องค์กรครูจี้คืนอำนาจ ‘แต่งตั้ง-โยกย้าย’ ให้เขตฯ ยื่น ‘ณัฏฐพล’ แก้ พ.ร.บ.ศึกษาฯ-ตั้ง สพม.77 จังหวัด

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม นายธนชน มุทาพร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ชัยภูมิ เขต 1 ประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (ชร.ผอ.สพท.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ ผู้แทนจากสมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย สมาคมผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่าย เข้าพบนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อรับฟังนโยบาย เพื่อเสนอปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข 3 เรื่อง คือ ปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ฉบับที่ยกร่างโดยคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) มี 103 มาตรา แต่มาตราที่ผู้อำนวยการโรงเรียน และครูทั่วประเทศกังวล คือการเสนอเปลี่ยนจากใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เป็นใบรับรองความเป็นครู ซึ่งบั่นทอนขวัญกำลังใจวิชาชีพครูอย่างมาก หากแก้ไขได้ จะเข้าไปนั่งกลางใจครูแน่นอน

นายธนชนกล่าวต่อว่า ขอให้เร่งประกาศจัดตั้งเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ให้ครบทุกจังหวัด จะทำให้การทำงานคล่องตัว และมีประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาระดับมัธยมให้สอดคล้องเชื่อมโยงกับคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ในแต่ละจังหวัด และเร่งแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. … เพื่อแก้ปัญหาข้อขัดข้องจากการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของ ศธ.ที่เกิดขึ้นจากอำนาจตามมาตรา 44 ที่มอบอำนาจการแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษาของเขตพื้นที่ฯ ให้ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ก่อให้เกิดความซ้ำซ้อนล่าช้า โดยเฉพาะทำลายวัฒนธรรมองคก์รของระบบข้าราชการไทย ส่งผลต่อการปฏิรูปการศึกษา จากการพูดคุยเป็นที่พอใจของทั้ง 2 ฝ่าย โดยนายณัฏฐพลรับปากว่าจะทำให้ดีที่สุด

นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า นโยบายการศึกษาของนายณัฎฐพล เริ่มต้นดี มองการศึกษาแบบเปิดกว้าง ประกาศรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างจากทุกภาคส่วน มีทีมงานมืออาชีพคอยกลั่นกรองข้อมูล ส่วนตัวเห็นว่านายณัฎฐพลมีบุคลิกที่กล้าตัดสินใจ ถือเป็นจุดแข็งของทีมการศึกษาชุดนี้ ทั้งนี้ มีข้อเสนอต่อทีมการศึกษา คืออยากให้นายณัฏฐพลใช้เวลา 1 เดือนแรกของการทำงาน ระดมสมองจากทุกภาคส่วน ตั้งโจทย์การปฏิรูปการศึกษา จะทำให้เห็นทิศทางการปฏิรูปที่ชัดเจนขึ้น รับฟังความเห็นจากประชาชนในพื้นที่ ครู นักเรียน ผู้บริหาร ไม่ยึดติดกับความคิด และข้อเสนอของข้าราชการ จะทำให้เกิดความร่วมมือจากทุกฝ่าย เมื่อได้โจทย์การปฏิรูปการศึกษาแล้ว ต้องตัดสินใจ และลงมือทำทันที รวมถึง จัดตั้งสมัชชาปฏิรูปการศึกษาของประเทศ จำนวน 20-25 คน เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา

“สิ่งที่อยากให้เร่งตัดสินใจคือการปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ทันโลกศตวรรษที่ 21 เพราะหลักสูตรที่ใช้อยู่เก่า ควรยกเลิก ทั้งเร่งปรับวิธีการทดสอบ ประเมินผล โดยเฉพาะปรับบทบาทของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ส่วนของครูคือการลดภาระ ซึ่งทำได้ทันที โดยลด เลิกสั่งนโยบายจากส่วนกลาง โดยเฉพาะโครงการต่างๆ จากสำนักต่างๆ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งมุ่งคิดโครงการเพื่อให้ได้งบประมาณ แต่เป็นภาระของครู หากทำได้จริง จะทำให้ครูมีความสุขมาก ได้กลับคืนสู่ห้องเรียนอย่างแท้จริง รวมทั้ง แก้ไขร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … บางประเด็นที่ผู้บริหารไม่สบายใจ โดยหลักการในภาพรวม เป็นหลักการที่ดี” นายสมพงษ์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image