กศจ.แจ้งบัญชีครู ผช.พอบรรจุปี 62 ‘อำนาจ’ ชี้ สพฐ.แจงไม่มีสิทธิเปิดสอบตามใจชอบ

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม นายอำนาจ วิชยานุวัติ รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยกรณีมีกระแสข่าวว่าในปีการศึกษา 2562 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะไม่จัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย เนื่องจากรายชื่อคงค้างในบัญชีจากปีก่อน ยังมีมากพอจะทยอยเรียกบรรจุได้ถึงปีการศึกษา 2563 เท่ากับนิสิตนักศึกษาที่เรียนจบหลักสูตรครุศาสตร์ และศึกษาศาสตร์ ในปีการศึกษา 2562 และปีการศึกษา 2563 ส่อโดนลอยแพ และต้องไปสอบบรรจุในปีการศึกษา 2564 พร้อมกัน ซึ่งจะทำให้มีบัณฑิตที่จบหลักสูตรครุศาสตร์ และศึกษาศาสตร์ ตกค้างกว่า 100,000 คน ขณะที่มหาวิทยาลัยเรียกร้องให้ สพฐ.ชี้แจง เนื่องจากยังมีอัตราเกษียณอายุราชการที่ได้รับคืนจากคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) เหลืออีกกว่า 2.6 หมื่นอัตรา ว่า สพฐ.ไม่สามารถเปิดสอบครูผู้ช่วยได้ตามใจ จะเปิดสอบได้ต่อเมื่อมีอัตราว่าง ซึ่งปีนี้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) แจ้งว่ายังมีบัญชีค้างอยู่เพียงพอที่จะเรียกบรรจุได้ตามอัตราที่ได้รับการจัดสรร ส่วนปีการศึกษา 2563 จะเปิดสอบครูผู้ช่วยหรือไม่นั้น สพฐ.ไม่สามารถบอกได้ ขึ้นอยู่กับ กศจ.แจ้งว่ายังมีบัญชีคงค้างอยู่หรือไม่

“ทุกปีจะแจ้งอัตราว่างให้มหาวิทยาลัยรับทราบ กรณีที่มหาวิทยาลัยผลิตเกินนั้น สพฐ.คงตอบไม่ได้ เพราะ สพฐ.ไม่สามารถเปิดสอบครูผู้ช่วยได้ตามอำเภอใจ ขึ้นอยู่กับอัตราว่าง และความต้องการของแต่ละ กศจ.ซึ่งแต่ละปีจำนวนผู้สอบผ่านขึ้นบัญชีจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของข้อสอบ โดยปีการศึกษา 2561 มีผู้สอบขึ้นบัญชีได้ถึง 20% ถือว่าค่อนข้างมาก ดังนั้น กศจ.ต้องเร่งบรรจุผู้ที่ขึ้นบัญชีไว้ก่อน” นายอำนาจ กล่าว

นายอำนาจกล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถาน สังกัด สพฐ.ทั้งตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน และรองผู้อำนวยการโรงเรียนนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ. ) ที่มีนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณาร่างหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้อำนวยการโรงเรียน และรองผู้อำนวยการโรงเรียน โดยเกณฑ์ดังกล่าวจะต้องคัดเลือกผู้บริหารที่มีความสามารถตรงกับการเรียนการสอน และการทำงานในศตวรรษที่ 21

นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า เรื่องนี้ อว.ต้องหารือกับ สพฐ.ในฐานะผู้ใช้ผลผลิต อนาคตมหาวิทยาลัยจะต้องผลิตครูตามความต้องการที่แท้จริง โดยจะเน้นการผลิตในระบบปิดตามโครงการต่างๆ เช่น โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งมีอัตรารองรับแน่นอน ส่วนที่กังวลว่าปัญหาที่ สพฐ.ไม่เปิดสอบครูผู้ช่วยปีนี้ เป็นเพราะแยกระดับอุดมศึกษาออกจาก ศธ.ทำให้การทำงานไม่เชื่อมโยงกันนั้น ยืนยันว่าไม่จริง แม้จะแยกระดับอุดมศึกษาออกจาก ศธ.แต่การทำงานยังหารือ และพูดคุยกันได้ ไม่มีปัญหา

Advertisement

“นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการ อว.ให้ความสำคัญกับการผลิตครู เพราะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาการศึกษา และได้ย้ำกับสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย ให้วิจัย และผลิตครู ที่ตรงกับความต้องการ และมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการเรียนการสอนในปัจจุบันอย่างแท้จริง” นพ.สรนิต กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image