บอร์ดไฟเขียวขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม 18 รายการ

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ว่า ที่ประชุมเห็นชอบประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ประจำปี 2562 ตามที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) นำเสนอ 18 รายการ ประกอบด้วย ด้านวรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา 1.ตำนานเขาสาปยา ชัยนาท 2.ตำนานเมืองลพบุรี ลพบุรี ด้านศิลปะการแสดง 3.โปงลาง กาฬสินธุ์ 4.กลองอืด ตาก 5.รำมอญ ปทุมธานี 6.รำตร๊ด ศรีสะเกษ และสุรินทร์ 7.ลำแมงตับเต่าไทเลย เลย ด้านแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และงานเทศกาล 8.ประเพณีอัฏฐมีบูชา กรุงเทพฯ นครปฐม และอุตรดิตถ์ 9.โจลมะม้วต สุรินทร์ 10.ประเพณีแห่นางดาน นครศรีธรรมราช ด้านความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล 11.ทุเรียนนนท์ นนทบุรี 12.ปลาสลิดบางบ่อ สมุทรปราการ 13.หม้อดินเผาเกาะเกร็ด นนทบุรี ด้านงานช่างฝีมือดั้งเดิม 14.งานปูนปั้นสกุลช่างเมืองเพชร เพชรบุรี 15.เครื่องปั้นดินเผา ด่านเกวียน นครราชสีมา 16.ซิ่นหมี่คั่นน้อย ไทหล่ม เพชรบูรณ์
ด้านการเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้าน และศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว 17.อิ้นกอนฟ้อนแคน นครปฐม และ 18.การแข่งขันว่าวดุ๊ยดุ่ย จันทบุรี

“จากนี้ สวธ.จะจัดทำประกาศขึ้นบัญชี และจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริม เผยแพร่มรดกภูมิปัญญาที่ได้ขึ้นบัญชีให้สาธารณะได้มีส่วนร่วมสืบสาน ปัจจุบันมีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ขึ้นบัญชีแล้ว 336 รายการ รวมปีนี้อีก 18 รายการ รวมทั้งสิ้น 354 รายการ ทั้งนี้ สวธ.กำหนดจัดงานประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ประจำปี 2562 วันที่ 28 สิงหาคม ที่หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย” นายวีระ กล่าว

สำหรับสาระสำคัญรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้รับการประกาศขึ้นบัญชีประจำปี 2562 ดังนี้

1.ตำนานเขาสาปยา (เขาสรรพยา)
ชื่อของตำบล และอำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาทนั้น มีความเกี่ยวข้องกับวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ ตอนกุมภกรรณพุ่งหอกโมกขศักดิ์ถูกพระลักษมณ์ พระรามมีพระบัญชาให้หนุมานไปเก็บสังกรณีตรีชวา ซึ่งอยู่ที่เขาสรรพยามารักษาพระลักษมณ์ โดยในปัจจุบันบนเขาสรรพยา พบว่ามีต้นสังกรณีตรีชวาอยู่จริง รวมถึง ยังพบสมุนไพรที่หายากอื่นๆ เป็นจำนวนมาก จึงเชื่อกันว่าเขาสรรพยาในวรรณคดีดังกล่าวนี้คือ เขาสรรพยาที่ตำบลสรรพยา โดยมีการเล่าขานเป็นตำนานเขาสาปยา (เขาสรรพยา) สืบทอดต่อมาจนถึงปัจจุบัน

Advertisement

2.ตำนานเมืองลพบุรี
ตำนานเมืองลพบุรีมีความสัมพันธ์กับวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ และหลายๆ เรื่องก็มีการผูกเรื่องราวให้เชื่อมโยงกับบุคคล สถานที่ เหตุการณ์สำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับเมืองลพบุรีทั้งสิ้น เช่น ศาลพระกาฬ ดินสอพอง เขาทับควาย ทุ่งพรหมาสตร์ เป็นต้น จึงจัดเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงประวัติความเป็นมาในการก่อตั้งเมือง ตลอดจนพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมของเมืองลพบุรีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

3.โปงลาง
โปงลาง เดิมเป็นเครื่องดนตรีที่มีการเล่นกันมากในเขตเทือกเขาภูพาน จากนั้นจึงค่อยๆ แพร่หลายไปยังจังหวัดต่างๆ ของภาคอีสาน ถือเป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านที่สามารถปรับประยุกต์ให้เข้ากับสังคมปัจจุบันและได้รับความนิยมอย่างสูง เนื่องจากสามารถบรรเลงได้ตั้งแต่เพลงพื้นบ้านโบราณและเพลงลูกทุ่งทั่วไป ตลอดจนเป็นวัฒนธรรมบันเทิงของชาวอีสาน ซึ่งสามารถเล่นเครื่องเดียวก็ได้หรือเล่นร่วมกับเครื่องอื่นก็ได้ เพราะโปงลางเป็นเครื่องดนตรีที่ให้โน้ตของเพลงนั้นๆ

4.กลองอืด
กลองอืดเป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านชนิดหนึ่งของภาคเหนือ เหตุที่เรียกว่า “กลองอืด” เพราะเสียงกลองที่ดังกังวานยาวนาน หรือเรียกตามเสียงที่ได้ยินโดยทั่วไปว่า เสียงอืด หรือเสียงลูกปลาย กลองอืดมีลักษณะคล้าย “กลองหลวง” แต่มีขนาดยาวกว่า ใช้ตีประกอบการฟ้อนเล็บ แห่ขบวน พิธีมงคลทางศาสนา พิธีสำคัญต่างๆ เช่น การแห่นำขบวนประเพณีทอดกฐิน แห่ผ้าป่า พิธีสืบสานประเพณีตานก๋วยสลากหรือสลากภัต

Advertisement

5.รำมอญ
รำมอญ เป็นศิลปะการแสดงที่ได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษชาวมอญ ซึ่งอพยพมาอยู่ที่อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี คำว่า “รำ” มาจากการรำของชนชาติมอญ จึงมักเรียกว่า “รำมอญหรือมอญรำ” ลักษณะ และลีลาท่ารำจะมีเฉพาะในแต่ละเพลง ในการเปลี่ยนท่ารำจะฟังทำนองเพลง และลงตามจังหวะหน้าทับ โดยฟังเสียงตะโพนเป็นหลัก การรำมอญนี้จะปรากฏในพิธีศพ เนื่องจากเป็นการรำเพื่อสักการะผู้วายชนม์ด้วยความเคารพ และเป็นที่นิยมแพร่หลายในจังหวัดปทุมธานีและพื้นที่ใกล้เคียง

6.รำตร๊ด
บางท้องถิ่นเรียกว่า “เรือมตรด” คือ “รำตรุษสงกรานต์” เป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านของชาวอีสานใต้มาตั้งแต่โบราณ มีความเชื่อว่าเป็นการแสดงเพื่อความสนุกสนานในวันขึ้นปีใหม่สมัยก่อนที่ใช้เดือนเมษายนของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่ การรำตร๊ดนี้จะร้องรำไปตามหมู่บ้านทุกหลังคาเรือน เมื่อถึงบ้านใครเป็นธรรมเนียมเจ้าของบ้านจะออกมาต้อนรับ และมอบจตุปัจจัย เครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ ให้แก่ผู้เล่นรำตร๊ด เพื่อรวบรวมนำไปถวายวัดต่อไป

7.ลำแมงตับเต่า ไทเลย
ลำแมงตับเต่าไทเลย เป็นศิลปะการแสดงประเภทหนึ่งของจังหวัดเลยที่สมมุติผู้แสดงเป็นตัวละคร ได้แก่ ตัวพระ ตัวนาง ตัวประกอบอื่นๆ เรื่องที่นำมาแสดงจะเกี่ยวกับนิทานพื้นบ้าน นิยายพื้นบ้าน พงศาวดาร และวรรณคดีไทยจากวรรณกรรมใบลาน โดยมีการนำสำเนียงภาษาไทเลยอันเป็นเอกลักษณ์มาขับร้อง พร้อมทั้งมีเสียงอันไพเราะเข้าจังหวะจากเครื่องดนตรีอย่างระนาด แคน ซอไม้ไผ่ กลอง ฉิ่ง ปัจจุบันคงเหลือบ้านน้ำพร ตำบลปากตม อำเภอเชียงคาน ที่ส่งเสริมและรักษาศิลปะการแสดงชนิดนี้อยู่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น

8.ประเพณีอัฏฐมีบูชา
ถือเป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า นับเป็นวันสำคัญทางศาสนาวันหนึ่ง ตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 หรือวันแรม 8 ค่ำ ตามจันทรคติแห่งเดือนวิสาขะ จึงเป็นพิธีที่สืบเนื่องมาจากวันวิสาขบูชา โดยมีการจัดทำเป็นพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพจำลองของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปัจจุบันพื้นที่ที่มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่และเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ได้แก่ วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง จังหวัดอุตรดิตถ์ วัดใหม่สุคนธาราม จังหวัดนครปฐม วัดด่าน เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร

9.โจลมะม้วต
เป็นพิธีกรรมการรักษาผู้ป่วยโดยใช้วิธีการทรงเจ้าผ่านร่างทรง หรือที่เรียกว่า มะม้วต ซึ่งการประกอบพิธีกรรมดังกล่าวจะมีการบรรเลงดนตรีประกอบและมีการร่ายรำตามจังหวะและทำนองเพลงตั้งแต่เริ่มจนเสร็จสิ้นพิธีกรรม มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นการรักษา โดยอาศัยการร่ายรำประกอบการบรรเลงดนตรี ปัจจุบันยังคงมีการปฏิบัติอย่างแพร่หลายในกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเชื้อสายเขมรพื้นที่อีสานใต้ ซึ่งแต่ละพื้นที่จะมีลักษณะเฉพาะในการสืบทอดรูปแบบพิธีกรรมแตกต่างกันออกไป

10.ประเพณีแห่นางดาน
“ประเพณีแห่นางดาน” เป็นส่วนหนึ่งของ “พิธีตรียัมปวาย” อันเป็นพิธีกรรมต้อนรับพระอิศวร ซึ่งเชื่อว่าจะเสด็จมาเยี่ยมโลกมนุษย์ในช่วงเดือนบุษยมาส (เดือนยี่) ของทุกปี ดังนั้น พราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช จึงได้จัดพิธีโล้ชิงช้าให้เป็นส่วนหนึ่งของประเพณีตรียัมปวาย โดยมีการจัดขบวนแห่เทพชั้นรองสี่องค์ คือ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระธรณี และพระคงคา มารอรับเสด็จ เทพชั้นรองทั้งสี่องค์นี้ทำเป็นภาพวาด หรือแกะสลักลงบนแผ่นไม้กระดาน ขนาดกว้างหนึ่งศอก ซึ่งชาวนครเรียกว่า “นางดาน” หรือ “นางกระดาน”

11.ทุเรียนนนท์
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทุเรียนไทยของชาวสวนเมืองนนท์ มีรสชาติอร่อยและมีคุณลักษณะแตกต่างจากที่อื่นนั้นมีหลายประการ ตั้งแต่การทำสวนยกร่อง การปลูกและการเตรียมดิน ชนิดพันธุ์ทุเรียน การปฏิบัติดูแลรักษาตั้งแต่เริ่มปลูกถึงให้ผล การเก็บเกี่ยวผล นั่นแสดงให้เห็นถึงการใช้ภูมิปัญญาการปลูกทุเรียนไทยที่สั่งสมสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษในทุกขั้นตอนด้วยความเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด

12.ปลาสลิดบางบ่อ
ปลาสลิด หรือปลาใบไม้ เป็นปลาสายพันธุ์ไทยโบราณที่มักนิยมเลี้ยงกันในพื้นที่น้ำจืด ทำให้พื้นที่ในอำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งแต่เดิมเป็นพื้นที่เกษตรกรรม สามารถเพาะเลี้ยงปลาสลิดด้วยวิธีการแบบธรรมชาติที่เกษตรกรได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษได้เป็นอย่างดี ทั้งด้านการขยายพันธุ์ และการเจริญเติบโต ประกอบกับมีภูมิปัญญาในการแปรรูปทั้งปลาสลิดแดดเดียวและปลาสลิดหอม จึงส่งผลให้ปลาสลิดบางบ่อมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย

13.หม้อน้ำดินเผาเกาะเกร็ด
หม้อน้ำดินเผาเกาะเกร็ด หรือ “หม้อน้ำลายวิจิตร” ซึ่งชาวไทยรามัญเรียกว่า “เนิ่ง” ทำจากดินเหนียว เมื่อนำไปใส่น้ำดื่มน้ำจะเย็น ในอดีตจะทำขึ้นในโอกาสพิเศษ เพื่อนำไปถวายพระภิกษุสงฆ์ และเพื่อเป็นสิ่งของกำนัลหรือสิ่งของบรรณาการแก่บุคคลผู้ที่เคารพนับถือ มีส่วนประกอบ 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนฐานรองหรือขารองที่มักฉลุลวดลายโปร่ง ส่วนตัวหม้อหรือตัวโอ่งที่มีหลากหลายรูปทรง และส่วนฝาที่นิยมทำรูปทรงยอดแหลม เรียกว่า “ฝายอด” ประดับตกแต่งลวดลายอย่างงดงาม ถือเป็นเอกลักษณ์ของเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ดและถูกนำมาใช้เป็นตราประจำจังหวัดนนทบุรี

14.งานปูนปั้นสกุลช่างเมืองเพชร
งานปูนปั้นสกุลช่างเพชรบุรี เป็นกรรมวิธีสร้างสรรค์งานศิลปะอย่างหนึ่งที่มีมาแต่โบราณ โดยมีเอกลักษณ์เฉพาะในด้านกรรมวิธีการผลิตปูน ความพิถีพิถันในการสร้างงาน การออกแบบลวดลายให้พลิ้วไหว มีการแทรกแนวความคิดของช่างปั้นลงไปในผลงาน ปูนปั้นเมืองเพชรนี้จะมีความเหนียว สามารถปั้นเป็นรูปต่างๆ ได้ และเมื่อแห้งแล้วจะแข็งตัว ทนแดด ทนฝนได้ดี ส่วนมากใช้เป็นเครื่องตกแต่งประดับอาคารสิ่งก่อสร้างทางสถาปัตยกรรม ทั้งที่เป็นลวดลาย รูปคน รูปสัตว์ต่างๆ รวมถึง พระพุทธรูปและศาสนสถาน

15.เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน
เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน เป็นงานที่สร้างสรรค์ขึ้นจากภูมิปัญญา โดยใช้ดินเหนียวและดินทรายจากห้วยหนองคลองบึง ซึ่งเรียกว่า ตะกุด หรือ กุด ลุ่มแม่น้ำมูลในพื้นที่ตำบลด่านเกวียน อำเภอโชคชัย โดยมีวิธีการผลิตที่เป็นเอกลักษณ์ ตั้งแต่การเตรียมดิน การนวดดิน การขึ้นรูป การปั้น การตกแต่ง การผึ่งและการเผา สะท้อนให้เห็นถึงทักษะฝีมือการปั้น ผนวกกับความสร้างสรรค์งานฝีมือเชิงช่างเฉพาะตัว จนก่อรูปเป็นชิ้นงานอันทรงคุณค่าและมีอัตลักษณ์โดดเด่นแตกต่างจากเครื่องปั้นดินเผาแหล่งอื่น

16.ซิ่นหมี่คั่นน้อย ไทหล่ม
การนุ่งซิ่นหรือผ้าซิ่นของกลุ่มชนที่เรียกตนเองว่า “ไทหล่ม” ถือเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของผู้คนในบริเวณอำเภอหล่มสัก และอำเภอหล่มเก่า โดยผ้าซิ่นของสตรีชาวไทหล่มที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวและมีคุณค่าทางจิตใจ คือ ซิ่นหมี่คั่นน้อย ซึ่งเป็นผ้าซิ่นที่มีการทอด้วยลวดลายและการคั่นแบบโบราณ ตัวซิ่นเป็นลายตั้งคั่นทางยืนหรือทางล่อง แสดงถึงความมีอัตลักษณ์โดดเด่น ส่วนลวดลายบนผืนผ้าที่เกิดจากการมัดหมี่ บ่งบอกถึงความประณีตและแฝงไปด้วยคติความเชื่อและค่านิยมต่างๆ ทางสังคม

17.อิ้นกอน ฟ้อนแคน
“อิ้นกอน” หรือ เล่นคอน “ฟ้อนแกน” หรือ ฟ้อนแคน เป็นการละเล่นของหนุ่มสาวไทยทรงดำ มีความหมายว่า การเล่นลูกช่วง และการฟ้อนรำประกอบดนตรี คือ แคน ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีของไทยทรงดำที่เล่นกันมาตั้งแต่ครั้งที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองแถง (เดียนเบียนฟูของประเทศเวียดนาม) ลักษณะเป็นการละเล่นช่วงเทศกาลปีใหม่ไทยทรงดำ นับเป็นภูมิปัญญาที่ทำให้หนุ่มสาวได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกันอย่างเปิดเผย และเรียนรู้เพื่อเตรียมตัวสู่การมีครอบครัวในอนาคต ปัจจุบันการอิ้นกอนและฟ้อนแคนของชาวไทยทรงดำ จังหวัดนครปฐม ยังคงมีการละเล่นในงานประเพณีเดือน 4-5 ของทุกปี

18.การแข่งขันว่าวดุ๊ยดุ่ย
ในอดีตการเล่นว่าวดุ๊ยดุ่ย เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่เชื่อมโยงกับวิถีธรรมชาติในท้องถิ่น ชาวบ้านนิยมเล่นกันในฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่ผลไม้ผลิดอกออกผล และเป็นฤดูเก็บเกี่ยวข้าวในนา ว่าวดุ๊ยดุ่ยจึงถูกใช้พยากรณ์สภาพดินฟ้าอากาศ และทำนายผลผลิตทางการเกษตรได้ และเนื่องจากว่าวดุ๊ยดุ่ยมีอัตลักษณ์พลังเสียงจากอูดว่าวที่ไพเราะ ดังกังวาน ทำให้ชาวบ้านตำบลพลับพลาได้รวมกลุ่มกันเป็นชมรมรักษ์เสียงอูดว่าวดุ๊ยดุ่ยจันทบุรี โดยมีการจัดแข่งขันเสียงอูดว่าวดุ๊ยดุ่ย ซึ่งได้เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 จนถึงปัจจุบัน ตลอดจนมีการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องว่าวดุ๊ยดุ่ยให้กับเด็ก และเยาวชนคนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image