กรมศิลป์แจ้ง “รมว.วธ.” รายงานผลสำรวจบ่อน้ำโบราณใน “กห.” …แนวทางฟื้นฟู-อนุรักษ์

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมศิลปากรได้ทำหนังสือถึงนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) เพื่อรายงานผลการตรวจสอบบ่อน้ำโบราณ บริเวณลานจอดรถกระทรวงกลาโหม โดยเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรลงพื้นที่ตรวจสอบเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา ผลการตรวจสอบพบว่า บ่อน้ำโบราณที่ถูกพบในบริเวณลานจอดรถ ด้านหน้าศาลเจ้าพ่อหอกลองของกระทรวงกลาโหม มีลักษณะก่ออิฐสอปูน อิฐมีขนาดยาว 21-22 ซม. กว้าง 10 ซม. หนา 7 ซม. โดยมีวิธีการเรียงอิฐวางตัวในแนวนอน สลับชั้นกับการวางสันอิฐตั้งเป็นชั้นๆ ความลึกของบ่อประมาณ 9 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางด้านในบ่อมีขนาด 120 ซม. ปูนที่ใช้ในการก่อเป็นปูนตำสีขาว ไม่มีหินหรือทรายเจือปน

โดยรอบบ่อน้ำมีเศษอิฐหักที่อิฐมีรอยประทับอย่างใหม่ถมอยู่โดยรอบปะปนกับชั้นส่วนกระเบื้องเชิงชาย และชิ้นส่วนภาชนะดินเผา ที่ผนังบ่อจากระดับปากบ่อลงไปประมาณ 30 ซม. มีช่องสี่เหลี่ยมขนาดประมาณ 10×10 ซม.อยู่ 2 ฝั่ง ตามแกนทิศตะวันออก-ตะวันตก แกนทิศเดียวกับศาลเจ้าพ่อหอกลอง สันนิษฐานว่าเป็นช่องสำหรับติดตั้งระบบชักรอก

Advertisement

ข่าวแจ้งว่า จากการศึกษาข้อมูลประวัติศาสตร์ในเบื้องต้นระบุว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯพระราชทานที่ดินบริเวณฉางข้าวหลวงเก่า โรงสีข้าวข้างหลักเมือง และหมู่วังเจ้านายที่ทรุดโทรม บริเวณริมถนนหน้าจักรวรรดิ หรือถนนสนามไชยในปัจจุบัน เพื่อก่อสร้างอาคารโรงทหารหน้า และได้ทรงเสร็จพระราชดำเนินเป็นปฐมฤกษ์ในพิธีเปิด เมื่อปี พ.ศ.2427 ต่อมาในปี พ.ศ.2430 ทรงมีพระบรมราชโองการประกาศจัดการทหาร สถาปนากรมยุทธนาธิการขึ้นที่บริเวณโรงทหหารหน้า อาคารแห่งนี้จึงถูกใช้งานอย่างต่อเนื่องจนเป็นกระทรวงกลาโหมในปัจจุบัน

เมื่อพิจารณาจากแผนที่กรุงเทพฯ ปี พ.ศ.2430 ปี พ.ศ.2439 และปี พ.ศ.2475 พบว่าบริเวณที่ลานจอดรถที่พบบ่อน้ำโบราณนั้น อยู่บริเวณสนามกลางพื้นที่อาคารโบราณสถาน แต่เมื่อพิจารณาร่วมกับภาพถ่ายเก่าของพื้นที่ในช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พบว่ามีกลุ่มอาคารทั้งที่ก่ออิฐถือปูน และอาคารเรือนไทย ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นหมู่วังเจ้านาย อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว

Advertisement

เมื่อนำอิฐจากบ่อน้ำโบราณที่พบไปเปรียบเทียบกับอิฐตัวอาคารว่าการกระทรวงกลาโหม พบว่ามีขนาดแตกต่างกัน โดยอิฐที่พบในบ่อน้ำโบราณจะมีความหนามากกว่า ซึ่งน่าจะมีอายุเก่าแก่กว่าอาคารศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม จึงสันนิษฐานว่าบ่อน้ำโบราณที่พบน่าจะเป็นบ่อน้ำที่ใช้ในการอุปโภคและบริโภค มาตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นพื้นที่กลุ่มวังของเจ้านาย หรือก่อนการจัดตั้งโรงทหารม้า ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2430 แต่ไม่อาจย้อนไปถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เนื่องจากขนาดอิฐที่พบนั้น ยังมีขนาดที่เล็กกว่าอิฐที่ใช้การก่อสร้างในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ยกตัวอย่างเช่นที่มีป้อมอิสินธร ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช อิฐที่พบมีขนาด 15×30 ซม. หนา 5 ซม. ตัวอย่างอิฐจากป้อมกำแพงเมืองกรุงธนบุรี ฝั่งคลองบ้านขมิ้น ซึ่งมีขนาด 15-17 x 32-35 ซม. หนา 7-10 ซม. หรือตัวอย่างอิฐในสมัยอยุธยาตอนปลายเช่น ป้อมวิไชยเยนทรฝั่งตะวันออก มีขนาด 26-28 x 13-14 ซม. หนา 5 ซม. เป็นต้น

ทั้งนี้ จากการเข้าพบปลัดกระทรวงกลาโหม ทางกระทรวงกลาโหมมีความประสงค์ที่จะทำการฟื้นฟูและอนุรักษ์บ่อน้ำโบราณแห่งนี้ โดยมีแนวทางที่จะทำการก่ออิฐตามแบบเดิมเพื่อยกระดับปากบ่อให้สูงขึ้น รวมทั้งลอกชั้นอิฐที่ทับถมออก เพื่อจัดระเบียบพื้นที่ให้สวยงาม แต่ด้วยมาตรการรักษาความมั่นคงสูงสุด จึงไม่สามารถที่จะดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีอย่างเต็มรูปแบบได้ กรมศิลปากรจึงได้เสนอให้มีการบันทึกข้อมูลโดยนักโบราณคดีของกรมศิลปากรในระหว่างการดำเนินการดังกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image