดภาษาออสโตรนีเชียน ซึ่งตอนนี้เขาพยายามรื้อฟื้นและอนุรักษ์การกินข้าวฟ่างที่เป็นอาหารดั้งเดิม อาหารหลักที่เป็นอัตลักษณ์ คนพื้นเมืองบอกเอาข้าวฟ่างมาให้ดูตั้งแต่กระบวนการแขวน  เดิมเราอาจจินตนาการไม่ออกว่าคนที่อยู่ในดินแดนไทยในอดีตเขาทำอย่างไร เมื่อหลักฐานบอกว่า มีการพบข้าวฟ่าง กินข้าวฟ่างมาตั้งแต่โบราณ ก่อนข้าวเหนียวและข้าวเจ้า นี่อาจช่วยให้เข้าใจได้ คือเมื่อเกี่ยวมาแล้วจะเอาไปแขวนไว้รวมๆกันหลายชนิด เป็นการถนอมอาหาร ทั้งข้าวโพด ข้าวฟ่าง และข้าวอย่างที่เรากินกัน ซึ่งเมื่อส่งรูปให้คุณณัฎฐาดู เขาบอกว่า นี่คือข้าวฟ่างหางกระรอกแบบเดียวกับที่เจอในแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ผมเลยซื้อมาด้วย” ผศ.ดร.ยุกติเล่า

ขวาสุดของภาพ คือข้าวฟ่างหางกระรอกแบบเดียวกับที่พบในแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ของไทย

จากนั้น เป็นการร่วมรับประทานอาหารหลากรายการปรุงจากวัตถุดิบเดียวกับที่พบในเรือโบราณพนมสุรินทร์ ออกมาเป็นเมนูหลากหลาย ได้แก่ ผัดคีม่าเนื้อ มันฝรั่งทอดแบบมลายู ข้าวเจ้าหุงรวมกับข้าวยืด ข้าวฟ่างและควินัว อีกทั้งของหวาน ลูกจันทน์เทศฉาบน้ำตาล

นับเป็นกิจกรรมวิชาการที่ป้อนทั้งอาหารสมองและอิ่มท้องกันถ้วนหน้า

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image