เลาะเวที ‘สมัชชาสตูล’ ระดมกึ๋นปั้นโมเดลการศึกษา

เลาะเวที ‘สมัชชาสตูล’ ระดมกึ๋นปั้นโมเดลการศึกษา

เมื่อเร็วๆ นี้ จังหวัดสตูลได้จัดงานสมัชชาการศึกษาจังหวัดสตูล ครั้งที่ 1 ภายใต้หัวข้อ “คนสตูลในศตวรรษที่ 21” ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา วิทยาเขตสตูล อ.ละงู จ.สตูล เพื่อใช้เป็นเวทีสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในพื้นที่สตูลให้เข้ามาร่วมในการจัดการศึกษา ตามความต้องการของคนสตูล หลังประกาศเป็นหนึ่งในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเมื่อปีที่ผ่านมา โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และภาคีเครือข่ายในจังหวัดสตูล

ดร.ไกรเสริม โตทับเที่ยง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งในพิธีเปิดงานสมัชชาการศึกษาจังหวัดสตูล ว่า งานนี้นอกจากจะช่วยเติมเชื้อไฟให้ตัวเองแล้ว ยังได้เห็นแนวทางของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่หลายฝ่ายร่วมกันทดลองและปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาของประเทศไทยให้ตอบโจทย์ศตวรรษที่ 21 ที่อยู่พื้นฐานคือ เด็กมีความสุขในการเรียนรู้ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการหาความรู้ของเด็กเพื่อจะพัฒนาตัวเองต่อไปในอนาคต โดยพบว่าพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูลที่ใช้โครงงานฐานวิจัย ผ่านกระบวนการเรียนการสอนนั้น สามารถพัฒนาศักยภาพของการเป็นผู้นำ และสามารถนำความรู้ความสามารถที่เป็นพื้นฐานจากการเรียนตั้งแต่ปฐมวัยไปพัฒนาตัวเองและต่อยอดได้ ซึ่งตรงกับสิ่งที่เราต้องการ เพราะปัจจุบันประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย เด็กไทยในวันนี้ในอีก 20 ปีข้างหน้า คือคนที่ต้องเข้าแบกภาระของประเทศเราไว้ จึงเป็นคำตอบว่าทำไมเราต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาปฐมวัยตั้งแต่วันนี้

ดร.ไกรเสริม โตทับเที่ยง

ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา อดีตประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าวในการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ทำไมต้องมีพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา” ว่า ปัญหาการศึกษาไทยเป็นเรื่องที่หนักหน่วง และแก้ไขได้ยาก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นที่นี่เป็นเรื่องมหัศจรรย์ ครั้งแรกที่ตนมาเยี่ยมสตูล ที่โรงเรียนอนุบาลสตูล ได้เห็น นายสุทธิ สายสุนีย์ ผู้อำนวยการโรงเรียน และ นายสมพงษ์ หลีเคราะห์ ผู้ประสานงานการวิจัยเพื่อท้องถิ่น จาก สกสว. ร่วมกันนำกระบวนการวิจัยที่ใช้ในการพัฒนาพื้นที่ มาปรับใช้กับเด็กๆ ในโรงเรียน ให้ตั้งคำถามที่อยากรู้แล้วให้นักเรียนทำวิจัยเอง หาวิธีที่จะทำให้ได้คำตอบในเรื่องที่อยากรู้ด้วยตัวเอง ซึ่ง UNESCO Global Geoparks หรืออุทยานธรณีสตูล ก็เป็นผลผลิตจากกระบวนการเรียนแบบวิจัยของที่นี่เพราะเด็กเป็นคนค้นพบ ซึ่งเกิดจากคำถามที่เขาอยากรู้เอง ว่าในอำเภอเมืองสตูลมีฟอสซิลหรือไม่ แล้วก็ใช้กระบวนการวิจัยเพื่อหาคำตอบ และเด็กสามารถอธิบายเรื่องนี้ได้อย่างเป็นธรรมชาติเพราะเขาทำจริง รู้จริง และที่น่าสนใจคือ “เด็กสนุกมาก” นี่เป็นตัวอย่างของกระบวนการศึกษาที่มีความหมายกับเด็ก

ศาตราจารย์ นพ.จรัส สุวรรณเวลา

ศ.นพ.จรัสกล่าวอีกว่า สำหรับพื้นที่นวัตกรรมการศึกษานั้น โรงเรียนนำร่องสำคัญมากที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากต้นสังกัดและมีอิสระ เพราะการศึกษาไม่สามารถสั่งจากตรงกลางอย่างเดียวแล้วใช้ทั้งประเทศได้ การศึกษาที่ดีต้องเหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่และมีกลไกขับเคลื่อนระดับจังหวัด ใช้การมีส่วนร่วมจากคนในพื้นที่เพื่อทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อเด็กจริง ๆ

Advertisement

ทั้งนี้ ในปีแรกของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูลเริ่มต้นจากโรงเรียนนำร่อง 10 แห่งที่กล้าปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนโดยใช้หลักสูตรโครงงานฐานวิจัยเป็นเครื่องมือ และในโอกาสที่ย่างก้าวสู่ปีที่ 2 จึงจัดงานนี้ขึ้นเพื่อใช้เป็นเวทีระดมความคิดเห็นเพื่อร่วมกันกำหนดคุณลักษณะของคนสตูลในศตวรรษที่ 21 และรูปแบบการศึกษาที่ตอบโจทย์ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image