‘ทปอ.’ เผยปฏิทินสอบ ‘ทีแคส 63’ เปิดรับ 2 ธ.ค. พร้อมเปิดลงทะเบียนเรียนข้าม มหา’ลัย (คลิป)

‘ทปอ.’ เผยปฏิทินสอบ ‘ทีแคส 63’ เปิดรับ 2 ธ.ค. พร้อมเปิดลงทะเบียนเรียนข้าม มหา’ลัย

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมในการประชุมสามัญที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย และการประชุมสามัญสมาคมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ครั้งที่ 4/2562 ว่า ที่ประชุม ทปอ. ได้มีการสรุปผลการดำเนินงาน การสมัครคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือ ทีแคส ปีการศึกษา 2562 ซึ่งเป็นระบบที่มีการเปลี่ยนตามปัญหาที่เกิดขึ้นในทีแคส ปีการศึกษา 2561 ดังนั้น ในปี 2563 ทีแคส จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง จะยังเป็นเป็นไปตามระบบการดำเนินการรับสมัครทีแคส ปีการศึกษา 2562 เหมือนเดิม

“แต่ระบบใดๆ ในโลกล้วนมีการเปลี่ยนแปลง และจากการศึกษาข้อมูล พฤติกรรมของนักเรียนในระบบทีแคส 2562 พบว่า นักเรียนได้สมัครเลือกเข้าเรียนที่แตกต่างไปจากในอดีต ฉะนั้น ทีแคส ปีการศึกษา 2564 – ทีแคส ปีการศึกษา 2566 อาจจะมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลง โดยในปีการศึกษา 2564 จะใช้ระบบสมัคร 5 แบบ ยืนยันสิทธิ 4 รอบ เริ่มจัดสอบความถนัดทั่วไป หรือ GAT และความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ หรือ PAT ใหม่ ซึ่งทีแคสปีการศึกษา 2564-2566 ใช้ระบบ Double sorting เพิ่มโอกาสให้นักเรียนได้ที่นั่งความต้องการและเรียกสำรองที่นั่งให้ มหาวิทยาลัย” นายสุชัชวีร์ กล่าว

นายสุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า ส่วนระบบทีแคส 2565 ใช้ระบบทีแคส 2564 ใหม่ จะมีการประชาสัมพันธ์การรวมรอบยืนยันสิทธิรอบ 1 แฟ้มสะสมผลงาน และรอบ 2 โควต้า รวมทั้งจะเตรียมความพร้อมการปรับข้อสอบ 9 วิชาสามัญ และทีแคสปีการศึกษา 2566 จะใช้ระบบใหม่ คือ สมัคร 5 แบบ ยืนยันสิทธิ 3 รอบ ใช้เกณฑ์การคัดเลือก แอดมิสชั่นส์ใหม่ และใช้คะแนนผลการสอบรายวิชา GAT/PAT ใหม่ และ 9 วิชาสามัญรูปแบบใหม่ โดยทปอ. จะลงทุกพื้นที่เพื่อทำประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่นักเรียน ผู้ปกครอง โรงเรียน และครูแนะแนว เพื่อให้ทราบว่าทีแคส ปีการศึกษา 2563 – 2566 จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง อีกทั้ง ขณะนี้ ทปอ.ได้ส่งข้อมูลบิ๊กดาต้า เกี่ยวกับความต้องการของนักเรียนว่าอยากเรียนสาขา/คณะใด หรือไม่ต้องการสาขา /คณะใด และสละสิทธิในสาขาใด ไปยังอธิการบดีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เพื่อให้มหาวิทยาลัยปรับตัว

นายสุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ สำหรับปฎิทินทีแคส ปีการศึกษา 2563 สอบGAT/PAT วันที่ 22-25 กุมภาพันธ์ 2563 ประกาศผลวันที่ 1 เมษายน สอบการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต วันที่ 25 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม ประกาศผลสอบโอเน็ต วันที่ 27 มีนาคม สอบ 9 วิชาสามัญ วันที่ 14 – 15 มีนาคม ประกาศผลสอบ 9 วิชาสามัญ วันที่ 5 เมษานน ส่วนการประกาศผลทีแคส 2563 นั้น ในรอบที่ 1 แฟ้มสะสมผลงาน วันที่ 2 ธันวาคม 2562- 4 กุมภาพันธ์ 2563 รอบที่ 2 โควต้า วันที่ 6 กุมภาพันธ์ – 25 เมษายน รอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน วันที่ 17 เมษายน -19 พฤษภาคม รอบที่ 4 แอดมิสชั่นส์ วันที่ 9 พฤษภาคม – 8 มิถุนานน และรอบที่ 5 รับตรงอิสระ วันที่ 30 พฤษภาคม -17 มิถุนายน

Advertisement

“นอกจากนั้น ที่ประชุมทปอ.ได้มีการแจ้งเกี่ยวกับการลงทะเบียนข้ามมหาวิทยาลัย ซึ่งตอนนี้มหาวิทยาลัยได้มีการดำเนินการบ้างแล้ว เช่น หากนักศึกษาเรียนอยู่ที่ มจพ. จะไปเรียนในสาขาอื่น มหาวิทยาลัยอื่น ก็สามารถเรียนได้ ต่อไปจะไม่มีกำแพงระหว่างคณะ มหาวิทยาลัย โดยการลงทะเบียนข้ามมหาวิทยาลัยกำลังพัฒนาให้อยู่ในแพลตฟอร์มที่ง่ายขึ้น เช่น ลงทะเบียนข้ามคณะบนโทรศัพท์มือถือได้ ส่วนการได้รับปริญญานั้น นักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนข้ามมหาวิทยาลัยหากเรียนจบตามหลักสูตรในมหาวิทยาลัยที่ตนเองข้ามไปเรียนก็สามารถขอจบปริญญาจากมหาวิทยาลัยนั้นๆ ได้” นายสุชัชวีร์ กล่าว

นายพีระพงศ์ ตริยเจริญ ผู้ช่วยเลขานุการทปอ. กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลบิ๊กดาต้า ทีแคส ปีการศึกษา 2562 พบว่า กลุ่มสาขาที่มีอัตราการแข่งขันสูงสุด นั่นคือ กลุ่มสาขาแพทย์ศาสตร์ 1 : 9.24 แต่เมื่อพิจารณาลงไปแต่ละสาขาที่มีอัตราการแข่งขันสูง พบว่า สาขาทันตแพทยศาสตร์ 1 : 15 และสาขาเภสัชศาสตร์ 1 : 14 ขณะที่ สาขาที่แข่งขันน้อยที่สุด คือ สาขาศิลปกรรม 1 : 2.7 ส่วนสาขาที่ผ่านการคัดเลือกมากที่สุด คือ สาขาครุศาสตร์ และสาขาสังคมศาสตร์ สำหรับสาขาที่เด็กสละสิทธิมากที่สุด คือ สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ และสาขาสุขภาพ 35.6%

“ข้อมูลบิ๊กดาต้าที่เรามี เช่น สถิติของแต่ละสาขา และหลักสูตรที่นักเรียนเลือกเรียน อัตราการแข่งขัน ข้อมูลการสละสิทธิ เช่น รอบ 3 พบว่า มีการสละสิทธิ ทุกอันดับบางรายติดอันดับ 1 ก็ยังสละสิทธิ เป็นต้น รวมทั้งเห็นข้อมูลด้วยว่า นักเรียนบางคน ติดรอบ 3 ในสาขาและมหาวิทยาลัยหนึ่ง แต่สละสิทธิและสมัครรอบ 4 โดยเลือกในสาขาและมหาวิทยาลัยเดียวกันกับรอบ 3 ซึ่งบางรายก็สอบติด บางรายก็สอบไม่ติดในรอบ 4 เพราะนักเรียนมีความมั่นใจว่า ในเมื่อรอบ 3 สอบติด รอบ 4 ก็ต้องสอบติด และอยากมีตัวเลือกอื่นใน รอบ 4 ซึ่งสิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า เด็กมีความโลเล และอยากลองของ โดยที่ลืมไปว่า รอบ 3 และ รอบ 4 นั้นมีหลักเกณฑ์การคัดเลือกที่ต่างกัน ทั้งยังพบว่า มหาวิทยาลัยในเมืองและมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ มีอัตราการแข่งขันสูงกว่า มหาวิทยาลัยนอกเขตเมือง เป็นต้น” นายพีระพงศ์ กล่าว

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image