อธิการบดีรามฯ หนุน น.ศ.เกียรตินิยมอันดับ 1-2 ไม่ต้องใช้หนี้ กยศ.ด้าน ปธ.ทปอ.มทร.ห่วงเหลื่อมล้ำเพิ่ม

กรณีที่พรรคภูมิใจไทย (ภท.) จะนำเสนอร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) (ฉบับที่…) พ.ศ. … เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรโดยร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มี มีสาระสำคัญ ดังนี้ มาตรา 5 กำหนดให้ผู้กู้ยืมเงินภายหลังที่สำเร็จการศึกษา อาจเลือกทำงานให้รัฐแทนการชำระกู้ยืมเงิน และให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาเป็นเงินกู้ยืมปลอดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ พ.ร.บ.นี้มีผลบังคับใช้ และมาตรา 6 กำหนดให้กรณีที่ผู้กู้ยืมสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา และได้รับผลการศึกษาในระดับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง สามารถแปลงหนี้เงินกู้เป็นทุนการศึกษาโดยไม่ต้องชำระเงินได้นั้น

เมื่อวันที่ 15 กันยายน นายวุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ม.ร.) เปิดเผยว่า การให้นักศึกษาที่ได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่งแปลงหนี้เป็นทุน และไม่ต้องชำระเงินกู้นั้น ถือเป็นนโยบายที่ดี เพราะเป็นการส่งเสริมให้นักศึกษาพยายามพัฒนาตนเองให้มีความรู้ความสามารถ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาทางด้านวิชาการ ที่จะเป็นประโยชน์สำหรับนักศึกษาที่เรียนอยู่ในปัจจุบัน ถ้าเพิ่มข้อนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาอย่างมาก แต่ขณะเดียวกันต้องหาวิธีการดำเนินงาน ที่ไม่ให้เป็นการกดดันนักศึกษามากนัก

นายวุฒิศักดิ์กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ส่วนมากกลุ่มนักศึกษาที่กู้ยืมเงินจากกองทุน กยศ.จะทำงานประจำ หรือทำงานพาร์ทไทม์ ถือว่านักศึกษากลุ่มนี้มีภาระอยู่พอสมควร ตนอยากเสนอให้นักศึกษาเหล่านี้ที่ได้รับเกียรตินิยมอันดับสอง และได้ผลการเรียนเฉลี่ยเกิน 3.50 ขึ้นไป ที่จะได้รับการแปลงหนี้เงินกู้เป็นทุนการศึกษาโดยที่ไม่ต้องชำระเงิน ถ้าทำได้ถือเป็นการขยายฐานให้กว้างขึ้น จะเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาในกลุ่มนี้มาก ที่นอกจากเดือดร้อนเรื่องการเงินแล้ว ยังมีภาระในการทำงานเพื่อหารายได้ด้วย

“ส่วนการกำหนดให้ผู้กู้ยืมหลังจากสำเร็จการศึกษา อาจเลือกทำงานให้รัฐแทนการชำระเงินกู้ได้นั้น ถือเป็นการดี เพราะปัจจุบันอัตราข้าราชการมีน้อยมาก แต่ในขณะเดียวกัน หากจะให้เฉพาะผู้ที่กู้ยืม กยศ.เข้ารับราชการ หรือทำงานให้รัฐ ต้องคิดถึงกลุ่มที่ไม่ได้กู้ยืมเงิน เพื่อความเสมอภาพกันด้วย” นายวุฒิศักดิ์ กล่าว

Advertisement

ด้านนายวิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) อีสาน ในฐานะประธานที่ประชุมมคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) กล่าวว่า การให้นักศึกษาที่ได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่งไม่ต้องชำระเงินกู้นั้น มองว่ามาตรการนี้อาจทำให้เกิดความเลื่อมล้ำทางการศึกษา เพราะหลายคนอาจมองว่าเป็นการสร้างไม่เท่าเทียมกันในสังคม ก่อให้เกิดความแบ่งแยกชนชั้นระหว่างกัน และปัจจุบันสถานประกอบการส่วนใหญ่ไม่ต้องการคนเก่งอย่างเดียว แต่ต้องการคนที่มีความรับผิดชอบ และปรับตัวเข้ากับสังคมได้ด้วย เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่นักศึกษาเหล่านี้ไม่ใช่คนที่เรียนจบเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง

นายวิโรจน์กล่าวต่อว่า การกำหนดให้ผู้กู้ยืมหลังจากสำเร็จการศึกษา อาจเลือกทำงานให้รัฐแทนการชำระเงินกู้ได้นั้น มีความเป็นไปได้ ตนเห็นด้วยในหลักการ แต่จะมีตำแหน่งรองรับให้นักศึกษาที่จบมาทั้งหมดได้หรือไม่ เชื่อว่าตำแหน่งที่ว่างอยู่อาจมีเพียง 20-30% เท่านั้น ซึ่งมีน้อยกว่าจำนวนนักศึกษาที่จบการศึกษาแน่นอน

“ส่วนการกำหนดให้เงินกู้ยืมนั้น เป็นเงินกู้ยืมปลอดดอกเบี้ย นับแต่วันที่ พ.ร.บ.นี้มีผลบังคับใช้ ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะนักศึกษาที่กู้ยืมเงินเพื่อเรียนนั้น ยังไม่มีรายได้ ต้องหาคนค้ำประกัน หากวันนี้ต้องมารับภาระเรื่องดอกเบี้ย และถ้านักศึกษารู้ว่าต้องเสียดอกเบี้ยด้วย มีโอกาสที่จะเบี้ยวหนี้สูง ถ้าไม่มีดอกเบี้ย ผมเชื่อว่าผลที่เกิดขึ้นจะเป็นทางบวกมากกว่าทางลบคือ นักศึกษาจะรับผิดชอบหนี้สินมากขึ้นกว่าเดิม” นายวิโรจน์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image