กสศ. จับมือ 5 องค์กร หนุน 280 ร.ร.พื้นที่ยากลำบากยกระดับคุณภาพ

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานอนุกรรมการโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง กสศ. เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดประชุมเสวนาวิชาการ “เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง” ประเด็นการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ (Whole School Approach) โดยโครงการนี้จะช่วยให้โรงเรียนเกิดความมั่นใจในการพัฒนาตนเอง มีการพัฒนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามโรงเรียนจากการปฏิบัติงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมกับ 5 หน่วยงานเครือข่าย ได้แก่ มูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น  จะแบ่งกันทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงช่วยสนับสนุนและพัฒนาให้แก่ 280 โรงเรียน ทั้งด้านการพัฒนาระบบการบริหารจัดการโรงเรียน กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่ดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ที่ดีขึ้นของผู้เรียน ถือเป็นการทำงานที่มีคุณภาพสูง เพราะเป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาครั้งใหญ่ของประเทศ อันเป็นปณิธานสูงสุดในการดำเนินการ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ไม่เกินกำลังหากมีการรวมตัวกันเป็น Learning  space อย่างต่อเนื่อง

นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ปีการศึกษา 2562   กสศ. ดำเนินโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ในโรงเรียนขนาดกลางจำนวน 280 แห่งทั่วประเทศ ที่อยู่ในพื้นที่ชนบทยากลำบาก และยังมีสัมฤทธิผลค่อนข้างต่ำ การดำเนินงานจะเป็นการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ (Whole School Approach) ด้วยรูปแบบการทำงานแบบ Learning Space คือทำงานและเรียนรู้ไปด้วยกัน  ซึ่งจะทำให้ โรงเรียนเหล่านี้ ได้รับการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนไ โดยมีครูเป็นผู้ขับเคลื่อนสำคัญ ช่วยให้ประสิทธิภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนสูงขึ้นได้

“ผลลัพธ์ของเรื่องนี้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พัฒนาคุณภาพโรงเรียนได้ทั้งระบบยั่งยืนแล้วยังทำให้เด็กเยาวชนด้อยโอกาสในพื้นที่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างเหมาะสมและเกิดทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 หากสามารถทำเรื่องนี้ได้สำเร็จ จะเป็นจุดที่เราสามารถผลักดันเชิงระบบได้ ในปีการศึกษา 2562 จะเริ่มทำงานกับโรงเรียนขนาดกลางจำนวน 280 แห่งก่อน และขยายเพิ่มขึ้นเป็น 800 แห่ง ในปีการศึกษา 2563” ผู้จัดการ กสศ. กล่าว

ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กสศ. กล่าวว่า การพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ (Whole School Approach) จะนำมาสู่การปรับเปลี่ยนใน 2 เรื่องสำคัญคือ การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรหรือการบริหารจัดการโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนวิถีการทำงานของครูและผู้บริหารของโรงเรียนใหม่ เรื่องที่สอง การปรับเปลี่ยนในระดับชั้นเรียน ที่จะทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์กับเด็กได้จริงตามศักยภาพและสอดคล้องกับบริบทของโรงเรียน โดยโรงเรียนต้องกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ท้าทาย โครงการฯ ยังได้กำหนดกรอบการทำงานที่ครอบคลุมระบบสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพของโรงเรียน เพราะการทำงานจำเป็นต้องใช้ข้อมูลประกอบ ซึ่งทุกโรงเรียนมีการใช้ระบบสารสนเทศของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อบันทึกข้อมูลนักเรียนเป็นรายบุคคลเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่ยังขาดการนำข้อมูลมาใช้ประกอบการตัดสินใจ เช่น พฤติกรรมผู้เรียน สถานะทางครอบครัว เป็นต้น นอกจากนี้ การพัฒนาครูและผู้บริหารด้วยกระบวนการสร้างชุมชนการเรียนรู้เชิงวิชาชีพ (Professional Learning Community หรือ PLC) จะเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในลักษณะการพัฒนาวิชาชีพที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ที่ตัวผู้เรียนเป็นสำคัญ คือการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ในระดับชั้นเรียน และเพื่อความยั่งยืนโรงเรียนต้องขับเคลื่อนยกระดับคุณภาพในลักษณะเครือข่ายการทำงานระหว่างโรงเรียน พร้อมทั้งจะมีการทำงานร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ในการเข้ามาช่วยสนับสนุนโดยเฉพาะในด้านวิชาการ ซึ่งโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการหลายแห่งเป็นที่ฝึกสอนของนิสิต นักศึกษาครู เพราะฉะนั้นการเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการได้เข้ามาสัมผัสชั้นเรียนด้วยตนเอง ได้เห็นรูปแบบของกิจกรรมการจัดการเรียนการสอน ซึ่งจะสะท้อนกลับไปยังสถาบันอุดมศึกษาได้อีกด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image