สพฐ.เดินหน้าลดเหลื่อมล้ำพัฒนา ‘ครู-ร.ร.’ ดีเดย์288แห่ง

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม นายอัมพร พินะสา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)  เปิดเผยภายหลังการประชุม เรื่อง “ยกระดับคุณภาพโรงเรียน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ”  กับผู้แทนกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา ภายใต้โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง  ว่า การขจัดความเหลื่อมล้ำเป็นนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงศึกษาธิการ  สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากคุณภาพหรือมาตรฐานของสถานศึกษา รวมถึงคุณภาพและประสิทธิภาพครู ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียนโดยตรง สพฐ. และกสศ. จึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาครูและโรงเรียน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโรงเรียนประถมศึกษา และมัธยมศึกษาขนาดกลางสังกัด สพฐ. ในชนบทที่มีเด็กและเยาวชนซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส และผู้ด้อยโอกาสอยู่หนาแน่น ให้เป็นโรงเรียนที่สามารถพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง

“กลุ่มเป้าหมายสำคัญของโครงการนี้ ได้แก่ กลุ่มโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาขนาดกลางที่มีศักยภาพจะเป็นโรงเรียนแกนนำของชุมชนที่สำคัญคือ ผู้บริหารและครูมีความพร้อมในการพัฒนาด้วยความสมัครใจ ซึ่งหากโรงเรียนแกนนำเหล่านี้ได้รับการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนได้ทั้งระบบโรงเรียน โดยมีครูเป็นผู้ขับเคลื่อนที่สำคัญจะส่งผลให้ประสิทธิภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนสูงขึ้นได้ โดยในอนาคตจะบูรณาการกับโรงเรียนคุณภาพประจำตำบลทั่วประเทศของทาง สพฐ. ระยะยาวโครงการนี้จะทำให้เกิดโมเดลสำหรับการปฏิรูปคุณภาพสถานศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ขอให้ทุกโรงเรียน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับ กสศ. และภาคีเครือข่าย ในการพัฒนาครูและโรงเรียนตามแนวทางของโครงการฯ” นายอัมพร กล่าว

นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า  หัวใจสำคัญของโครงการนี้ต้องเริ่มต้นจากผู้บริหารและครูผู้สอน มีความเชื่อว่าเราสามารถพัฒนาตนเองและโรงเรียนได้ การทำงานในปีแรกจะมีโรงเรียนขนาดกลางที่ผู้บริหารและครูผู้สอนสมัครใจ และตั้งใจเข้าร่วมจำนวน 288 แห่งในพื้นที่ 35 จังหวัด ทุกภูมิภาค ครอบคลุมครูกว่า 5,700 คน การพัฒนาแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ระดับชั้นเรียนและระดับโรงเรียน เน้นกระบวนการสร้างให้นักเรียนเป็นคนรุ่นใหม่ที่ทันต่อโลกในศตวรรษที่ 21 โดยการทำงานจะไม่หยุดอยู่แค่ห้องเรียนห้องเดียว แต่ต้องทำทั้งโรงเรียน เป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้กับองค์กร ด้วยการใช้พลังร่วมของครูและบุคลากรทุกคนในโรงเรียนพัฒนาการเรียนการสอนที่มุ่งเปลี่ยนแปลงกระบวนการคิดของนักเรียน คาดว่าเมื่อร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา กสศ.จะสามารถขยายพื้นที่เป้าหมายการทำงานสนับสนุนนโยบายโรงเรียนคุณภาพประจำตำบลของ สพฐ.ต่อไป ขณะเดียวกันกสศ.ยังสนับสนุนให้ทั้ง 288 โรงเรียนทำงานร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยใกล้พื้นที่จำนวน 10 สถาบัน  เพื่อวิจัยและพัฒนากระบวนการเรียนการสอน/หลักสูตรที่สอดคล้องกับบริบทท้องถิ่น  สนับสนุนให้องค์กรที่มีประสบการณ์ด้านการศึกษาระดับแถวหน้าของประเทศไทย 5 เครือข่าย ได้แก่ 1.มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี 2.สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น 3.มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 4.มูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา และ5.มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม ร่วมเป็นโค้ช สนับสนุนเทคนิคการบริหารจัดการและวิชาการ ต่อยอดจากประสบการณ์ทำงานของแต่ละองค์กรเพื่อให้ทั้ง 288 โรงเรียนเกิดการพัฒนาขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image