‘สอศ.’ เร่งหามาตรการป้องกัน หลังรุ่นพี่ ปวส.รับน้องโหด ทำปวช.ปี 1 ‘หัวใจล้มเหลว-เสียชีวิต’

‘สอศ.’ เร่งหามาตรการป้องกัน หลังรุ่นพี่ ปวส.รับน้องโหด ทำปวช.ปี 1 ‘หัวใจล้มเหลว-เสียชีวิต’

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยกรณีนายสุริยา บุญครอง อายุ 43 ปี บิดาของนายเอ (นามสมมุติ) อายุ 16 ปี นักศึกษาระดับชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ชั้นปี 2 วิทยาลัยเทคนิคย่านมีนบุรี เข้าแจ้งความตำรวจ สน.โคกคราม ให้ตรวจสอบหาสาเหตุการเสียชีวิตอย่างไม่ทราบเหตุของบุตรชาย ขณะถูกนำตัวส่งไปโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี หลังได้เข้าร่วมกิจกรรมสันทนาการระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้องของสถาบันดังกล่าว ที่มีรุ่นพี่ ระดับชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ชั้นปีที่ 1 เป็นผู้จัดขึ้น โดยแพทย์ระบุว่า เสียชีวิตเนื่องจากหัวใจล้มเหลวนั้น ว่า ตนยังไม่ได้รับรายงานเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายและเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาข้อมูลรายละเอียดเรื่องดังกล่าวให้ตนทราบแล้ว

ด้านนายวัชระ เกิดสิน ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาส่งเสริมประสานงานกิจการนักศึกษาและกิจการพิเศษ (ศพก.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) กล่าวว่า นายบุญรักษ์ เลขาธิการ กอศ.สั่งการลงมาอย่างเร่งด่วนให้ตั้งคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงเรื่องที่เกิดขึ้น และในวันที่ 24 กรกฎาคมนี้ สอศ.เรียกสถานศึกษาที่เกิดเหตุ เข้ามาชี้แจงข้อเท็จจริงพร้อมทั้งศึกษาว่ามาตรการป้องกันการรับน้อง ที่ออกมามีช่องโหว่ หรือมีความรัดกุมหรือไม่ ทำไมถึงยังเกิดเหตุขึ้นอีก เบื้องต้นในส่วนของการรับน้อง จะเพิ่มมาตรการอีก คือ ให้ครูดูแลนักเรียนนักศึกษาอย่างใกล้ชิด พร้อมกับสอดส่องดูแลนักเรียนนักศึกษาอย่างเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะสถานศึกษาที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง 50 แห่ง ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล เช่น บริเวณพื้นที่มีนบุรี ลาดพร้าว เป็นต้น
“ปัญหาการรับน้องในสถานศึกษาอาชีวะ หรือการทะเลาะวิวาทจนเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตนั้น สาเหตุส่วนใหญ่ยังเป็นเรื่องทัศนคติ ความเชื่อของรุ่นพี่ และตัวรุ่นน้องที่เข้าร่วมเองก็ต้องการเป็นที่ยอมรับ ซึ่งสถิติล่าสุดพบเกิดเหตุ 15 ครั้ง เพิ่มขึ้นมากกว่า 6 ครั้งในช่วงไม่ถึง 2 เดือน แต่สถิติโดยรวมก็ถือว่าลดลงหลายเท่าเมื่อเทียบกับปี 2557 ที่เกิดเหตุทะเลาะวิวาทถึง 245 ครั้ง แต่ที่น่าตั้งข้อสังเกต คือ กลับพบพฤติกรรมยั่วยุเพื่อสร้างความเกลียดชังทางโซเชียลมีเดียมากขึ้น ทั้งด่าทอ ท้าทาย เชิญชวนและอัดคลิปทำลายสัญลักษณ์โรงเรียน” นายวัชระกล่าว

นายวัชระ กล่าวต่อว่า ขณะที่สอศ.ยึดมาตรการป้องกันการรับน้องเดิม 4 ข้อ คือ ป้องกันการทะเลาะวิวาท ติดตามนักเรียนกลุ่มเสี่ยง ห้ามจัดกิจกรรมรับน้องใหม่ และไม่ให้เล่นพนัน ป้องกันยาเสพติด ซึ่งขณะนี้บางสถานศึกษาเริ่มใช้มาตรการดังกล่าวแล้ว หากพบว่ามีการฝ่าฝืนก็ถือเป็นความผิดวินัยร้ายแรง ขณะเดียวกันกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ยังยึดมาตรการป้องกันการทะเลาะวิวาทของนักเรียน นักศึกษา จากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 30/2559 โดยขอความร่วมมือให้คนในสังคมช่วยกันแก้ปัญหา โดยเฉพาะพ่อแม่ต้องมีส่วนรับผิดชอบหากบุตรหลานทำผิด นอกจากมาตรการเหล่านี้แล้ว สอศ.ได้เพิ่มมาตรการควบคุมอีก 2 มาตรการ คือ มาตรการป้องกันและแนวปฏิบัติการใช้สื่อออนไลน์ภายในและภายนอกสถานศึกษา และมาตรการแก้ไขปัญหาการแข่งรถจักรยานยนต์อีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image