น.2รายงาน : รมช.ศธ.ชื่อ‘คุณหญิงกัลยา’ ดันเรียน‘อันปลั๊ก’-รู้‘โค้ดดิ้ง’ ปฏิรูปการศึกษา-สร้างคน

หมายเหตุ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” ถึงนโยบายที่จะช่วยผลักดันด้านการศึกษาของเยาวชนไทย

• เตรียมตัวอย่างไรบ้างกับการทำงาน

แทบจะไม่ต้องเตรียมตัวอะไร เพราะเป็นคนที่สนใจการศึกษาตั้งแต่เด็ก จนเมื่อแต่งงาน มีลูก และปัจจุบันมีหลานแล้ว ก็เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับลูกหลานมาตลอดเวลา จึงมีความสนใจและเข้าใจเกี่ยวกับการศึกษา จะเรียกว่าสนใจการศึกษามาตลอดชีวิตก็ได้

• ปัญหาการศึกษาไทยอะไรที่คิดว่าต้องเร่งแก้ไข

Advertisement

ปัญหาการศึกษามีมาตลอด เพราะ ศธ. เป็นกระทรวงใหญ่ มีองคาพยพที่หนัก เกี่ยวข้องกับคนหลายล้านคน ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ ครู นักเรียน ซึ่งแต่ละช่วงวัยจะมีปัญหาการศึกษาที่ต่างกัน และปัจจุบันมีปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีเปลี่ยนไปอย่างก้าวกระโดด จึงมีผลกระทบกับทุกคนไม่ใช่เฉพาะการศึกษาเท่านั้น คนทำงาน แรงงาน ข้าราชการ ภาคเอกชนได้รับผลกระทบทั้งทางดีและทางลบ

เมื่อการศึกษาเกี่ยวข้องกับการเจริญก้าวหน้าของคนในสังคม การสอนให้เด็กเรียนรู้ ให้คิดเป็น มีตรรกะ สามารถวางแผนชีวิตของตนได้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่เราจะต้องสร้างคนลักษณะนี้เข้าสู่ศตวรรษที่ 21 จึงเป็นภาระหนักของ ศธ.ที่รับผิดชอบงานด้านการศึกษาพัฒนานักเรียน

อีกทั้งนโยบายของรัฐบาล และนโยบายเร่งด่วนเน้นเรื่องการสร้างคน ในส่วนของ ศธ. จะสร้างทรัพยากรมนุษย์เข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เป็นหลัก โดยสร้างพื้นฐานของการเรียนรู้สมัยใหม่ ไม่ใช่เป็นการเรียนรู้เน้นเนื้อหาสาระแล้ว แต่การเรียนรู้ของเด็กต่อไปนี้จะเป็นการเรียนรู้เพื่อจะปรับตัวเข้าสู่สังคมที่ผันผวน และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้อย่างไรมากกว่า

Advertisement

เพราะฉะนั้นครูที่เคยสอนให้ความรู้กับเด็กเพียงอย่างเดียวนั้นไม่พอ ต้องสอนให้เด็กสามารถหาความรู้เอง ต่อไปครูจึงมีหน้าที่ใหม่ คือเป็นพี่เลี้ยง สอนให้เด็กเรียนรู้ มีความอยากรู้อยากเห็น สอนมีเหตุ มีผล เกิดความตื่นตัว จะสอนให้เด็กเก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องสอนให้เข้าสังคมและทำงานร่วมกันคนอื่นได้ จึงเป็นความสำคัญของการศึกษาไทยที่ ศธ.ต้องรีบทำ

สำหรับดิฉัน จบการศึกษามาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เป็นคนที่เรียนรู้และติดตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีมาตลอด และช่วงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) จึงทำให้ทันความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เมื่อเข้ามารับในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. ก็จะเริ่มทำงานทันที โดยเน้นเรื่องเรียนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ วิจัย

สุดท้ายคือการผลักดันนโยบายเร่งด่วน ข้อที่ 7 ที่ต้องทำภายในปีนี้ คือ การส่งเสริมการเรียนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี คณิตศาสตร์ วิจัย และภาษาคอมพิวเตอร์หรือโค้ดดิ้ง ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 โดยจะสอนให้นักเรียนคิดอย่างเป็นระบบ มีตรรกะ สามารถแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
สิ่งเหล่านี้คือหลักคิดของโค้ดดิ้ง สามารถสอน และสร้างกิจกรรมให้นักเรียนได้เรียนและเล่น โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือ หรือคอมพิวเตอร์ เรียกว่าการเรียนแบบอันปลั๊ก (Unplugged)

• จะทำให้การเรียน ‘โค้ดดิ้ง’ เห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างไร

มองว่าการสอนโค้ดดิ้งถือเป็นการปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริง เพราะถึงตัวนักเรียนโดยตรง และตอบโจทย์ยุคไทยแลนด์ 4.0 ส่วนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการสอนโค้ดดิ้ง เพราะนักเรียนเป้าหมายส่วนใหญ่อยู่ในนี้ พร้อมให้สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) อบรมครูแกนนำ 1,000 คน ช่วงเดือนตุลาคมนี้ เพื่อให้ครูแกนนำขยายผลต่อไปโดยใช้หลักสูตรและตำราที่ สสวท.จัดทำขึ้นมารองรับ

ขั้นต่อไปจะให้โรงเรียนที่สนใจและมีความพร้อมสมัครเข้ามารับการอบรมเพื่อเปิดสอนในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 ได้ทันที ขณะนี้กำลังวางแผนการเปิดรับสมัครโรงเรียนที่สนใจเข้าร่วมในการสอนว่าจะเปิดรับสมัครในระบบออนไลน์หรือออฟไลน์ แต่เชื่อว่ามีโรงเรียนที่สนใจจำนวนมาก เพราะไม่อยากตกขบวน

ส่วนการประเมิน จะต้องมีตัวชี้วัดว่านักเรียนได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ซึ่งมี 2 แนวทาง คือตัวชี้วัดที่เป็นนามธรรม และตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรม คือให้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) บรรจุการสอนโค้ดดิ้ง เข้าไปในการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ตด้วย เพื่อวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ส่วนจะบรรจุการสอบโค้ดดิ้งให้ทันภายในการสอบโอเน็ต ปีการศึกษา 2562 หรือไม่ ขึ้นอยู่กับ สทศ.ว่าจะทำได้เร็วหรือไม่

• หลายคนมองว่าการศึกษาใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล

อาจจะไม่นาน อย่างการเรียนโค้ดดิ้งจะเป็นผลงานการศึกษาที่เห็นผลทันที และการเรียนโค้ดดิ้งนั้นเป็นการปฏิรูปการศึกษาสู่นักเรียนโดยตรงเป็นครั้งแรก และอยู่ในยุค 4.0 อย่างแท้จริง ถือเป็นตัวอย่างของการปฏิรูปการศึกษาที่เป็นรูปธรรมและถึงตัวเด็กอย่างแท้จริงภายในไม่กี่เดือน

• รับผิดชอบหน่วยงานใดบ้าง และวางแผนจะพัฒนาอย่างไร

ได้รับผิดชอบดูแลงาน สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้มอบนโยบายเบื้องต้นให้ สกศ.ไปพัฒนาตนเองให้เป็นขงเบ้งแห่ง ศธ. เพราะเป็นหน่วยงานที่กำหนดทิศทางการศึกษาไทยว่าควรจะไปทางไหน ควรจะทำอย่างไร

ต่อมาคือสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เป็นหน่วยงานที่ผลิตครูวิทยาศาสตร์มาเป็นเวลานาน เมื่อดิฉันพูดถึงนโยบายโค้ดดิ้ง สสวท.ดีใจมาก เพราะมีตำราและหลักสูตรเตรียมไว้อยู่แล้ว และพร้อมจะเดินหน้าไปด้วยกัน สสวท.ไม่หยุดนิ่งเพราะต้องพัฒนาหลักสูตรให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก

รวมถึงการดูแลพัฒนาวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ดิฉันอยากสนับสนุนให้เกษตรกรเพิ่มทักษะ และเปลี่ยนแปลงทักษะของตน โดยใช้ วษท.เป็นศูนย์กลาง เป็นฐานในการให้ความรู้ประชาชน ซึ่งจะสนับสนุนเรื่องนี้ทันที โดยเพิ่มวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเข้าไปในการเรียน รวมทั้งการมีส่วนร่วมจากชุมชน ไม่ว่าจะเป็นปราชญ์ชาวบ้าน ผู้รู้ที่มีประสบการณ์ ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ มาเป็นครูสอนและพัฒนาเกษตรกร และจะดึงสภาหอการค้าฯ และสภาอุตสาหกรรมของจังหวัด เข้ามาช่วยสนับสนุน ขอให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเกษตรกรไทยด้วย

ส่วนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เป็นโรงเรียนที่คัดเลือกเด็กเก่งจากทั่วประเทศเข้ามาเรียนเป็นโรงเรียนประจำ รัฐบาลจะสนับสนุนทุนนักเรียนเหล่านี้โดยตรง นอกจากนี้โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ร่วมพัฒนาโรงเรียนน้อง กว่า 120 แห่ง ถือเป็นเรื่องที่ดี เพียงแต่ว่าดิฉันอยากเห็นเด็กเหล่านี้ที่นอกจากเรียนเก่งที่ได้รับการสนับสนุนจากภาษีของประชาชน เป็นคนดี ทำกิจกรรมจิตอาสาคืนให้แก่สังคม เช่น การทำจิตอาสาช่วงปิดเทอม

นอกจากนี้ ยังรับผิดชอบดูแลสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการประเมินมาตรฐานการศึกษา ซึ่ง สมศ.ได้ทำการประเมินมาระยะหนึ่งแล้ว แต่มีข้อวิพากษ์วิจารณ์มาบ้าง ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะการตรวจประเมินคล้ายกับการไปจับผิดคนอื่น อาจจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการ เช่น ลงไปตรวจสอบสร้างสรรค์ ปรับเปลี่ยนท่าทีลงพื้นที่ไปแนะนำ เป็นต้น

• ได้รับดูแลหน่วยงานที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก จะเป็นฐานเสียงทางการเมืองได้หรือไม่

อยู่ที่เราว่าตั้งใจทำสิ่งนี้ให้กับใคร ถ้าทำแล้วเด็ก พ่อแม่ และประชาชนได้ประโยชน์ เสริมสร้างให้เด็กทันสมัย เรียนอย่างสนุก แต่ถ้ามองอีกแง่หนึ่งคือ ศธ.เป็นกระทรวงที่เข้าถึงคนทุกระดับ ทุกวัย เราทำให้ลูกของประชาชนมีความสุข แล้วประชาชนจะไม่เลือกคุณหญิงกัลยาต่อหรือคะ

ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก จะไปทำเหมือนเก่าไม่ได้ ที่จริงประชาชนก็เปลี่ยน ความต้องการก็เปลี่ยน เราก็เปลี่ยนและเรียนรู้ตลอดเวลา ดิฉันอยากส่งเสริมให้นักเรียนมีความอยากรู้ อยากเห็น เพื่อต่อไปเด็กเหล่านี้จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ถือเป็นหน้าที่สำคัญของ ศธ.ที่จะต้องสอนเด็กเรียนรู้ให้มากขึ้น เป็นคนดี
มีคุณธรรม จริยธรรม รู้หน้าที่ของตน และที่สำคัญต้องสนุกกับการเรียน

• รัฐมนตรีทั้ง 3 มาจากคนละพรรคการเมือง ทำงานร่วมกันได้หรือไม่

ที่ผ่านมาทำงานร่วมกันได้ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.พูดเสมอว่าอยากให้รัฐมนตรีทั้ง 3 คน ทำงานร่วมกัน ไม่สามารถแยกออกจากกันได้หมด อย่างที่ดิฉันเดินหน้านโยบายโค้ดดิ้ง จะเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน เช่น สพฐ. ซึ่งนายณัฏฐพลกำกับดูแลอยู่ ดิฉันก็สามารถเข้าไปทำงานได้ ทั้งนี้ นายณัฏฐพลอยากจะส่งเสริมการเรียนโค้ดดิ้งให้กับเด็กปฐมวัยอีกด้วย ซึ่งดิฉันคิดว่าจะส่งเสริมให้เกิดขึ้นได้ ถือเป็นการทำงานร่วมกันอีกอย่างหนึ่ง

• งานที่ทำค่อนข้างเครียด มีวิธีการคลายเครียดอย่างไร

ไม่เครียด เพราะทำด้วยความตั้งใจ บริสุทธิ์ใจ ทำทุกอย่างให้ดีที่สุดในเงื่อนไขว่ามีกำลังคนเท่านี้ มีเงินเท่านั้น มีเวลาเท่านี้ ต้องทำให้ดีที่สุดในสิ่งที่เชื่อว่าดีต่อสังคม ดีต่อเด็ก ดิฉันมีปรัชญาในการทำงานที่ว่า ไม่ผิดหวังเพราะไม่คาดหวัง เพราะทำเต็มที่แล้วได้เท่าไหร่เท่านั้น ส่วนการคลายเครียดก็อยู่กับครอบครัว ลูกหลาน ไปเจอเพื่อนที่รู้จักพูดคุยกัน ถือเป็นการคลายเครียดอีกแบบ

• ดูแลตัวเองอย่างไร?

พ่อแม่ให้มาดีค่ะ (หัวเราะ) ออกกำลังกายเท่าที่ทำได้ เดินออกกำลัง ขึ้นเขาลงห้วย ปลูกต้นไม้มา 32 ปี ก็ขึ้นเขาลงห้วยตลอดเวลา ได้ตอบแทนคุณแผ่นดิน เพราะช่วยปลูกต้นไม้กว่า 20 ล้านต้น และสร้างความสุขให้ดิฉันด้วย

• งานอดิเรกที่ชอบทำ?

ด้วยความเป็นนักวิทยาศาสตร์ ก็คิดว่าเป็นคนไม่มีศิลปะ แต่พอได้วาดรูป ก็วาดได้และเพลินมาก นอกจากนี้ก็เล่นดนตรี เช่น เปียโน ฟังเพลง ซึ่งแนวเพลงที่ชอบอาจจะโบราณ คือคลาสสิก หรือเพลงร่วมสมัย จะเปิดเพลงไว้ไม่ว่าจะอ่านหนังสือหรือทำงานก็มีดนตรีเป็นเพื่อน

• คำวิจารณ์ที่มองว่าอายุเยอะแล้ว (77 ปี) จะทำให้การศึกษาถอยหลังหรือไม่

การศึกษาไม่มีอายุ ถ้าคนคนนั้นยังใส่ใจที่จะเรียนรู้ ก็สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต ดิฉันทำให้เด็กล้าหลังหรือถอยหลังหรือไม่ ก็เปล่าเลย คำสบประมาทเช่นนั้น ไม่เป็นความจริง ถ้าคนเป็นเด็กแต่ไม่สนใจงานด้านการศึกษา คุณก็พัฒนาอะไรไม่ได้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image