‘โค้ดดิ้ง’ ภาษาที่ 3 ปั้นเด็กไทย สู่ยุคดิจิทัล

ควันหลงการอภิปรายแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ช่วงวันที่ 25-26 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีประเด็น น.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ลุกขึ้นอภิปรายต้องการให้กระทรวงศึกษาธิการส่งเสริมการเรียน โค้ดดิ้ง (Coding)

ก่อนที่ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.จะลุกขึ้นชี้แจงว่า ตั้งใจว่าในฐานะที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ ได้ขอให้เพิ่มการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ หรือ coding เป็นภาษาที่ 3 ในอนาคต

เพื่อเตรียมเด็กไทยสู่ศตวรรษที่ 21

หลายคนที่ฟังการอภิรายในวันนั้นอาจยังสงสัยว่า โค้ดดิ้ง คืออะไร

Advertisement

โค้ดดิ้ง คือการเขียนชุดคำสั่งของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วย “โค้ด (Code)” เพื่อให้โปรแกรมทำตามคำสั่ง อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือการสั่งงานคอมพิวเตอร์ให้ทำตามที่เราต้องการ โดยการใช้ภาษาของคอมพิวเตอร์ เช่น C++, PHP, Java หรือ Python

ฟังแล้วดูเหมือนจะยากมากสำหรับคนรุ่นเก่าๆ และพ่อแม่บางราย ว่าภาษาที่ 3 ดังกล่าวนี้จะยากเกินไปหรือเปล่า ลูกๆ จะเรียนได้ไหม หรือว่ามีความจำเป็นมากแค่ไหนที่จะต้องเรียน

โค้ดดิ้งเป็นทักษะที่ช่วยให้เด็กคิดทุกเรื่องอย่างเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งจะส่งผลให้เกิดทักษะการแก้ปัญหา คือสามารถแตกปัญหาออกเป็นส่วนๆ เพื่อหาสาเหตุและวิธีแก้ไขในแต่ละส่วนไปทีละเปลาะ อีกทั้งในแต่ละขั้นตอนการเขียนโค้ดจะได้เรียนรู้ระบบการวางแผน เมื่อฝึกฝนไปสักพักก็จะทำให้เข้าใจหลักการและจับประเด็นได้ดีขึ้น โดยวิชาโค้ดดิ้งที่เด็กไทยได้เรียนอยู่ในกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ เป็นวิชาบังคับในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560) จากเดิมที่เด็กไทยได้เรียนวิชาคอมพิวเตอร์ในฐานะผู้ใช้ ในหลักสูตรนี้จะสอนให้เป็นผู้เขียน ผู้พัฒนา และได้ฝึกหัดคิดอย่างเป็นระบบคอมพิวเตอร์มากขึ้น

Advertisement

โครงสร้างหลักสูตรแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักคือ 1.วิทยาการคอมพิวเตอร์ หัวใจหลักของวิชานี้ทำให้คิดได้เป็นขั้นตอน โดยใช้การเขียนโปรแกรมมาเป็นเครื่องมือ 2.เทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้สามารถรวบรวมข้อมูล จัดการข้อมูล นำข้อมูลมาประมวลผล และทำการตัดสินใจจากพื้นฐานของข้อมูลได้

3.รู้เท่าทันดิจิทัล ซึ่งการรู้ทันเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญ อีกทั้งสามารถสร้างสรรค์ผลงานบนเทคโนโลยีเริ่มต้นการ Coding ด้วยตัวเอง

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้สร้างโปรแกรมโค้ดดิ้งแบบง่ายเพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับเด็กบางกลุ่มที่ยังไม่คุ้นเคยกับการเขียนโค้ดดิ้ง

ชื่อว่าโปรแกรม คิดไบรท์ (Kidbright) หรือบอร์ดสมองกล

เป็นผลงานวิจัยและพัฒนาโดยเนคเทค

มีเป้าหมายในการเป็นเครื่องมือเพื่อเสริมการเรียนรู้เยาวชนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ “วิทย์สร้างคน” ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมของทุกประเทศทั่วโลก ทำให้หลายประเทศเริ่มมุ่งเป้าส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีในเยาวชนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะความสามารถในการเขียนโปรแกรมซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการพัฒนากระบวนความคิดเชิงตรรกะร่วมกับความคิดสร้างสรรค์ และสามารถต่อยอดสู่การพัฒนาแอพพลิเคชั่นและเทคโนโลยีด้วยตนเองในอนาคต ทำให้เด็กเกิด technology & digital confidence ว่า ฉันก็ทำได้”

ทั้งนี้ ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านการเขียนโปรแกรมไม่เพียงเป็นความรู้พื้นฐานของนักเรียนสายวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นรากฐานของสังคมวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมการสร้างนวัตกรรมที่จะนำประเทศก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้สำเร็จและยั่งยืน ที่ผ่านมา มีหลายประเทศได้ขับเคลื่อนการยกระดับความสามารถด้านการเขียนโปรแกรมของเยาวชนอย่างจริงจัง

ยกตัวอย่างเช่น ประเทศอังกฤษได้ส่งเสริมเยาวชนโดยการออกแบบและมอบบอร์ด Micro:bit ให้เด็กนักเรียนอายุ 11-12 ปีฟรี เพื่อให้ได้เรียนรู้ฝึกฝนการเขียนโปรแกรมโดยความร่วมมือกับ BBC ในประเทศไทยนั้น แม้เริ่มมีความตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการสอนเขียนโปรแกรมมากขึ้น แต่ยังมีเฉพาะในโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนขนาดใหญ่เท่านั้น ขณะที่โรงเรียนในชนบทนั้นแทบไม่มีโอกาส เนื่องจากขาดทั้งเครื่องมือการสอนและบุคลากรที่เหมาะสม อย่างไรก็ดี ยังมีโอกาสมีมากมายในการสนับสนุนการเรียนรู้ของเยาวชนด้วยอุปกรณ์ที่เหมาะสมผ่านการรณรงค์และสนับสนุนโดยเครือข่ายชมรมวิทยาศาสตร์” รัฐมนตรี อว.กล่าว

นายชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค กล่าวว่า เพื่อลดการเหลื่อมล้ำทางการเรียนรู้ดังกล่าว เนคเทคจึงพัฒนา บอร์ดส่งเสริมการเรียนการเขียนโปรแกรม KidBright ขึ้น เพื่อเป็นสื่อการเรียนการเขียนโปรแกรมที่มีคุณภาพในโรงเรียน พร้อมทั้งจัดทำโครงการ Coding at School ด้วยการพัฒนาและผลิตบอร์ด KidBright จำนวน 200,000 ชุด มอบให้กับโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 1-3 นำร่องจำนวน 1,000 โรงเรียนทั่วประเทศ และอบรมการสอนการเขียนโปรแกรมให้กับบุคลากรผู้ฝึกสอนตามภูมิภาค จำนวน 500 คน ซึ่งจะช่วยขยายโอกาสการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสื่อการสอนได้อย่างเท่าเทียม

ผู้อำนวยการเนคเทคกล่าวว่า คิดไบรท์เป็นบอร์ดสมองกลฝังตัวที่ทำงานตามชุดคำสั่ง ที่มาพร้อมกับชุดเซ็นเซอร์แสงและอุณหภูมิ สามารถเรียนรู้การใช้งานง่าย ผู้เรียนสามารถสร้างชุดคำสั่งโดยการลากบล็อกคำสั่งมาวางต่อกันในโปรแกรมคล้ายการต่อชิ้นเลโก้ โดยใช้งานผ่านเว็บไซต์ หรือแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนภายใต้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ IOS และเว็บเบราเซอร์ โดยเมื่อสร้างชุดคำสั่งบนสมาร์ทโฟนแล้ว ชุดคำสั่งดังกล่าวจะถูกส่งไปที่บอร์ด KidBright และระบบเฉพาะที่เชื่อมต่ออยู่ให้ทำงานตามที่ต้องการ เช่น รดน้ำต้นไม้ตามระดับความชื้นที่กำหนด หรือเปิดปิดไฟตามเวลาที่กำหนด ซึ่ง KidBright มีราคาถูกกว่าผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในท้องตลาด

“บอร์ดสมองกลฝังตัวคิดไบรท์ ถือเป็นสื่อการเรียนรู้ที่ช่วยให้เยาวชนไทยมีองค์ความรู้ด้านการเขียนโปรแกรม ที่สามารถต่อยอดไปสู่การเรียนรู้ด้าน STEM อย่างมุ่งมั่น มีความคิดเชิงตรรกะที่เป็นระบบ และสามารถสร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันได้ด้วยตัวเอง เช่น ระบบควบคุมการเพาะเห็ดในโรงเรือน ระบบเปิดปิดถังขยะอัตโนมัติ ระบบเปิดปิดไฟในโรงเรียน

“นอกจากนี้คิดไบรท์ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เปิดโอกาสสร้างความเท่าเทียมทางด้านการศึกษา และช่วยยกระดับความสามารถของเด็กไทยสู่ Education4.0 เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อน Thailand 4.0 ได้อย่างแท้จริง” ผู้อำนวยการเนคเทคกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image