เมื่อ ‘โรงเรียน’ ทำให้ “นักเรียนไม่เอาใจใส่การเรียน”

ความตั้งใจ ความเอาใจใส่การเรียนของนักเรียนวันนี้ ด้อยลงกว่าแต่ก่อนอย่างต่อเนื่อง เมื่อสัก 20 ปีที่แล้ว นักเรียนทั้งห้องมีไม่ตั้งใจเรียนราว 4-5 คน วันนี้ทั้งห้องตั้งใจเรียนจริงๆ 4-5 คนเท่านั้น ไม่ได้เป็นข้อมูลการวิจัยใดๆ แต่จากประสบการณ์ครูกว่า 30 ปีที่ผ่านมาของตัวเอง

สาเหตุที่ทำให้นักเรียนตั้งใจเรียนลดลงมีมากมาย หลักๆ น่าจะเป็นความก้าวหน้าของสื่อ และเทคโนโลยี สังคมออนไลน์ ดูหนัง ฟังเพลง เกิดสังคมก้มหน้า สมาธิ ความสนใจ จดจ่ออยู่กับการแชท เกม หรืออะไรต่างๆ มากมาย ซึ่งน่าสนใจกว่า ทีวีมีแต่การประกวดประชัน ร้องเพลง ความงาม เกมโชว์ ทอลค์โชว์ ที่เน้นเพียงฮา หรือสัปดน ละคร นิยาย ความหรูหราฟุ้งเฟ้อของตัวละคร โดยไม่ต้องทำงาน ไม่ต้องผ่านความยากลำบาก หรือไม่ต้องพยายามในเรื่องเรียน

โรงเรียนมักพูดว่า เด็กขาดความพร้อมในครอบครัว อาจเพราะพ่อแม่แยกทางกัน อยู่กับปู่ย่าตายาย พี่ป้าน้าอา หรือใครก็ไม่รู้อุปถัมภ์ไว้ รายได้ผู้ปกครองต่ำ ไม่สามารถอบรม เป็นตัวอย่าง หรือสร้างแรงบันดาลใจให้กับบุตรหลานได้ เพราะขาดเวลา ขาดความรู้ โรงเรียนเรารับนักเรียนทุกประเภทอยู่แล้ว ไม่สามารถเลือกที่มีความพร้อม หรือเรียนเก่งๆ เหมือนกับโรงเรียนอื่น จึงเป็นความธรรมดาที่ส่วนใหญ่จะขาดความเอาใจใส่ต่อการเรียน หมุดหมายในชีวิตเขายังพร่าเลือน หรืออาจไม่มีเลย แล้วจะไปหาความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังกับเขาได้ที่ไหน

ไม่ว่าจะกล่าวถึงสาเหตุใด คงไม่มีใครปฏิเสธ แต่ ณ ที่นี้ ใคร่ขอนำเสนอเฉพาะสาเหตุเล็กๆ ที่ผลกระทบไม่เล็กบางประการ ซึ่งเกิดขึ้นที่โรงเรียน โรงเรียนสามารถแก้ไขได้เอง ไม่ต้องรอความพร้อมหรือปัจจัยอื่นๆ ขอเพียงเข้าใจ และตระหนัก

Advertisement

1.บรรยากาศในการเรียน
กิจกรรมมากมาย ทั้งจากการดำเนินการของโรงเรียนเอง หรือจากหน่วยงานภายนอก ซึ่งระยะหลังนี้ ต่างเข้ามามีบทบาท หรือมีส่วนร่วมกับโรงเรียนอย่างหลากหลาย อันที่จริงทั้งโรงเรียน และหน่วยงานภายนอกล้วนปรารถนาดีด้วยกันทั้งสิ้น แต่อาจหลงลืมผลกระทบสำคัญ ประการหนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เด็กๆ ไม่ได้เรียน เรียนๆ หยุดๆ ไม่ต่อเนื่อง นอกจากเบียดบังเวลาเรียน ยังทำให้เสียบรรยากาศการเรียนด้วย ถ้าเด็กต้องเรียนๆ หยุดๆ กลับมาเรียนใหม่ครั้งใด ความอยากเรียนจะลดน้อยถอยลงจนครูสังเกตได้ สีหน้า แววตา อารมณ์ที่ว่างเปล่า กว่าที่ครูจะกระตุ้นให้กลับมาใหม่อีกครั้ง ต้องใช้เวลา

โรงเรียนต้องบริหารจัดการเรื่องเหล่านี้ มีครั้งหนึ่งถึงกับมีข้อเสนอแนะจากระดับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เลยทีเดียว อาทิ ควรพิจารณากิจกรรมใดไม่สอดคล้องกับหลักสูตรนัก หรือไม่ค่อยเกี่ยว ก็ให้ลดลงบ้าง ส่วนกิจกรรมตามแผนปฏิบัติการของโรงเรียนเอง ควรต้องตั้งวงพูดคุย หรือปรึกษาหารือ (Professional Learning Community , PLC) ร่วมคิดร่วมแก้ปัญหา อาทิ อาจรวมกิจกรรมคล้าย หรือมีจุดประสงค์เดียวกันเข้าด้วยกัน ทำเสียคราวเดียวอย่างนี้ เป็นต้น

2.จ้างทำการบ้าน ลอกการบ้าน หรือลอกข้อสอบ
หัวใจการศึกษาอยู่ที่โรงเรียน หัวใจโรงเรียนอยู่ที่การเรียนการสอน การที่ครูยอมให้เด็กๆ จ้างทำการบ้านมาส่ง ลอกการบ้าน หรือแม้แต่ลอกข้อสอบกันได้ โดยทำแค่ว่ากล่าวตักเตือน บ่น ขณะยังคงให้คะแนนนักเรียนเหล่านั้นได้อย่างหน้าตาเฉย อาจเพราะความรัก เมตตา เอ็นดู หรือให้โอกาส ฯลฯ ไม่ว่าจะด้วยอะไรก็ตาม แต่การเรียนการสอนในห้องจะหมดความหมายไปในทันที ตั้งใจเรียนทำไม ไม่รู้ก็ลอกได้ ข้อสอบยังลอกได้เลย ไม่เห็นต้องตั้งใจ เกรดที่ได้ไม่ต่างกัน

Advertisement

โรงเรียนต้องไม่ยอมในเรื่องเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการบ้าน หรือข้อสอบ ควรถือเป็นเรื่องสำคัญ อย่าคิดผิวเผินเห็นเป็นเรื่องเล็ก เพราะผลกระทบใหญ่หลวง แค่มองมุมเดียวว่าเป็นเหตุทำให้ไม่ตั้งใจเรียนก็หนักหนาสาหัสแล้ว ยิ่งถ้าปล่อยให้อนาคตของชาติคุ้นชินกับวิธีผิดๆ หรือการคดโกงเช่นนี้ ปัญหาคอร์รัปชั่นที่ต่างกังวลกันไม่ลุกลามบานปลายใหญ่ดอกหรือ

3.แก้ 0 ง่ายกว่าการเรียนปกติ
ถ้าเชื่อว่าการวัดประเมินผลเป็นร้อยละของหลักสูตรสมัยก่อน รวมทุกวิชาไม่ถึง 50% ต้องสอบตกซ้ำชั้น ทำให้นักเรียนเอาใจใส่การเรียนมากกว่าหลักสูตรปัจจุบันซึ่งเป็นเกรด (GPA) ตกวิชาใดแก้ไขวิชานั้น หมายถึงติด 0 ก็แก้ 0 โดยไม่ต้องซ้ำชั้น ถ้าเชื่ออย่างนั้นแล้ว การสอบแก้ตัวได้ ผนวกเข้ากับแก้ง่ายกว่าการเรียนในชั้นปกติเสียอีก ยิ่งจะสร้างความไม่เอาใจใส่ให้กับนักเรียนเพิ่มขึ้นใช่หรือไม่
ครั้งหนึ่งได้ยินความคิดนักเรียน ซึ่งน่าเป็นห่วง “แก้ 0 เอาดีกว่า ง่ายกว่าเรียน” หากโรงเรียนปล่อยให้การสอบแก้ตัว หรือเรียนซ้ำง่ายกว่าการเรียนปกติ เชื่อได้เลยความไม่ตั้งใจเรียนของนักเรียนทวีจำนวนไม่หยุดแน่ จะขยันเรียนไปทำไม แก้ 0 ง่ายกว่าเยอะ โรงเรียนจึงต้องเน้นการสอบแก้ตัว ให้ไม่ง่ายกว่าการเรียนในชั้น มิเช่นนั้นจะกลายเป็นดาบสองคม ย้อนมาทำร้ายเด็กๆ อย่างคาดไม่ถึง

4.เพิ่มเกรด หรือแก้ 0 ก่อนติด 0
หมายถึง สิ้นภาคเรียน หรือหลังสอบปลายภาค ก่อนที่ครูผู้สอนจะรวบรวมคะแนนทั้งหมด เพื่อตัดสินผลการเรียน โรงเรียนเปิดโอกาสให้นักเรียนที่ไม่พอใจคะแนน หรือเกรดที่กำลังจะออก สามารถเพิ่มคะแนนของตัวเองได้ ด้วยการปรึกษา หรือตกลงกับครูผู้สอนว่าจะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง จึงจะได้คะแนน หรือเกรดเพิ่ม

อีกกรณีหนึ่งซึ่งส่งผลกระทบไม่ต่างก็คือ นักเรียนที่คาดว่าจะติด 0 หมายถึง คะแนนรวมตลอดภาคเรียนไม่ถึง 50% เช่นเดียวกัน โรงเรียนเปิดโอกาสให้เพิ่มคะแนน ด้วยการตกลงกับครูผู้สอนว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้คะแนนผ่านเกณฑ์ร้อยละ 50% ไม่ติด 0 ตามหลักสูตร
ทั้งการเพิ่มเกรด หรือแก้ 0 ก่อนติด 0 ได้ ทำให้การเรียนการสอนในชั้นเรียนลดความสำคัญลง นักเรียนที่มุ่งมั่น จะมุ่งมั่นน้อยลง นักเรียนที่ไม่ตั้งใจ จะยิ่งไม่ตั้งใจขึ้น เพราะยังมีเวลาแก้ตัวได้อีกหลังสอบปลายภาค การสอบคัดเลือก หรือการประเมินที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้าของพวกเขา หลายอย่างใช้เกรดเป็นเกณฑ์ ดังนั้น จะเป็นธรรมอย่างไร ในเมื่อคะแนนน้อยก็เพิ่มได้ ตกก็เพิ่มได้ เกรดเฟ้อที่สังคมเคยวิพากษ์ยังคงอยู่

ถ้าครูไม่รักเมตตาศิษย์มากกว่าเหตุ และผล โรงเรียนไม่รักษาหน้าตาจนละเลยผลกระทบที่สำคัญ โดยเฉพาะความไม่เอาใจใส่ต่อการเรียนที่จะเกิดขึ้นกับเด็กๆ การบริหารจัดการเรื่องเหล่านี้ไม่ยากเลย

โดยสรุปสาเหตุที่ทำให้นักเรียนไม่ตั้งใจ หรือไม่เอาใจใส่ต่อการเรียน วันนี้มีมากกว่าแต่ก่อนนานัปการ ไม่ว่าจะเป็นสื่อเทคโนโลยี สังคมออนไลน์ แชท เกม ทีวี หรือความพร้อมของครอบครัว

สำหรับมุมมองของโรงเรียน ด้วยบทบาทหน้าที่หลักในการจัดการศึกษาให้กับลูกหลาน เด็กๆ หรือเยาวชน เมื่อรู้ว่าเหตุต่างๆ มีล้นเหลืออยู่แล้ว ที่จะทำให้นักเรียนไม่ตั้งใจ หรือไม่เอาใจใส่ต่อการเรียน ฉะนั้น โรงเรียนต้องไม่เพิ่มเหตุเข้าไปอีก ควรพิจารณาตัวเองก่อน โดยไม่ละเลยเหตุเล็กๆ แต่ผลกระทบไม่เล็กเหล่านั้น

ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศในการเรียน การลอกการบ้าน ลอกข้อสอบ หรือการแก้ 0 รวมถึง การเพิ่มเกรด เพราะเป็นเหตุจากการดำเนินงานของโรงเรียนเอง สามารถแก้ไขได้เอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image