เผยภาพขุดทางยกระดับ เจอปราการ ‘พระเจ้าตาก’ อ.โบราณคดี ชี้ทรงเป็นแกนหลักนำบ้านเมืองจากวิกฤตสู่ปกติสุข

เป็นผลงานออกใหม่ที่น่าสนใจอีกเล่ม สำหรับ ‘ศิลปะกรุงธนบุรี’ โดย รศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ผู้ลือลั่นจาก ‘วัดร้างในบางกอก’ ที่เจ้าตัวเดินเท้าสำรวจอารามที่รกร้างร่วงโรย

ล่าสุด กลั่นกรองความรู้และข้อมูลลึกซึ้งออกมาเป็นตัวอักษรบนหน้ากระดาษด้วยเรื่องราวด้านศิลปกรรมในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในชื่อ ‘ศิลปะกรุงธนบุรี’ โดยสำนักพิมพ์มติชนเช่นเคย

ในตอนหนึ่ง รศ.ดร. ประภัสสร์ ระบุข้อความน่าสนใจดังนี้

“ดูเหมือนว่าประวัติศาสตร์และเรื่องราวสมัยธนบุรีทั้งหมดจะมีเพียงสมเด็จพระเจ้าตากสินเท่านั้นที่ได้รับการกล่าวถึง ซึ่งก็ไม่ไกลจากความจริงที่ว่าพระองค์ทรงเป็นแกนหลักในการนำพาบ้านเมืองจากภาวะวิกฤตมาสู่ความปกติสุข

Advertisement

แต่ทว่า พลวัตหรือการเดินไปข้างหน้าของกรุงธนบุรีนั้น ย่อมประกอบด้วยกลไกหลายๆอย่าง ศิลปกรรมและงานช่างเป็นกลไกอย่างหนึ่งที่รัฐจารีตในสมัยโบราณจำเป็นจะต้องมีไว้เพื่อกล่อมเกลาจิตใจของผู้คนให้เป็นไปตามกรอบความเชื่อทางศาสนา ราชประเพณี และการปกครอง ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะงดกล่าวถึงประวัติศาสตร์สมัยธนบุรีในด้านศิลปะทั้งนี้เพื่อให้ศิลปะเล่าเรื่องและฉายภาพที่สมบูรณ์ทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และสังคมสมัยธนบุรี

อย่างไรก็ตาม การค้นคว้าของนักวิชาการที่ผ่านมา มักให้คำอธิบายศิลปะสมัยธนบุรีไว้ว่า ในระยะเวลาสั้นๆ ราว 15 ปี เป็นระยะเปลี่ยนผ่านที่แสนวุ่นวาย ทั้งจากสงครามและความแร้นแค้นจนเกือบไม่มีการสร้างสรรค์ศิลปะใดๆ ขึ้นเลย แถมงานศิลปะสมัยะนบุรีที่มีจำนวนน้อยนิดนั้นก็ถูกนักประวัติศาสตร์ศิลปะจัดรวมไว้กับศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลายจนมองข้ามประเด็นทางศิลปะที่สำคัญไป และเนื่องด้วยศิลปกรรมที่ได้พบนั้นมีน้อยมาก ประกอบกับกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งซ้อนทับอยู่กับถิ่นฐานเดิมของกรุงธนบุรี จึงทำให้ศิลปกรรมที่สร้างขึ้นในพื้นที่ราชธานีเก่าถูกช่างรุ่นรัตนโกสินทร์ซ่อมแซมเปลี่ยนแปลงเรื่อยมาจนยากที่จะนิยามรูปแบบออกมาให้เห็นประจักษ์ได้…”

Advertisement

รศ.ดร. ประภัสสร์ ยังระบุว่า ตนไม่ได้มีเจตนาที่จะนิยามรูปแบบศิลปกรรมสมัยกรุงธนบุรีออกมาเป็นรูปธรรม เนื่องจากเข้าใจข้อจำกัดของหลักฐานงานช่างสมัยดังกล่าว แต่พยายามอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างสมัยธนบุรีและสมัยสืบต่อเนื่องลงมาอีกเล็กน้อยว่าหากจะกล่าวกันในแง่ของศิลปกรรมแล้ว การฟื้นฟูบ้านเมืองของชนชั้นนำในกรุงธนบุรีด้วยกระบวนการทางวัฒนธรรมมีความเคลื่อนไหวเพียงใด และยังพอมีหนทางสืบค้นชิ้นงานหรือแหล่งที่ระบุได้ว่าเป็นศิลปะของกรุงธนบุรีได้มากน้อยแค่ไหน

จากการศึกษาค้นคว้า รศ.ดร.ประภัสสร์ได้ข้อสรุปสำคัญว่าศิลปกรรมสมัยกรุงธนบุรี เป็นการสืบทอดงานสมัยอยุธยา ซ่อมวัดเดิม ไม่มีพระอารามหลวงสร้างใหม่ ไม่มีพระมหาปราสาทสัญลักษณ์ราชธานี ไม่พบหลักฐานศิลปกรรมเป็นแบบอย่างชัดเจน เพราะเป็นพื้นที่ราชธานีทั้งสมัยธนบุรี และรัตนโกสินทร์

“…การปฏิสังขรณ์วัดเก่าจนกระทั่งเริ่มสร้างงานประณีตศิลป์เพื่อศาสนาตลอดระยะเวลาการเป็นราชธานีของกรุงธนบุรี เท่ากับเป็นการสืบอายุงานช่างเพื่อให้เป็นรากฐานสำคัญที่จะเกิดขึ้นในศิลปะรัตนโกสินทร์อันเฟื่องฟูมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น 15 ปีของกรุงธนบุรีจึงไม่ใช่ช่องว่างที่นิ่งสนิททางประวัติศาสตร์ศิลปะไทยอย่างที่เราเคยเข้าใจกันมาก่อน” รศ.ดร.ประภัสสร์กล่าว

ทั้งนี้ ในหนังสือเล่มดังกล่าว ยังเผยภาพและข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับการขุดพบกำแพงหรือป้อมปราการริมคูเมืองธนบุรีฝั่งตะวันตกขณะก่อสร้างทางยกระดับอรุณอมรินทร์ใกล้สถานีรถไฟธนบุรี (บางกอกน้อย) โดยพบว่าคูเมืองตื้นเขินหมดสภาพแล้ว โดยคูเมืองธนบุรีฝั่งตะวันตก ปัจจุบันเรียกคลองบ้านขมิ้น เป็นแนวขนานไปกับถนนอรุณอมรินทร์ อยู่ในสภาพตื้น แคบ เป็นร่องน้ำเล็กๆ เท่านั้น

กำแพงหรือป้อมปราการริมคูเมืองธนบุรีฝั่งตะวันตก พบขณะก่อสร้างทางยกระดับอรุณอมรินทร์ใกล้สถานีรถไฟธนบุรี (ภาพถ่าย พ.ศ.2559)
โครงการก่อสร้างบริเวณแนวที่ตรงกับคูเมือง ก่อนขุดเจอป้อมปราการ
คูเมืองซึ่งปัจจุบันอยู่ในสภาพตื้นเขิน
ปากซอยอิสรภาพ 44 ด้านถนนอรุณอมรินทร์ พบแนวกำแพงกรุงธนบุรีที่สร้างขนานไปกับคูเมือง จึงมีการปูอิฐสีแดงคาดไว้เป็นจุดสังเกตว่าเคยเป็นรากกำแพงมาก่อน
แผนที่กรุงธนบุรี ฝีมือสายลับพม่า หมายเลข 2 คือ บ้านเจ้าพระยาจักรี หรือรัชกาลที่ 1 ในเวลาต่อมา

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image