กมธ. 2 สภาฯถกปฏิรูปการศึกษาชี้แก้โครงสร้างศธ.ไม่ต้องยุบใคร

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม นายตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การศึกษา วุฒิสภา  เปิดเผยว่า ตามที่กลุ่มผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ผู้อำนวยการโรงเรียน และบุคลากรทางการศึกษา แต่งชุดดำ ยื่นหนังสือถึง กมธ. การศึกษา วุฒิสภาและ สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)  คัดค้านร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติพ.ศ.. และการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นั้นเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ที่ผ่านมาหลังรับข้อเรียกร้องจากกลุ่มดังกล่าว ทางกมธ.การศึกษาและกีฬา สภาผู้แทนฯ ได้มีการและหรือทิศทางการปฏิรูปการศึกษา และเชิญกมธ.การศึกษา วุฒิสภา เข้าร่วม ซึ่งทั้ง 2 สภาฯ เห็นตรงกันว่า  การจัดการศึกษาควรการกระอำนาจให้โรงเรียน ทั้งเรื่องการบริหารจัดการ งบประมาณ และวิชาการ อีกทั้งควรปรับหลักสูตรการเรียนการสอน จากเดิม เรียน 4 ช่วงชั้น 8 กลุ่มสาระ ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และแผนการศึกษาแห่งชาติ ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ขณะเดียวกันจะต้องปฏิรูปอาชีวศึกษา ส่งเสริมการสร้างงาน สร้างรายได้ โดยไม่ยึดติดกับใบปริญญา

นายตวง กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องโครงสร้างศึกษาธิการจังหวัด และสพท. ที่กลุ่มครู ผู้บริหารการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษา มีความกังวลนั้น  ต้องยอมรับว่า การทำงานของศธจ. และสพท. มีความซ้ำซ้อน ทั้งภาระงาน อำนาจการบังคับบัญชา ทำให้สายงานการบริหารงานบุคคล ยาวขึ้น เกิดปัญหา ซึ่งการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ ต้องเน้นการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง สามารถปรับแก้ได้ในร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติพ.ศ…  โดรระบุไว้ในมาตรา 3 ของพ.ร.บ. ให้มีการยกเลิก คำสั่ง หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 16/2560 เรื่อง การบริหารงานบุคคลและบุคลากรทางการศึกษา คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ แล้วตั้งคณะกรรมการการศึกษาจังหวัด  คณะกรรมการยุทธศาสตร์จังหวัด ในการดูแลบูรณาการการจัดการศึกษาภายในจังหวัด รวมถึงดูแลงานลูกเสือ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างความรัก ความสามัคคี และคืนอำนาจการบรรจุแต่งตั้ง โยกย้าย บุคลากรทางการศึกษาให้ผู้บังคับบัญชาตามมาตรา 53 ของพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฯ เพราะเป็นเจ้าของเรื่องโดยตรง สามารถทำเนินการได้เร็ว

“ในส่วนของการแก้ไขร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่นั้น  ขณะนี้ยังไม่เข้ามาถึงชั้นกมธ.การศึกษา  เท่าที่ทราบอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ จากนั้นจึงจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ และเข้าสู่ขั้นตอนกมธ. ในช่วงนั้น ยังสามารถปรับแก้ร่างกฎหมาย ให้เหมาะสมได้   ไม่อยากให้เพื่อนครูกังวล การแก้ปัญหาเรื่องนี้ ไม่จำเป็นต้องยุบศธจ.หรือสพท. เพียงแต่ปรับการทำงาน เพราะตามจริงแล้ว ศธจ. และกศจ. เป็นชื่อตำแหน่ง ไม่ใช่ชื่อหน่วยงาน ซึ่งก่อนที่จะมีการปรับโครงสร้างการบริหารงานในส่วนภูมิภาคมาเป็นรูปแบบนี้ ผมเองก็เคนทักท้วงมาแล้ว” นายตวงกล่าว  และว่า เร็ว ๆ นี้กมธ. การศึกษา วุฒิสภา จะเชิญนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในเรื่องดังกล่าว ว่า อะไรสามารถปรับปรุงได้บ้าง เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษา  เกิดประโยชน์และเห็นผลที่ตัวเด็กอย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image