‘สุวิทย์’ ถก2บอร์ดรับมือมหา’ลัยนอกคอก คุรุสภาดัดหลังม.รับเกินโควต้า ส่งชื่อน.ศ.แรกเข้า-จบ

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) มีมติชะลอการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา ของมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง หลังมีผู้ร้องเรียนหลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา เรียนจบแล้วแต่ไม่สามารถขอรับใบอนุญาตฯ ได้ และจากการตรวจสอบพบว่า มหาวิทยาลัยแอบเปิดสอนนอกสถานที่ตั้งโดยไม่ได้รับการรับรอง มีการรับนักศึกษามากกว่า 500 คน เกินกว่าจำนวนที่คุรุสภารับรอง โดยคุรุสภารับรองให้รับนักศึกษาเข้าเรียนจำนวน 100 คน ว่า ส่วนตัวยังไม่ทราบรายละเอียดในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ในการประสานข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหามหาวิทยาลัยที่ดำเนินการจัดการเรียนการสอนอย่างไม่ถูกต้องนั้น อนาคตจะต้องวางระบบเพื่อทำหน้าที่รับเรื่องที่เป็นปัญหาหรือจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพการจัดการศึกษาในอนาคต การแก้ไขต้องทำเชิงระบบ ไม่ใช่ทำเป็นรายมหาวิทยาลัย

“มหาวิทยาลัยที่ออกนอกลู่ เปิดสอนไม่ถูกต้อง ทำให้นักศึกษาได้รับความเสียหายนั้น ต้องจัดการอย่างเด็ดขาด โดยหลังแต่งตั้งคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) อย่างเป็นทางการ ผมจะหารือว่ากับคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด ว่ามีการบริหารจัดการเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้อย่างไร เพราะส่วนตัวไม่อยากไปก้าวล่วงอำนาจของหน่วยงานใด โดยผมจะใช้ระบบสั่งการ หรือควบคุมน้อยลง แต่อะไรที่ไม่ถูกต้อง อว.ก็มีหน้าที่เข้าไปดูแล แต่ก็ต้องทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อให้มหาวิทยาลัยจัดการศึกษาตอบโจทย์ประเทศ สามารถทำให้การศึกษาเดินไปได้ ไม่ใช่ไปในทิศทางที่ไร้มาตรฐาน ไร้ธรรมาภิบาล สะเปะสะปะ เกิดความเสียหายเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ โดย กกอ. และ ก.พ.อ. ก็ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนี้ด้วย” นายสุวิทย์กล่าว

นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาการ (กมว.) คุรุสภา กล่าวว่า กรณีมีมหาบัณฑิตมหาวิทยาลัยเอกชนเดือดร้อนกว่า 400 คน เนื่องจากไม่สามารถขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษาได้ เนื่องจากคุรุสภาอนุญาตให้มหาวิทยาลัยเปิดสอนแค่ 100 คนนั้น  นักศึกษาเหล่านี้จะต้องไปฟ้องร้องมหาวิทยาลัยเอง ซึ่งถือเป็นคู่กรณีของนักศึกษา เพราะเรื่องดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับคุรุสภา จึงไม่สามารถรับผิดชอบหรือช่วยเหลือได้ ซึ่งอยู่ที่การตัดสินใจของนักศึกษาว่าจะฟ้องร้องหรือไม่ โดยอาจจะฟ้องร้องในประเด็นเรียกร้องค่าเล่าเรียน หรือค่าชดเชยจากมหาวิทยาลัย เป็นต้น

“ส่วนจะมีมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องดังกล่าวขึ้นมาหรือไม่ กมว.จะระมัดระวังเรื่องนี้มากขึ้น อย่างไรก็ตามการเปิดสอนหลักสูตรต่างๆ มหาวิทยาลัยจะส่งข้อมูลหลักสูตรให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) รับทราบ และทางสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาให้การรับรอง โดยจะกำหนดจำนวนผู้เรียนไว้ด้วย เมื่อมหาวิทยาลัยเปิดรับสมัครผู้เรียนครบจำนวน จะส่งรายชื่อเข้ามายังคุรุสภาก่อน และเมื่อนักศึกษาเรียนจบหลักสูตรนั้นๆ แล้ว รายชื่อจะตรงกับที่คุรุสภาได้มาครั้งแรก ซึ่งทุกมหาวิทยาลัยทำแบบนี้ทั้งหมด หากมีมหาวิทยาลัยใดที่ตุกติก ทางคุรุสภาจะทราบทันที” นายเอกชัย กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image