นักวิชาการยัน ไทยขึ้นทะเบียน “โขน” ช้า ไม่กระทบ เหตุอนุสัญญาฯเน้นรู้ค่า-สืบทอด ไม่ใช่ขีดเส้นแบ่ง-แย่งเป็นเจ้าของ

ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ นักวิชาการ (ภาพจากเวปไซต์ ม.นเรศวร)

กรณีเกิดกระแสในโซเชียลเน็ตเวิร์กซี่งมีการเผยแพร่ภาพและข้อความเกี่ยวกับ โขนไทยและกัมพูชาโดยมีการถกเถียงกันเรื่องที่มาและความเป็นเจ้าของการแสดง ดังกล่าว ซึ่งเวปไซต์พนมเปญโพสต์ ของกัมพูชาระบุว่า กระแสดังกล่าวเกิดขึ้นหลังมีการนำเสนอข่าวว่ากระทรวงวัฒนธรรม ประเทศไทยเตรียมเสนอการแสดงโขนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ต่อองค์กรการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก ต่อมา นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศ กล่าวว่า ไทยอาจขึ้นทะเบียนช้า เพราะไม่ได้เป็นสมาชิกภาคีตามอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะแสดงโขนไม่ได้ อีกทั้งสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ยังเหมือนเดิมนั้น

นายชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ นักวิชาการและหนึ่งในคณะทำงานจัดทำหนังสือ “มรดกแห่งชาติ : บทเรียนจากเพื่อนบ้าน” ซึ่งเป็นการรวมบทความแปลเกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมในประเทศอาเซียน กล่าวว่า การที่ประเทศไทยยังไม่เป็นสมาชิกภาคีตามอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ รวมถึงการขึ้นทะเบียนที่ช้ากว่าประเทศอื่น ไม่ได้ส่งผลกระทบใดๆในด้านลบ เพราะหากตีความตามอนุสัญญาดังกล่าว จะพบว่ามีเนื้อหาในด้านการส่งเสริม สนับสนุนผู้สืบทอดวัฒนธรรมดังกล่าวให้ตระหนักถึงคุณค่า ไม่ได้มีผลต่อการขีดเส้นแบ่งแยก หรือแสดงความเป็นเจ้าของเพียงผู้เดียว ใครจะขึ้นทะเบียนก่อนหลัง จึงไม่ใช่ประเด็นสำคัญแต่อย่างใด

“การขึ้นทะเบียนช้ากว่าคนอื่น ไม่ได้ส่งผลเสียอะไร เพราะอนุสัญญานี้ เป็นเรื่องของการเชื่อมโยงต่อบุคคลที่สืบทอดให้ตระหนักว่าวัฒนธรรมนั้นๆ มีคุณค่า สนับสนุนให้เกิดการถ่ายทอดต่อไป และจะคงอยู่ต่อไปอย่างไรในอนาคต ไม่ใช่การขีดเส้นแบ่ง หรือหาต้นกำเนิดว่าของใครเกิดก่อน ซึ่งผิดจุดประสงค์ของอนุสัญญา ไม่ใช่ว่าการศึกษาประวัติความเป็นมาจะไม่สำคัญ แน่นอน ต้องมีการศึกษา แต่ไม่ใช่เพื่อชี้ว่าเป็นของชาติไหน อย่างโขนในไทยก็มีหลายแบบ จะขึ้นทะเบียนแยกย่อยออกไปอีกก็ได้เช่นกัน นอกจากนี้ ยังไม่ใช่การตัดสินว่า แบบไหนถูกหรือผิดไปจากขนบที่เคยทำ เพราะวัฒนธรรมต้องมีการปรับตัวของมันเองเป็นธรรมดา ไม่ใช่การถูกแช่แข็ง” นายชีวสิทธิ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image