ขุดพบ แผ่นหินมีอักษรโบราณ กรมศิลป์ รุดอ่าน เผยหลักฐานใหม่ ‘ทวารวตีวิภูติ’

ขุดพบ แผ่นหินมีอักษรโบราณ กรมศิลป์ รุดอ่าน เผยหลักฐานใหม่ ‘ทวารวตีวิภูติ’

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรีเปิดเผยถึงการพบศิลาจารึกซึ่งเป็นหลักฐานใหม่จากการดำเนินโครงการอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถานวัดพระงาม ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม

ศิลาจารึกดังกล่าว ถูกพบเมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมาระหว่างการศึกษาพื้นที่ด้านทิศเหนือของเนินโบราณสถานวัดพระงาม ติดกับฐานด้านนอกของแนวอิฐที่ก่อสร้างขนานกับฐานด้านทิศเหนือของสถูป ลักษณะการพบศิลาจารึกวางตามยาวหงายด้านหน้าที่มีตัวอักษรขึ้นติดชิดกับขอบด้านนอกเกือบตรงตำแหน่งกึ่งกลางของแนวอิฐที่สร้างขนานกับฐานด้านทิศเหนือของสถูป แนวอิฐนี้สันนิษฐานว่าก่อสร้างขึ้นในระยะหลังเพื่อขยายฐานด้านทิศเหนือของสถูปให้กว้างขึ้น

สำหรับลักษณะของศิลาจารึกเป็นแท่งรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 50 เซนติเมตร ยาว 96 เซนติเมตร หนา 14.50 เซนติเมตร สภาพเกือบสมบูรณ์ พื้นผิวด้านหน้าบางส่วนแตกหลุดร่อนบริเวณส่วนขอบด้านขวาและขอบด้านล่าง พื้นผิวส่วนที่เหลือยังคงปรากฏรูปรอยอักษรเต็มพื้นผิวด้านซ้ายนอกจากนี้ยังพบส่วนที่แตกหลุดออกมาเป็นส่วนขนาดเล็กอีก 10 ชิ้น รวมทั้งส่วนที่แตกหลุดร่อนออกมาเป็นชิ้นขนาดเล็กอีกจำนวนหนึ่ง

Advertisement

นางสาวพิมพ์พรรณ ไพบูลย์หวังเจริญ นักอักษรศาสตร์ทรงคุณวุฒิ กรมศิลปากร ระบุว่าศิลาจารึกนี้เขียนด้วยอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 11-12 โดยมีข้อความบางส่วนที่สามารถอ่านได้อย่างชัดเจน กล่าวถึงคำว่า ‘ทวารวตีวิภูติ’ เป็นเบื้องต้น จึงนับว่าเป็นเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจที่สุดในจังหวัดนครปฐมในปัจจุบัน

สำนักศิลปากรที่ 2 ระบุว่า ศิลาจารึกดังกล่าวอยู่ในระหว่างรอการอนุรักษ์ทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้อ่านข้อความได้อย่างสมบูรณ์โดยล่าสุดได้เคลื่อนย้ายไปเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม

ทั้งนี้ จุดประสงค์ของโครงการอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถานวัดพระงามมีเป้าหมายงานด้านโบราณคดี งานย้ายเจดีย์บรรจุอัฐิ และงานเสริมความมั่นคง พบลักษณะโครงสร้างและองค์ประกอบของสิ่งก่อสร้างจึงสามารถสันนิษฐานในเบื้องต้นว่าเป็นสิ่งก่อสร้างประเภทสถูปสมัยทวารวดี สร้างขึ้นในผังรูปสี่เหลี่ยมยกเก็จหรือกระเปาะซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น ขนาดสถูปประมาณ กว้าง x ยาว 41.50เมตร มีรูปแบบศิลปะบางประการคล้ายคลึงกับพระประโทณเจดีย์ กลางเมืองโบราณนครปฐม นับเป็นโบราณสถานขนาดใหญ่ในสมัยทวารวดีที่มีความสำคัญอย่างยิ่งแห่งหนึ่งในประเทศไทย

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image