เจาะชีวิต อ.โบราณคดีเดินเท้า 2 ปีหาวัดร้างตามแผนที่ ร.5 “สุจิตต์” ยก สุดตรากตรำ ไม่ศรัทธา ทำไมได้

ผศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ผู้เขียนหนังสือ "วัดร้างในบางกอก" (ภาพโดยasama Eagrk)

ตกเป็นบุคคลในกระแสขึ้นมาชั่วข้ามคืน หลังคว้าสถิติยอดแชร์ถล่มทลายกว่า 1 แสนครั้ง สำหรับผศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ซึ่งเปิดเผยถึงการ “เดินเท้า” เข้าชุมชนและเรือกสวนกว่า 2 ปี เพื่อตามหาวัดวาอารามตามแผนที่โบราณสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ทว่า สูญหายจากแผนที่กรุงเทพฯในปัจจุบัน จนพบวัดร้างในซอกหลืบแห่งประวัติศาสตร์บางกอกถึงเกือบ 20 แห่ง

กระแสในโซเชียลมหาศาล ต่าง อึ้ง ทึ่ง งง ในความอุตสาหะ พร้อมๆกับเสียงฮือฮาในทำนองที่ว่า นี่คือ “ลูกบ้า” ของนักวิชาการรุ่นใหม่ที่ต้องยกย่อง และอยากทำความรู้จักอาจารย์หนุ่มให้มากยิ่งขึ้น

ประภัสสร์ ชูวิเชียร จบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนวัดนวลนรดิศ แล้วศึกษาต่อปริญญาตรี โท เอก ที่ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร บรรจุเป็นอาจารย์ประจำในภาควิชาดังกล่าวตั้งแต่ยังไม่ทันคว้าคำนำหน้าว่า “ด๊อกเตอร์”

ภาพขณะลงพื้นที่ในแหล่งโบราณคดีแห่งหนึ่ง (ภาพโดย วสุ โปษยานนท์)
ภาพขณะลงพื้นที่ในแหล่งโบราณคดีแห่งหนึ่ง (ภาพโดย วสุ โปษยะนันทน์)

นิสัยส่วนตัว เป็นคนชอบเดินทาง บุกป่าผ่าดง สำรวจโบราณสถานอย่างไม่ยี่หรี่ต่อความยากลำบาก ถึงขนาดเพื่อนพ้องในแวดวงวิชาการ อย่าง ผศ.ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง หยอดมุขตลก 3 บรรทัดว่า

Advertisement

ยุคโน้น : ลูเนต์ เดอ ลาจองกิแยร์
ต่อมา: น. ณ ปากน้ำ
ปัจจุบัน : ประภัสสร์ ชูวิเชียร

ด้วยเหตุว่า ลาจองกิแยร์ คือชาวฝรั่งเศส ผู้เดินทางท่องไปในแดนอุษาคเนย์ ในอดีต สำรวจและบันทึกโบราณสถานมากมาย ส่วน น. ณ ปากน้ำ คือปรมาจารย์ ผู้เขียนหนังสือ “ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา” นั่นเอง

ออกเดินทางกับเพื่อนนักวิชาการ จากซ้าย รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ ม.รามคำแหง, ธนกฤต ลออสุวรรณ อาจารย์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์, เชษฐ์ ติงสัณชลี อาจารย์ม.ศิลปากร และประภัสสร์ ชูวิเชียร
ออกเดินทางกับเพื่อนนักวิชาการ เข้าเขตเมืองโบราณสาคร ในทวาย เมียนมาร์ จากซ้าย รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ ม.รามคำแหง, ธนกฤต ลออสุวรรณ อาจารย์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์, เชษฐ์ ติงสัญชลี อาจารย์ม.ศิลปากร และประภัสสร์ ชูวิเชียร

ในการสำรวจแต่ละครั้ง แม้มีวิธีที่สะดวกกว่า ทว่า ประภัสสร์ เลือกใช้การเดินทางที่หลายคนโบกมือลา โดยเฉพาะ “รถไฟ ชั้น 3” แล้ว “เดินเท้า” เข้าสู่ชุมชน และซากโบราณสถาน บางครั้งก็ขอติดรถแทรกเตอร์ของชาวบ้านตามไร่มันสำปะหลัง ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณ

Advertisement

อาจารย์บอกว่า วิธีเหล่านี้ ช่วยให้มองเห็น “สภาพภูมิศาสตร์” และเส้นทางคมนาคม อันเป็นสิ่งสำคัญต่อการศึกษาด้านโบราณคดี นอกจากนี้ ยังได้กินลม พร้อมชื่นชมวิถีชีวิตอันมีสีสันของผู้คนระหว่างทาง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่ง “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น” และ “มานุษยวิทยา”

บรรยายนักศึกษาบนรถไฟชั้น 3 ระหว่างเดินทางไปปราสาทเมืองสิงห์ จ.กาญจนบุรี (ภาพโดย แทนไท นามเสน)
บนรถไฟชั้น 3 ระหว่างเดินทางไปปราสาทเมืองสิงห์ จ.กาญจนบุรี (ภาพโดย แทนไท นามเสน)

ดังนั้น ภาพของอาจารย์หนุ่มสวมเสื้อยืดกางเกงยีนส์เก่าๆ คีบรองเท้าแตะหรืออย่างดีก็ ผ้าใบ สะพายย่ามพานักศึกษาขึ้นรถไฟออกภาคสนาม จึงเป็นสิ่งคุ้นตาและคุ้นชินของลูกศิษย์ทุกรุ่นซึ่งประภัสสร์จูงมือส่งถึงเส้นชัย …ไม่ใช่แค่ความรู้หรือปริญญาบัตรประดับผนังบ้าน แต่รวมถึงวิธีคิด และอุดมการณ์อีกด้วย

ในวัยเพียง 30 กว่าๆ เมื่อประภัสสร์ คว้าตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ซึ่งเมื่อมีผู้กล่าวแสดงความยินดี อาจารย์มักกล่าวขอบใจ และตอบว่าในฐานะอาจารย์ การเผยแพร่แบ่งปันความรู้ สำคัญกว่า

เช่นเดียวกับการออกเดินเท้าเข้าสำรวจวัดร้าง โดยกางแผนที่เมื่อราว 100 ปีที่ผ่านมา เทียบเคียงกับแผนที่กรุงเทพฯ ปัจจุบัน เพื่อควานหาร่องรอยแห่งอดีตกาลที่เหลื่อมซ้อน กระทั่งพบวัดร้างซึ่งถูกหลงลืม เลือนหายจากประวัติศาสตร์กระแสหลัก รวมทั้งความทรงจำของผู้คน โดยปราศจากหมุดหมายในด้านชื่อเสียง เงินทอง ตำแหน่งทางวิชาการ

เก็บข้อมูลธรรมาสน์วัดบางยี่ขัน ซึ่งตกเป็นข่าวเมื่อ 2 ปีก่อน ว่ามีการดูแลรักษาที่ไม่เหมาะสม ประภัสสร์ ได้นำหนังสือ "ศิลปะอยุธยา" มอบแด่เจ้าอาวาสเพื่อศึกษาด้วย
เก็บข้อมูลธรรมาสน์วัดบางยี่ขัน ซึ่งตกเป็นข่าวเมื่อ 2 ปีก่อน ว่ามีการดูแลรักษาที่ไม่เหมาะสม ประภัสสร์ ได้นำหนังสือ “ศิลปะอยุธยา” มอบแด่เจ้าอาวาสเพื่อศึกษาด้วย

จากนั้น ได้เขียนบทความเกี่ยวกับวัดร้าง ตีพิมพ์ในวารสารเมืองโบราณ เพื่อเปิดเผยข้อมูลให้เกิดประโยชน์ต่อแวดวงการศึกษา ต่อมา ถูกทาบทามให้เขียนคอลัมน์ประจำในวารสารศิลปวัฒนธรรม ก่อนจะถูกรวมเล่มเป็นหนังสือชื่อ “วัดร้างในบางกอก” โดยสำนักพิมพ์มติชน ซึ่งสุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ชื่อดังด้านประวัติศาสตร์ เขียนยกย่องไว้ในคำนำเสนอของหนังสือเล่มนี้ว่า

“ประภัสสร์ ชูวิเชียร ผู้มีศรัทธาเป็นพลัง เดินทางสำรวจค้นคว้าวิจัยสม่ำเสมอตลอดปี ทั้งในหน้าที่อาจารย์ นักวิชาการ และในสำนึกของสามัญชนคนเสรี หากขาดศรัทธาก็หาพลังทำงานวิชาการอย่างนี้ไม่ได้ เพราะผลประโยชน์ตอบแทนโดยตรงไม่มี ถึงมีโดยอ้อมก็ไม่คุ้มความยากลำบาก ที่ต้องฝ่าอุปสรรคตรากตรำย่ำไปบนหนทางทุรกันดาร ทั้งในภูมิประเทศและในใจคน”

นี่เป็นเพียงเศษเสี้ยวประวัติศาสตร์ชีวิตของนักวิชาการผู้ทุ่มเท ไม่เพียงในบทบาทของ “ครู” หากรวมถึงความเป็นคนธรรมดาที่เห็นคุณค่าในมรดกวัฒนธรรมของมนุษยชาติ

วัดร้างในบางกอก ผลงานจากการสำรวจค้นคว้าโดยประภัสสร์ ชูวิเชียร
วัดร้างในบางกอก ผลงานจากการสำรวจค้นคว้าโดยประภัสสร์ ชูวิเชียร

 

อ่านคัมภัร์ใบลาน (ภาพโดย ธนโชติ เกียรติณภัทร)
อ่านคัมภัร์ใบลาน (ภาพโดย ธนโชติ เกียรติณภัทร)
พาลงพื้นที่ตามแหล่งโบราณสถาน (ภาพโดยPrangtip Uc )
พาลงพื้นที่ตามแหล่งโบราณสถาน (ภาพโดยPrangtip Uc )
ถ่ายภาพร่วมกับลูกศิษย์ ที่สำเร็จการศึกษา (ภาพโดย Poohwanart Narin)
ถ่ายภาพร่วมกับลูกศิษย์คณะโบราณคดี ที่สำเร็จการศึกษา (ภาพโดย Poohwanart Narin)

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image