‘กนกวรรณ’ ลงพื้นที่ฟังปัญหาโรงเรียนเอกชน เร่งหาทางช่วย ‘ครู-น.ร.’ พัฒนาเท่าเทียมรัฐ

‘กนกวรรณ’ ลงพื้นที่ฟังปัญหาโรงเรียนเอกชน เร่งหาทางช่วย ‘ครู-น.ร.’ พัฒนาเท่าเทียมรัฐ

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ที่โรงเรียนลาซาล กรุงเทพ นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า วันนี้ตนได้หารือกับผู้ที่เกี่ยวกับการศึกษาเอกชนในหลายประเด็น พบประเด็นปัญหาที่น่าสนใจและต้องเร่งแก้ไข เช่น ภาระการชำระภาษีที่ดินของโรงเรียนเอกชน ที่ถือเป็นภาระหนัก โรงเรียนแบกรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนที่เปิดสอนเพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ ซึ่งโรงเรียนลาซาล ถือเป็นหนึ่งในนั้น สวัสดิการครูเอกชนถือเป็นเรื่องที่สำคัญ ตนได้หารือพร้อมกับตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไรที่ให้ครูได้รับสวัสดิการที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาล การเท่าเทียมกับภาครัฐ เป็นต้น และจะทำอย่างไรที่จะไม่ให้ครูเอกชนเข้าสอบบรรจุเป็นครูในหน่วยงานของรัฐ ต้องทำให้ครูมีความมั่งคงในชีวิต และได้รับสวัสดิการ ได้รับการดูแลอย่างดี ปัญหาอีกประเด็นคือ การแก้ปัญหาโรงเรียนเอกชนขาดแคลนครู เนื่องจากครูเหล่านี้สอบผ่าน สามารถบรรจุเข้าเป็นครู สังกัดของโรงเรียนรัฐ จะลาออกจากโรงเรียนเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ใหม่ด้วย

“นอกจากนี้ทางโรงเรียนลาซาล สะท้อนปัญหาที่น่าสนใจว่า คุณภาพการศึกษาของผู้ที่เรียนจบในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ น่าจะต้องได้รับการพัฒนาให้ดีกว่าเดิม เพื่อให้มีความพร้อมในการสอน มีความเป็นครูมากขึ้น ส่วนปัญญาที่โรงเรียนเอกชนปิดตัวไปจำนวนมากนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือ ซึ่งขอเวลาอีกระยะหนึ่ง ในการคิดหาทางออกที่ดีและชัดเจนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมทั้งเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนเอกชน ที่ยังไม่ได้เท่าเทียมกับรัฐ ถือเป็นประเด็นสำคัญในแก้ปัญหาต่อไป จากปัญหาทั้งหมดนี้ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด โดยมี นายพะโยม ชิณวงศ์ ศึกษาธิการภาค 1 (ปทุมธานี) เป็นประธาน พร้อมกับตัวแทนจากโรงเรียนเอกชน เข้ามาอยู่ในคณะทำงานด้วย เพื่อจะได้รู้ปัญหา จะได้เกาถูกที่ แก้ได้ถูกทาง”นางกนกวรรณ กล่าว

นางกนกวรรณ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ตนให้ความสำคัญมากกับการจัดการศึกษาโรงเรียนเอกชนนอกระบบ ที่จะพบปัญหาว่าโรงเรียนไม่ขออนุญาตจัดตั้งอย่างถูกต้องจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จนเกิดปัญหาเช่น สถาบันกวดวิชาเตรียมทหารแห่งหนึ่งในพื้นที่ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ที่ไม่ได้ขออนุญาตอย่างถูกกฎหมาย และดำเนินการสอน จนเป็นเหตุให้เด็กชายวัย 15 ปี ชาวจ.ตาก เสียชีวิต เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ทาง สช.อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลโรงเรียนเอกชนนอกระบบเหล่านี้ ว่ามีจำนวนเท่าใด ที่เปิดอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมายบ้าง และเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆขึ้นมา มีมาตรการอะไรในการแก้ไขแล้วบ้าง เพื่อจะรวบรวมข้อมูลหาทางออก ป้องกัน แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้ดีที่สุด เพื่อความสุขของพ่อแม่ผู้ปกครองด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image