บอร์ดกกศ.ดับฝัน ‘กศน.’ ขอเป็นแท่ง คาดสรุปผลประชาพิจารณ์ร่างพ.ร.บ.การศึกษาชาติพ.ย.นี้

เมื่อวันที่ 10 กันยายน นายณัฏฐพล  ทีปสุวรรณ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสภาการศึกษา( กกศ.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้หารือความคืบหน้า แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560 – 2579 และความก้าวหน้าการดำเนินการร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ทั้งนี้จากการรับฟังความคิดเห็น ที่ผ่านมามีทั้งผู้คัดค้านและสนับสนุนและข้อเสนอเพิ่มเติมในหลายประเด็น   อาทิ การเปลี่ยนชื่อตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียน เป็น ครูใหญ่  และรองผู้อำนวยการโรงเรียนเป็น ผู้ช่วยครูใหญ่ เนื่องจากถือเป็นการลดศักดิ์ศรี มีผลต่อการมีวิทยฐานะ การยกเลิกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู และให้ใช้ใบรับรองความเป็นครูแทนของเดิม เพราะจะทำให้ครูใหม่เสียโอกาส และสิทธิประโยชน์ที่กำหนดตามตำแหน่ง รวมถึงเสนอให้มีการกำหนดเรื่องสวัสดิการครูไว้ในร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวด้วย   โดยคณะทำงาน สกศ. ได้รวบรวมข้อคิดเห็นแบ่งเป็น  5 ประการ ดังนี้ 1.ควรแยกการบริหารการศึกษาระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา เพราะวิธีจัดการเรียนการสอนแตกต่างกัน 2.ควรปรับลดโครงสร้างการบริหารงานจากส่วนกลางให้สั้นลงเพื่อถึงโรงเรียนโดยเร็ว 3. ควรลดโครงการต่าง ๆ และภารกิจที่ราชการส่วนกลาง/จังหวัด มอบเป็นภาระเพิ่มแก่โรงเรียน 4.ควรคำนึงถึงระบบสวัสดิการของครูในโรงเรียนเอกชนให้ใกล้เคียงกับข้าราชการครู และ 5.ควรให้ความสำคัญเรื่องปัญหาหนี้สินครูและสวัสดิการต่าง ๆ ซึ่งตนได้มอบ มอบหมาย สกศ. จัดการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหน่วยงานใน ศธ. องค์กรวิชาชีพครูต่าง ๆ ในประเด็นที่เห็นค้านต่อสาระของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. และความคิดเห็นอื่น ๆอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง ในช่วงเดือน กันยายน – ตุลาคมก่อนหารือร่วมกันอีกครั้งวันที่ 29 พฤศจิกายน ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาต่อไป

นายณัฏฐพล กล่าวต่อไปว่า สำหรับการปรับโครงสร้างของศธ. ที่มีข้อเสนอให้ยกฐานะสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) เป็นองค์กรหลัก หรือ เป็นอีกแท่งหนึ่งใน ศธ.นั้น ตนเห็นว่าแท่งไม่น่ามีเพิ่มแล้วเพราะขณะนี้ก็มีหลายแท่งแล้ว ส่วนการทำงานที่มีประสิทธิภาพนั้นตนเห็นว่าหน่วยงานภายใน ศธ.ที่มีอยู่สามารถบริหารจัดการได้ตามหน่วยงานที่มีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นคงไม่กระทบโครงสร้างที่เกี่ยวกับบริหารงานในกระทรวง แต่การบริหารจัดการในภูมิภาคยังมีความทับซ้อนของ ศึกษาธิการภาค (ศธภ.) ศึกษาธิการจังหวัด( ศธจ.) และ  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) อยู่บ้าง รวมถึงเรื่องการกระจายอำนาจเพราะการศึกษาที่มีประสิทธิภาพต้องมีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ ส่วนจะต้องเสนอปรับแก้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการหรือไม่นั้น ต้องรอดูข้อเสนอก่อน     .

“พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ แต่เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และให้การทำงานใน ศธ.มีการขับเคลื่อนไปอย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าจะแก้ไขอะไรหรือจะออกพระราชบัญญัติอะไรก็อยากให้ทำครั้งเดียว ดังนั้นผมได้เรียนให้นายกฯ ทราบว่า โดยพิจารณาตามโจทย์ของรัฐบาล ซึ่งมีเรื่องการที่ปรับโครงสร้าง  การวางแผนการสร้างทรัพยากรมนุษย์ในอนาคต  ที่เกี่ยวพันกัน เป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้นควรพิจารณาให้รอบคอบไปในคราวเดียว ไม่ต้องมาปรับแก้อีกในอนาคต  การชะลอเวลาดำเนินการเรื่องนี้ออกไปอีก ก็เป็นเรื่องที่นายกฯเข้าใจ  ผมอยากให้การตรากฎหมายฉบับนี้มีความพร้อมเพื่อพัฒนาการศึกษาไทยอย่างจริงจัง”นายณัฏฐพลกล่าว

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image