‘ครูตั้น’ เล็งอบรมครูแนะแนว รับมือ น.ร.ป่วยซึมเศร้า

‘ครูตั้น’ เล็งอบรมครูแนะแนว รับมือ น.ร.ป่วยซึมเศร้า

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยหลังหารือร่วมกับกลุ่มผู้เข้าอบรมโครงการขยะ Palangpracharat Internship Program (PiP) รุ่น 1 ว่า ที่ประชุมได้นำเสนอประเด็นที่น่าสนใจหลายประเด็น เช่น การบริการจัดการขยะในโรงเรียน ซึ่งเป็นเรื่องที่ตนให้ความสนใจอยู่แล้ว เพราะจากการไปลงพื้นที่พบว่าทุกโรงเรียนมีความตั้งใจที่จะบริหารจัดการขยะในโรงเรียนให้ลดลง ขณะเดียวกันที่ประชุมมีข้อเสนอวิธีการจัดการให้ขยะมีมูลค่า ทำให้ตนมีความคิดว่าอาจจะดึง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เข้ามาช่วยดูแลและพัฒนาเรื่องการจัดการ บริหารขยะในโรงเรียนในสังกัดอื่นๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นต้น ให้มีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์และคุ้มค่า นอกจากนี้ที่ประชุยังเสนอถึงแนวทางการพัฒนาเกษตรในโรงเรียนโดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ซึ่งอยู่ในแผนของ ศธ.อยู่แล้ว ที่จะส่งเสริมพัฒนาโรงเรียนให้นำร่องด้านการเกษตร โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น การตรวจสอบวัดสถานะของดิน เป็นต้น แต่เรื่องนี้ตนขอหารือกับ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. ถึงแนวทางการพัฒนาอีกครั้งหนึ่ง

“ประเด็นสำคัญที่ได้หารือกันคือ ปัญหานักเรียนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หรืออยู่ในสภาวะที่เสี่ยงเป็นซึมเศร้าในโรงเรียน ว่าศธ.จะมีวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างไรบ้าง เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่เพราะจะพบว่าตัวเลขของนักเรียนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้น หากจะแก้ปัญหา ศธ.จะต้องทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และต้องมาศึกษาดูว่าการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยจะเกี่ยวข้องกับปัญหาใด เช่น ปัญหาสังคม ปัญหายาเสพติด หรือจะมาจากการเรียนและการสอบที่หนักขึ้น ทำให้นักเรียนเครียดนั้น ต้องศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง” นายณัฏฐพล กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการเพิ่มบุคลากร เช่น นักจิตวิทยาหรือครูแนะแนวที่มีความรู้เรื่องนี้หรือไม่ นายณัฏฐพล กล่าวว่า คงจะไม่เพิ่มครูเข้าไปโดยตรง เพราะจากที่ดูข้อมูลเบื้องต้น ทราบว่าจำนวนครูของศธ.มีความเพียงพอ ไม่จำเป็นต้องเพิ่มครูเข้ามาอีก แต่อาจจะอบรมครูแนะแนว เพิ่มความรู้ ทักษะในเรื่องโรคซึมเศร้าเข้าไป และขณะเดียวกัน การอบรมครูนั้นจะต้องไม่เป็นการเพิ่มภาระครู เพราะขณะนี้ตนพยายามบริหารจัดการให้ครูให้ทำงานอยู่ในห้องเรียนเพิ่มขึ้น แม้ภาระครูบางอย่างไม่ได้มาจาก ศธ.โดยตรงเพราะอาจจะผูกมากับหน่วยงานอื่นๆ นั้น ตนจะนำเรื่องนี้เข้าหารือกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงการโอนงาน หรือการแสดงผลงานโดยใช้โรงเรียนเป็นสถานที่เผยแพร่สามารถลดหรือบริหารจัดการอย่างไรได้บ้าง เพื่อไม่เป็นการเพิ่มภาระครูมากเกินไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image