‘พญานาค’ แห่งโซ่พิสัย ผลงาน น.ศ. สร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยพัฒนาชุมชน

‘พญานาค’ แห่งโซ่พิสัย ผลงาน น.ศ. สร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยพัฒนาชุมชน

สํานักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) นำโดย น.ส.วิมลลักษณ์ ชูชาติ ผู้อำนวยการ สศร. พร้อมด้วยคณะทำงานลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้ากิจกรรม “โครงการวาดบ้านแปลงเมือง” ที่พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต หมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่ อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ

โดยมี นายสุทธิพงษ์ สุริยะ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิตและนวัตกรชุมชน ให้การต้อนรับ พร้อมทั้งจัดพิธีบายศรีสู่ขวัญและมอบเกียรติบัตรให้แก่คณะทำงาน เยาวชนและคณาจารย์จาก คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จำนวน 25 คน ที่เดินทางมาวาดภาพพญานาค จำนวนกว่า 10 ภาพ ลงบนป้ายขนาดใหญ่ที่จัดเตรียมไว้ โดยใช้เวลาทั้งสิ้นราว 1 สัปดาห์จึงแล้วเสร็จ

เพื่อนำศิลปะร่วมสมัยเข้ามาปรับภูมิทัศน์ในชุมชนและภายในบริเวณพิพิธภัณฑ์ ให้มีความโดดเด่นและสอดคล้องกับวิถีชีวิต ความเชื่อและความศรัทธาในตำนานพญานาคลุ่มแม่น้ำโขงแถบจังหวัดบึงกาฬ

Advertisement

น.ส.วิมลลักษณ์เล่าว่า พญานาคในแถบลุ่มน้ำโขงอาจหมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ทางการเกษตร และความเป็นอยู่ของมนุษย์ โครงการวาดบ้านแปลงเมืองจึงเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่จะช่วยขับเคลื่อนวิถีชุมชนมีชีวิตของชาวบ้าน ให้เคลื่อนไปข้างหน้าอย่างมีอัตลักษณ์ที่สอดคล้องกับประเพณีและวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนในแถบลุ่มแม่น้ำโขง

ด้านนายสุทธิพงษ์กล่าวว่า โครงการวาดบ้านแปลงเมือง คือการนำศิลปะร่วมสมัยมารับใช้ชุมชน มีจุดเด่น คือการนำศิลปะมาเป็นจุดดึงดูดให้คนภายนอกเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในพื้นที่บ้านขี้เหล็กใหญ่ ซึ่งมีจำนวน 45 ครัวเรือน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ทำสวน และมีอาชีพเสริม เช่น ทำลูกประคบ จักสานต้นคล้า ปลาร้ากระป๋อง ยาหม่องสมุนไพร เป็นต้น โดยดำเนินการต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ความท้าทายในปีนี้จึงอยู่ที่การเปิดบ้านให้สว่าง เพื่อดึงดูดคนเมืองให้เดินทางมายังพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต

สุทธิพงษ์ สุริยะ

ในปี 2562 นี้ ทางพิพิธภัณฑ์ได้รับการสนับสนุนจาก สศร.และความร่วมมือจาก สจล. นำนักศึกษาด้านศิลปะมาวาดภาพพญานาคเพิ่มเติม ให้กับบ้านเรือนและพื้นที่สำคัญๆ ภายในชุมชน ปัจจุบันมีภาพพญานาคที่แสดงออกถึงอัตลักษณ์ของชุมชน จำนวน 52 ตน

Advertisement

โดยตั้งเป้าไว้ว่าปลายปีนี้ในช่วงเทศกาลบั้งไฟพญานาคบ้านขี้เหล็กใหญ่จะมีภาพพญานาคที่เชื่อมโยงกับวิถีการดำเนินชีวิตของคนในชุมชนให้ครบ 100 ตน เพราะพญานาค คือความศรัทธาของคนที่นี่ พญานาคก็จะบ่งบอกถึงอาชีพและนำมาซึ่งรายได้ให้กับคนในชุมชนนั้นๆ ด้วย หัวใจของการพัฒนาชุมชนให้ยั่งยืนประกอบด้วย ผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง สร้างเครือข่ายกับหน่วยงานหรือองค์กรภายนอกชุมชน และคนในชุมชนต้องรู้จักเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

น.ส.น้ำฝน สิทธิสร ชั้นปีที่ 3 คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สาขาสถาปัตยกรรม สจล.บอกว่า เพื่อนๆ ในสาขาสถาปัตยกรรม มาร่วมวาดภาพ 24 คน รับผิดชอบคนละ 3 ภาพ คอนเซ็ปต์รวมที่ได้รับมอบหมายคือ การวาดภาพพญานาคกับดอกไม้ ภาพนี้เราเลือกดอกรวงผึ้ง ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำรัชกาลที่ 10 เราทุกคนดีใจที่ได้นำความสามารถมาทำประโยชน์ให้กับชุมชน เพราะเชื่อว่าปัจจุบันนักท่องเที่ยวจะหลั่งไหลกันมาตามกระแสนิยม เมื่อภาพและเรื่องเล่าของที่นี่ถูกเผยแพร่ออกไป นักท่องเที่ยวและรายได้ก็จะไหลเวียนมาสู่ชุมชนในไม่ช้า

ขณะที่ น.ส.ปัญฑารีย์ กงแก้ว ชั้นปีที่ 3 คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สาขาสถาปัตยกรรม สจล.กล่าวว่า ประทับใจในการต้อนรับของชาวบ้าน และภูมิใจที่ได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาให้เกิดประโยชน์ และได้ฝึกฝนทักษะการวาดภาพสีน้ำมันในสถานที่จริง รู้สึกได้ถึงความแตกต่างที่พิพิธภัณฑ์เป็นแกนนำในการวาดภาพให้กับคนในชุมชน ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงคติธรรมในทางศาสนาเข้ากับวิถีชีวิต ทั้งยังช่วยส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย

น.ส.ปัญฑารีย์ กงแก้ว (ด้านขวาสุด)

อีกไม่นานภาพวาดพญานาคร่วมสมัยนับร้อยตนในอิริยาบถต่างๆ ที่อยู่ตามบ้านเรือนชุมชนโดยรอบพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต บ้านขี้เหล็กใหญ่ จะกลายเป็นสัญลักษณ์แทนการจุดบั้งไฟบวงสรวงแด่องค์พญานาค เพื่อนำพาชุมชนไปสู่วิถีแห่งการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่นำความยั่งยืนมาสู่ชุมชนในที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image