รมว.ศธ.เอาจริงยกระดับครู ‘สพฐ.-อาชีวะ’ ประเมินวิทยฐานะแม่พิมพ์ต้องรู้ ‘อังกฤษ’

เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม นายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อทำงานในฐานะรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ปัญหาที่ให้ความสำคัญอันดับแรกๆ คือเรื่องครู ทั้งปัญหาขวัญกำลังใจครู ทักษะการสอน หลักสูตร การพัฒนาครู การเข้าสู่ตำแหน่งวิทยฐานะ ซึ่งตนเห็นว่าทักษะที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ ทักษะทางภาษา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้หารือกับนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่ากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ว่า ศธ.ต้องการครูที่มีทักษะด้านภาษาอังกฤษที่สูงกว่าปัจจุบัน มั่นใจว่าการเรียน 4 ปีในมหาวิทยาลัย สามารถบ่มเพาะครูที่มีทักษะภาษาอังกฤษได้ หากบัณฑิตที่จบมาไม่มีทักษะภาษาอังกฤษอย่างที่ ศธ.ต้องการ คงไม่สามารถเข้าสู่ระบบครู ศธ.ได้ เพราะภาษาอังกฤษจะเป็นส่วนช่วยให้ค้นคว้าข้อมูลในระบบอินเตอร์เน็ตจากทั่วโลกได้

“ส่วนครูที่อยู่ในระบบปัจจุบัน ผมให้เวลา 3 ปี ให้ครูพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ ไม่จำเป็นต้องใช้ได้ดี แต่ให้สื่อสารได้ในระดับหนึ่ง เพื่อจะค้นคว้าหาความรู้ และถ่ายทอดความรู้ให้กับเด็กได้ โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าสู่วิทยฐานะของครู” นายณัฏฐพล กล่าว

นายณัฏฐพลกล่าวอีกว่า ในระดับอาชีวศึกษา ต้องฉีดยาแรงให้ เพราะสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จำเป็นต้องเร่งผลิตกำลงคนให้ตรงกับความต้องการของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยต้องเสริมทักษะภาษาอังกฤษให้กับครู เพื่อสอนนักเรียนนักศึกษา เพราะเด็กที่จบมาต้องทำงานกับชาวต่างชาติ ส่วนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ส่งเสริมการเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่เด็ก เมื่อมีพื้นฐานดี จะลดปัญหาเมื่อเข้าสู่ระดับมหาวิทยาลัย

ด้านนายณรงค์ แผ้วพลสง รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า เรื่องการฉีดยาแรงให้กับ สอศ.นั้น นายณัฏฐพลเพิ่งให้โจทย์กับตน จึงยังไม่มีรายละเอียดแผนการดำเนินการ คาดว่าภายในสัปดาห์หน้า จะเรียกผู้บริหารของ สอศ.เข้ามาประชุมเพื่อวางแผนการดำเนินงานที่ต้องขับเคลื่อนตามที่รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ให้โจทย์ และให้นโยบายเร่งด่วนต่อไป โดยจะร่วมกันวางแผนในระยะสั้นว่าภายใน 1-2 เดือน สอศ.จะขับเคลื่อนงานอะไรที่ทำให้เห็นเป็นรูปธรรมบ้าง

Advertisement

“ส่วนการฉีดยาแรงของ สอศ.นั้น ไม่ได้หมายถึง สอศ.เจ็บป่วย แต่หมายถึงเดิมอาจทำแบบปกติ เรื่อยๆ แต่เมื่อเป็นยาแรงแล้ว ต้องเร่งรัด ทำทันที ต้องลงมือได้แล้ว เช่น ภาษาอังกฤษ ที่ทุกคนทราบดีว่ามันเป็นปัญหา ต้องเร่งลงมือพัฒนาในส่วนนี้ นอกจากนี้ ในการประชุมผู้บริหาร ของสอศ.นั้น ผมจะหารือในประเด็นของอาชีวะเอกชนด้วย จากการรับฟังปัญหาจากตัวแทนของอาชีวะเอกชน ส่วนใหญ่สะท้อนถึงปัญหาความรู้สึกไม่เท่าเทียมกันระหว่างอาชีวะรัฐ และเอกชน เช่น การจัดสรรงบอุดหนุนต่างๆ” นายณรงค์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image