‘อนุสรณ์’ ลั่นเป็นคณบดีแข็งแกร่งสุดในปฐพี เทียบ ‘ชัชชาติ’ เหตุผ่าทางตัน ยักแย่ยักยันหลังทหารรุกคืบ (คลิป)

เมื่อเวลาประมาณ 12.30 น. วันที่ 7 กรกฎาคม  ที่ห้องริมน้ำ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดงาน De-talk ล้างพิษรัฐประหาร ซึ่งประกอบด้วยงานเสวนาในหัวข้อต่างๆ อาทิ  ผู้ลี้ภัยทางการเมือง, ฉันโตในยุคคสช., มหาวิทยาลัยกับค่ายทหาร, อำนาจนิยม รัฐราชการกับการพัฒนาในศตวรรษที่ 21 เป็นต้น

ในตอนหนึ่ง รศ.ดร. อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) และตัวแทนเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง  กล่าวในหัวข้อ “มหาวิทยาลัยหรือค่ายทหาร?” มีเนื้อหาโดยสรุปว่า มหาวิทยาลัยกับค่ายทหารบางทีก็แยกไม่ออกตั้งแต่ต้น

หลังเกิดรัฐประหาร 2557 เกิดสภาวะการสิ้นสุดลงของการเคลื่อนไหวบนท้องถนนของขบวนการมวลชนกึ่งจัดตั้ง ไม่ว่าจะสีอะไร มหาวิทยาลัยจึงกลายเป็นพื้นที่สุดท้ายในสังคมที่ผู้คนจะได้รวมตัวแสดงออกถึงความคับข้องคุ่นเคือง จึงกลายเป็นที่จับตาของทหารอย่างต่อเนื่อง เป็นเป้าสายตาของคสช. พยายามเข้ามากดปราบไม่ให้กระด้างกระเดื่อง

นักวิชาการถูกเรียกปรับทัศนคติ โดนเรียกกินกาแฟ ไม่ต่างจากนักการเมือง มหาวิทยาลัยในภูมิภาคถูกมองเป็นแหล่งส่องสุม อย่างม.เชียงใหม่ ม.อุบลราชธานี ทั้งยังพบความพยายามเคลื่อนไหวทางการเมือง จากการใช้ม.44 มีมาตรการเข้ามาแทรกแซงเสวนาวิชาการ ในต่างจังหวัดจะพบหนาแน่นและรุนแรง โดยถูกมองว่าเป็นแหล่งซ่องสุม ขุมกำลังต้านรัฐประหาร จัดเสวนาไม่ได้ พอจะจัดที่โรงแรมก็ไม่ได้อีก เพราะโรงแรมห่วงจะมีปัญหาในการดำเนินธุรกิจ ส่วนของ ม.ธรรมศาสตร์ การจัดก็ต้องขออนุญาต ดูหัวข้อ พิจารณาว่าวิทยากรคือใครบ้าง โดยในช่วงแรก หลังรัฐประหาร 2 เดือนเคยมีการจัดเสวนาครั้งแรก เมื่อทดลองผ่าทางตัน ไม่ขออนุญาต ก็จัดได้ แต่พรั่งพรูด้วยเจ้าหน้าที่ซึ่งในวันนี้กลายเป็นคนที่คุ้นหน้า เพราะอยู่กันมานาน ก็ยักแย่ยักยันกันไป

Advertisement

“กรณีของธรรมศาสตร์น่าสนใจ เพราะอาจได้รับการยกเว้น แต่ก็ยังต้องขออนุญาต สกรีนหัวข้อ เหมือนถูกขีดเส้นโดยมีกองทัพดูแล ซึ่งก็เจอกันมาเป็นหนามยอกอกเป็นหอกข้างแคร่ จะปิดมหาวิทยาลัยไปเลยก็ไม่ได้ เพราะเป็นแหล่งสร้างความรู้บ่มเพาะคน

ทั้งยังมีความพยายามแทรกแซงการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนในวิชาพื้นฐาน เช่น กองทัพกับการพัฒนาประชาธิปไตยกับมหาวิทยาลัยที่ผู้บริหารมีสัมพันธ์อันดีกับทหาร และการขอความร่วมมือแกมบังคับ ในยุคของการกดปราบ จึงมีความพยายามฟื้นฟูการสถาปนาอำนาจนำแบบใหม่ขึ้นมา นอกจากนี้ ยังพยายามกำกับควบคุมในการผลิตความรู้ การให้ทุนวิจัย เกือบครึ่งเป็นหัวข้อของการสร้างรัฐแบบใหม่ที่พวกเขาอยากเห็น เพื่อตอบโจทย์ให้กับกองทัพว่าจะอยู่อย่างไรต่อไป

“นักวิชาการต่างประเทศที่ร่วมลงนามเรียกร้อง เวลาเข้าประเทศจะถูกกักตัวไปซักถามโดยสันติบาล การจัดการกับมหาวิทยาลัยมีความความท้าท้ายอยู่ในตัวและไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะอยู่ในกำกับของรัฐ แต่มหาวิทยาลัยคือสถานที่ที่ถูกกระตุ้นให้คิด แต่วิธีแบบกองทัพนั้นพยายามไม่ให้คิด ซึ่งฝืนธรรมชาติของความเป็นมหาวิทยาลัย การขอความร่วมมือแกมบังคับ มักส่งผลตรงข้าม เสมือนแกว่งเท้าหาเสี้ยน ทำให้เกิดความรู้สึกกระด้างกระเดื่องว่าทำไมต้องบังคับ ใครแบกรับแรงปะทะการเสียดสีนี้ได้ขอให้ทำต่อไป เพราะหากรักษาพื้นที่นี้ไม่ได้ ประเทศจะสิ้นหวังสำหรับคนที่ต้องการความเสมอภาค” รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าว

Advertisement

ในตอนท้าย รศ.ดร. อนุสรณ์ยังระบุว่า ตนมั่นใจว่าเป็นคณบดีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี เทียบกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เนื่องจากต่อสู้ในเรื่องต่างๆจนถูกเรียกว่า ‘เขตปลดปล่อยสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา’ ซึ่งจริงๆแล้วเป็นชื่อคณะที่ตนเป็นคณบดีนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image