นโยบายของรัฐกับสถานการณ์วิกฤตการศึกษาไทย

นโยบายรัฐ (public policy) หมายถึง แนวทางกิจกรรม การกระทำ หรือการเลือกตัดสินใจของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลได้ทำการตัดสินใจ และกำหนดไว้ล่วงหน้า เพื่อชี้นำให้มีกิจกรรม หรือการกระทำต่างๆ ให้เกิดขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ โดยมีการวางแผน การจัดทำโครงการ วิธีการบริหาร หรือกระบวนการดำเนินงาน ให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต นโยบายของรัฐต้องเป็นเรื่องที่สำคัญกับการพัฒนาประเทศ ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว นโยบายของรัฐจะต้องเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณามาจากสภาพสังคม สภาพเศรษฐกิจ การจ้างงาน การค้าขายกับต่างประเทศ สภาพการศึกษา การทำกินของภาคการเกษตร สถานการณ์สภาพคล่องทางการเงิน และสภาพความมั่นคงของประเทศ (สำนักวิชาการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร)

ประเทศต่างๆ หลายประเทศที่พัฒนา และเจริญอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก ได้ไห้ความสำคัญกับนโยบายรัฐ โดยเฉพาะนโยบายด้านการศึกษามาเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ สาธารณรัฐสิงโปร์ ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐเกาหลี และญี่ปุ่น ประเทศเหล่านี้มีทัศนคติว่าประเทศจะพัฒนาได้เพราะมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ เพื่อที่จะทำหน้าที่ผลิตสินค้า และบริการที่ดีมีคุณภาพออกสู่ตลาด เพื่อบริการสังคมให้เกิดการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจที่ดี ประชาชนมีรายได้ และมีงานทำ ประเทศเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องผลิตคน หรือบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถก่อน ดังนั้น ถ้าจะให้สินค้า หรือบริการในประเทศมีคุณภาพ คน หรือบุคคลากรต้องมีคุณภาพก่อน

การมองในมิตินี้ เป็นการมองในมิติที่ยากมาก รัฐบาลต้องบูรณาการความคิดของผู้ที่จะมากำหนดนโยบาย ด้วยการใช้คนที่มีความรู้ ทั้งทางด้านการศึกษา คนที่มีความรู้ด้านการบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ ผู้ประกอบการในหลากหลายอาชีพ มาร่วมกันกำหนดนโยบาย ไม่ใช่ให้กระทรวง และให้ข้าราชการเป็นผู้ออก หรือกำหนดนโยบาย ก็จะได้นโยบายที่ออกมาเป็นเพียงแค่เศษกระดาษไว้นำเสนอผลงาน แต่ไร้ค่าที่ไม่สามารถใช้งานได้จริง

ในการทำงานของรัฐบาลนั้น รัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องในกระทรวงทุกเรื่อง แต่จะต้องรู้จักสร้างทีมการทำงานในแต่ละเรื่อง เพื่อมาแก้ไขปัญหา หรือแนะนำ และวางนโยบายสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่สำคัญ รัฐมนตรีต้องมีสิทธิ หรือมีเสียงที่จะนำเสนอปัญหาของกระทรวงของตนเองต่อหัวหน้ารัฐบาล โดยไม่มีประเด็นทางการเมืองมากดดัน

Advertisement

ปัจจุบันนี้ บทบาทที่การศึกษาไทยจะเป็นเครื่องชี้นำประเทศให้ไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น แทบจะมองไม่เห็น ปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ขยายตัว การบริหารแรงงาน และการเพิ่มผลผลิตที่ไร้คุณภาพ

ที่สำคัญ จากข้อมูลทางสถิติ และการวิจัย พบว่า ประเทศไทยมีปัญหาในการผลิต และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ขาดแรงงานที่มีทักษะ และความคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยมีจุดอ่อนทางด้านการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อเพิ่มความสามารถ และประสิทธิภาพในการผลิต รวมถึง ปัญหาความไม่สอดดล้องกันระหว่างความต้องการกำลังคนของภาคธุรกิจ และการผลิตกำลังคนของภาครัฐ ตลอดจนมาตรฐานการศึกษาที่รัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญ (Nida Economic Review)

ประเทศไทยปัจุบันต้องการการพัฒนาประเทศ ต้องการพัฒนาด้านการศึกษา และต้องการพัฒนาประชากร แต่การศึกษาไทยยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศมาโดยตลอด ไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัย โลกเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน วิถีชีวิตประชาชนเปลี่ยนสู่ยุคดิจิทัล แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนคือ ระบบการศึกษาไทย ไม่ว่ากี่พรรค กี่รัฐบาลก็ทำไม่สำเร็จ การทำงานของกระทรวงศึกษาธิการขายฝันไปวันๆ บางวันคณะรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการพร้อมใจกันลาออกจากกระทรวงจนหมด อย่างปราศจากความรับผิดชอบ เพื่อไปหาตำแหน่งใหม่ที่ดีกว่าก็มีให้เห็น

Advertisement

ข้อแนะนำการศึกษาไทย รัฐบาลปัจจุบัน จะต้องบรรจุแผน และกลยุทธ์การสร้างการศึกษาของไทยไว้ในนโยบายหลักของประเทศให้ได้ ซึ่งมองจากการบริหารงานนโยบายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 2 ไม่ได้กำหนดนโยบายด้านการศึกษาเป็นนโยบายหลัก รัฐบาลต้องรับรู้ข้อมูลว่าปัจจุบันนี้ การศึกษาควรอยู่ในรูปของ Digital Education และมองภาพไปสู่แผนอนาคต คือการศึกษาไทยต้องก้าวไปสู่ AI Education ให้ได้ รัฐบาลจะต้องเตรียมพร้อม และมีแนวคิดที่จะใช้ระบบนี้กับการศึกษาไทย โดยกำหนดเป็นนโยบายหลัก สร้างรูปแบบการศึกษาใหม่ สร้างหลักสูตรใหม่ ปรับปรุงระเบียบข้อบังคับใหม่

ซึ่งระบบเก่านั้น จะเห็นว่ารัฐบาลใช้งบประมาณให้ระบบการศึกษาขับเคลื่อนเพียงอย่างเดียว โดยใช้งบประมาณส่วนใหญ่ของงบการศึกษา 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นเรื่องของค่าตอบแทนเงินเดือนครู ผู้บริหาร เงินค่าวิทยฐานะ ค่าอบรมพนักงานและบุคลากร แต่งบพัฒนาผู้เรียนหรืองบไปสู้โรงเรียน และนักเรียนน้อยมากไม่ถึง 3 เปอร์เซ็นต์ จะเห็นว่ารัฐทุ่มเทงบโดยไม่คิดถึงทิศทาง และคุณภาพการศึกษาที่ต้องพัฒนาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโลก (ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน มติชน 29 ธ.ค.2560)

นอกจากนั้น การปฏิรูปการศึกษา หรือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นั้น จะต้องเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์รัฐ เปลี่ยนแปลงแนวคิดข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการเพื่อสร้างศักยภาพการศึกษาไทยใหม่ รัฐต้องมองการศึกษาในแง่สวัสดิการการศึกษาแบบให้เปล่าอย่างทั่วถึง และเท่าเทียมกัน เน้นการสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพควบคู่กับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อนำไปพัฒนาสังคม รัฐต้องรู้ และเข้าใจว่าการศึกษา ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาล หรือกระทรวงศึกษาธิการฝ่ายเดียว รัฐต้องใจกว้างให้ภาคอื่นๆ ทั้งภาคเอกชน ชุมชน ท้องถิ่น ตลอดจนประชาชน หรือกลุ่มคนที่มีความต้องการให้การศึกษาไทยได้รับการพัฒนาได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษามากขึ้น

ที่สำคัญ รัฐต้องเปลี่ยนแนวคิด ควรเลิกผูกขาดการศึกษา หรือเป็นผู้จัดการการศึกษามาเป็นผู้อำนวยความสะดวก ผู้สนับสนุน และคอยแก้ปัญหาทางการศึกษาอย่างจริงจัง ไม่ให้ระบบการศึกษาสะดุด เช่น การขาดผู้บริหาร ขาดครู ขาดอุปกรณ์ด้านการศึกษาเหมือนทุกวันนี้

การที่รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้บรรจุนโยบายการศึกษาเป็นนโยบายหลักนั้น แสดงให้เห็นว่ารัฐไม่ได้รับรู้ว่าประเทศกำลังประสบปัญหาอะไร รัฐบาลไม่เห็นความสำคัญของการศึกษา รัฐไม่มีแนวคิด หรือความรู้ที่จะพัฒาประเทศโดยใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือ รัฐไม่คิดที่จะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างจริงจัง รัฐไม่เคยคิดที่จะลงทุนในด้านการวิจัยที่จะนำไปสู่การพัฒนาเพื่อค้นคว้าหานวัตกรรมใหม่ รัฐไม่เคยให้ความสำคัญ และสนับสนุนให้มีการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก

ดังนั้น รัฐจะต้องร่วมมือกับภาคเอกชนทุกส่วนในการดำเนินกิจกรรมด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนแนวคิด นวัตกรรม และวิธีดำเนินการบริหารจัดการการศึกษาอย่างมีระบบด้วยกัน มิใช่ต่างคนต่างคิด และต่างคนทำเหมือนทุกวันนี้

เลิกทำตัวเป็นเจ้านายการศึกษาที่ไร้คุณภาพเสียที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image